![]() |
|
Home | หลักสูตร | กิจกรรมประจำวัน | ติวสาธิตครูจอย | Contact | English Version | School Blog |
เตรียมเจ้าตัวเล็กก่อนเข้า อ.1 | |
เตรียมเจ้าตัวเล็กก่อนเข้า อ.1
การเตรียมความพร้อมลูกก่อนเข้าอนุบาล สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ตอบว่าพร้อม แสดงว่าได้เตรียมตัวลูกมาอย่างดี คุณแม่มือโปรเหล่านี้ใช้วิธีอะไรบ้าง มาดูกันดีกว่า โฆษณาประชาสัมพันธ์ เด็กๆ ชอบเรื่องสนุก ถ้ากระตุ้นให้ลูกรู้สึกว่าการไปโรงเรียนนั้นน่าสนุกเช่นเดียวกับการไปเที่ยวสวนสัตว์ ร้านขายของเล่น หรือไปเที่ยวทะเล เขาก็จะซึมซับรับความรู้สึกนี้เอาไว้แล้วเกิดความอยากไปโรงเรียน เล่าให้เขาฟังว่ามีอะไรแปลกใหม่น่าตื่นตาตื่นใจบ้าง ชุดนักเรียน เครื่องเขียน คุณครูใจดี เพื่อนๆ มากมาย โรงเรียนน่ารัก ฯลฯ พาทัวร์โรงเรียน หลังจากโฆษณาปูพื้นไว้พอสมควรแล้ว แผนการขั้นต่อไปคือให้ลูกได้พบเห็นของจริง อาจเริ่มจากขับรถผ่านหน้าโรงเรียนก่อนว่าเดี๋ยวต่อไปหนูต้องมาเรียนที่นี่ วันหลังค่อยพาลูกเข้าไปดูภายในโรงเรียนว่าบรรยากาศเป็นอย่างไรลูกอาจติดอกติดใจในสนามเด็กเล่นหรือห้องเรียน แวะเวียนพาไปทำความรู้จักกับคุณครูบ้างจะได้คุ้นเคยกันไว้ก่อน บอกลูกว่าต้องทำอะไรบ้าง เมื่อคุณแม่ได้ซักถามคุณครูแล้ว เล่าให้ลูกฟังด้วยว่าเมื่ออยู่ในโรงเรียนลูกต้องทำอะไรอย่างไร เช่น ไปถึงโรงเรียนแล้วเริ่มทำอะไร ทานข้าวกลางวันกันอย่างไร เข้าห้องน้ำที่ไหน ได้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง ฯลฯ เมื่อลูกรับรู้คร่าวๆ ว่าต้องพบเจอกับอะไรบ้าง จะช่วยลดความกลัวให้เขาได้ อย่ารีบทิ้งกันวันแรก ถึงลูกจะคุ้นเคยกับโรงเรียนอยู่บ้างแล้ว วันแรกที่พาไปก็อย่ารีบร้อนปล่อยลูกไว้กับคุณครู ในวันแรกบางโรงเรียนก็อาจให้อยู่เป็นเพื่อนลูกก่อน วันต่อๆ มาค่อยลดเวลาลง จนลูกอยู่โรงเรียนโดยคุณพ่อคุณแม่มาส่งเช้าแล้วตอนเย็นค่อยมารับกลับ และต้องมารับให้ตรงเวลาด้วย ปลอบลูกอย่าร้องไห้ คุณแม่ต้องแสดงให้ลูกรู้ว่าเห็นอกเห็นใจและเข้าใจเขา ค่อยๆ พูดจาให้กำลังใจกัน อย่าแสดงท่าว่าจะร้องไห้เสียเองเวลาไปส่งลูก ที่ไม่ควรทำเลยก็คือไปนั่งเฝ้าลูกทุกวันหรือให้หยุดตามใจชอบ ยิ่งปกป้องหรือตามใจมากลูกจะยิ่งอ่อนแอ เด็กๆ ส่วนใหญ่พอผ่านไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก็จะหยุดร้องไปเอง แต่ถ้าลูกดูแปลกไป มีพฤติกรรมถดถอยเหมือนเป็นเด็กเล็ก ก้าวร้าว งอแงมาก หรือ ซึมเศร้า นานเป็นเดือนๆ อาจต้องขอคำปรึกษาจากคุณหมอ วันเปิดเทอมแรกของชีวิต คือวันแรกที่เด็กๆ ต้องจากอ้อมอกพ่อแม่ เพื่อก้าวสู่สังคมใหม่ ความกลัว ความกังวลใจ และความไม่ไว้วางใจในโลกใหม่ของเด็กๆ ย่อมเกิดขึ้น เด็กหลายคนร้องไห้โยเย บางคนแม้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองจะเตรียมการมาอย่างดีแล้ว แต่เมื่อเห็นเด็กคนอื่นๆ ร้องไห้ อารมณ์หวาดกลัวจึงเกิดขึ้นและเริ่มร้องไห้ตาม วันเปิดเทอมในโรงเรียนอนุบาลคือวันที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูต้องรับศึกหนัก รวมถึงตัวเด็กๆ เอง อาจารย์พัฒนา ชัชพงศ์ อาจารย์สาขาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า เราต้องเห็นใจพ่อแม่ผู้ปกครองและตัวเด็ก เพราะพ่อแม่บางคนไม่เคยให้เด็กไปไหนนาน เด็กอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองมาตลอด เด็กเองก็ไม่เคยไปไหน การที่ต้องไปโรงเรียนวันแรก ซึ่งถือเป็นสถานที่แปลกใหม่ เจอคนใหม่ๆ เพื่อนใหม่ ของเล่นใหม่ๆ ทุกอย่างใหม่หมด เด็กจึงต้องการเวลาปรับตัว ดังนั้น ในวันแรกๆ เขาจะมีความกังวลใจ กลัวสารพัด กลัวพ่อแม่ทิ้ง และยิ่งพ่อแม่บางคนชอบขู่ว่าถ้าเด็กดื้อไม่เชื่อฟังจะเอาไปส่งโรงเรียน เมื่อคำพูดเหล่านั้นออกมาจากปากพ่อแม่ เด็กจะหวาดผวากลัวว่าพ่อแม่จะเอามาทิ้ง เนื่องจากถ้าเขาทำตัวไม่ดีเป็นเด็กดื้อเขาจะถูกส่งมาโรงเรียน เด็กรับรู้ว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เขาต้องโดนทำโทษ เขาจึงกลัวและไม่อยากไปโรงเรียน การที่พ่อแม่จะพูดถึงโรงเรียนควรใช้คำพูดในทางที่ดีๆ เช่น โรง เรียนมีแต่เรื่องสนุกสนาน มีครูเล่านิทานให้ฟัง มีเพื่อนใหม่ๆ มีของเล่นที่บ้านเราไม่มี พ่อกับแม่ยังอยากไปโรงเรียนเลย คำพูดลักษณะดีๆ เช่นนี้จะทำให้เด็กอยากไปโรงเรียนและเริ่มคล้อยตามคำของพ่อแม่ อาจารย์งามนิตย์ พงศ์กฤษณุรักษ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอนุบาลวัฒนาสาธิต กล่าวว่า "การที่เด็กร้องไห้เพราะการไปโรงเรียนวันแรกนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แสดงถึงการปรับตัวที่ดี" การร้องไห้ถือเป็นการระบายความรู้สึกที่อัดอั้นออกมา เด็กจะร้องไห้ไม่เกิน 6 สัปดาห์ แต่ถ้าร้องไห้มากกว่า 6 สัปดาห์ คุณครูและผู้ปกครองต้องมาคุยกันว่าเป็นเพราะอะไร พ่อแม่ชอบขู่เรื่องโรงเรียนหรือไม่ หรือพ่อแม่เอาใจมากเกินไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ที่โรงเรียนจะมีวิธีการเพื่อรับมือกับเด็กๆ ที่ต้องมาโรงเรียนเป็นครั้งแรกอยู่แล้ว ทางโรงเรียนอนุญาตให้ผู้ปกครองทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในช่วงก่อนเข้าแถว จากนั้นให้มารับเด็กกลับบ้านไปได้เมื่อเด็ก ๆ เสร็จกิจกรรมครึ่งวันเช้า เป็นการค่อยๆ ให้เขาเริ่มปรับตัวกับสถานที่ใหม่ ให้เขารู้จักพื้นที่ใหม่ๆ ของโรงเรียน ส่วนครูเองก็ต้องตั้งรับให้ดี หากิจกรรมอย่างเช่นการเล่านิทานซึ่งถือ ว่าได้ผลอย่างดีเยี่ยม เด็กจะฟัง แต่อีกสักพักเด็กบางคนอาจจะร้องไห้อีก กิจกรรมก็อาจจะเปลี่ยนไป เช่น ครูอาจชวนไปเล่นของเล่น ไปเดินดูดอกไม้ เดินดูสถานที่รอบๆ โรงเรียน ดูรูปภาพ ดูห้องต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ คุ้นชินกับสถานที่ให้เร็วที่สุด สำหรับพี่ ๆ ที่ต้องเปลี่ยนชั้นเรียน หรือเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ก็ยังพบว่ามีการร้องไห้เหมือนกัน ปัญหาที่พบบ่อยๆ นอกจากการร้องไห้ของเด็กๆ แล้วยังพบว่าเขาจะไม่ยอมกินข้าว แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล คุณครูจะหานมหรืออาหารที่กินง่ายๆ ให้เขาดื่มหรือรับประทานรองท้องก่อนกลับบ้าน แม่บางคนกังวลใจอย่างหนักเมื่อเห็นลูกร้องไห้หรือแสดงอาการโยเย การที่แม่มีความใกล้ชิดกับลูกมาก ย่อมแสดงอาการกังวลมากเมื่อลูกต้องไปโรงเรียนวันแรก เปลี่ยนชั้นเรียนใหม่หรือเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ สิ่งที่แม่ห่วงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องลูกจะกินอาหารได้หรือไม่ ครูจะดูแลลูกได้ใกล้ชิดหรือไม่ เวลาเด็กปวดท้อง จะเข้าห้องน้ำใครจะช่วยเด็ก เพื่อนจะแกล้งหรือไม่ สารพัดที่แม่กังวลและเป็นห่วง ในเรื่องนี้ อยากบอกกับผู้เป็นแม่ทุกคนว่าในเมื่อเราเป็นคนตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้กับลูก ก็ต้องไว้วางใจโรงเรียน และต้องเชื่อมั่นในโรงเรียน สำหรับสัดส่วนจำนวนครูที่ต้องดูแลเด็ก สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ว่า เด็กอายุ 2 ขวบหรืออยู่ในระดับเนิร์สเซอรี่ ครู 1 คนต่อเด็ก 7 คน เด็กวัย 2-3 ขวบ ครู 1 คนต่อเด็ก 12 คน วัยอนุบาล 1-3 ครู 1 คนต่อเด็ก 15 คน โดยต้องมีนักการภารโรงและพี่เลี้ยงมาคอยช่วยครู ด้วย ซึ่งทางวัฒนาสาธิตก็จัดสัดส่วนคุณครูตามอัตราส่วนตามกำหนด คือ ระดับเนิร์สเซอรี่ ครู 1 คนต่อเด็ก 5 คน และมีครูไทยประจำห้อง ช่วยเสริมกิจกรรมของครูต่างชาติ วัยอนุบาล 1-3 ครู 1 คนต่อเด็ก 15 คน ทั้งนี้ไม่อยากให้แม่กังวลมากเกินไปเพราะ อาจเครียดได้ การที่เด็กต้องไปโรงเรียนเขาต้องเรียนรู้กฎระเบียบและวิธีการใช้ชีวิต การช่วยเหลือตนเอง อย่างเช่นการกินข้าว ต้องฝึกกินข้าวด้วยตัวเอง ที่โรงเรียนไม่มีใครป้อนอาหารให้เหมือนที่บ้าน เด็กๆ ทุกคนต้องกินข้าวเอง พ่อแม่ต้องเข้าใจและต้องช่วยสนับสนุนทางโรงเรียน ให้เด็กรู้จักช่วยตนเองให้มากที่สุด แม้ว่าเด็กจะอยู่ที่บ้านพ่อแม่ก็ไม่ควรตามใจหรือป้อนข้าวให้ แต่ควรฝึกและใช้คำชม พูดจากับเด็กด้วยคำพูดที่ดีๆ ชมเชย ให้กำลังใจ เมื่อลูกกินข้าวเองก็บอกว่าเก่งมากลูก เดี๋ยวแม่จะไปเล่าให้ครูฟังว่าหนูเก่งกินอยู่ที่บ้านก็กินข้าวเองได้ ไม่ต้องมีใครป้อนอีกแล้ว หรือการที่ให้ลูกแต่งตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องฝึกให้เขาช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด นอกจากนี้ อยากฝากถึงพ่อแม่ทุกคนว่าในบริบทโรงเรียนและบริบทที่บ้านมีความแตกต่าง กัน พ่อแม่เองต้องเข้าใจ แม้ว่าโรงเรียนจะพยายามทำโรงเรียนให้คล้ายกับบ้านมากที่สุดแล้วก็ตาม เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนมีความอบอุ่นใจที่ได้ก้าวเข้ามาสู่อ้อมอกของโรงเรียน เป็นธรรมดาที่ลูกไม่อยากแยกจากพ่อแม่ แต่นี่คือก้าวย่างสำคัญที่ลูกจะออกไปสู่สังคมภายนอกแห่งแรกเพื่อเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ในโลกกว้าง โดยมีคนที่รักเขาคอยประคับประคองให้ก้าวไปด้วยความมั่นใจ
| |
ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2010-04-07 21:40:44 IP : 124.120.94.124 |
[1] |
ความคิดเห็นที่ 1 (2331284) | |||
คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังกังวลกับวันเปิดเทอมใหม่ของลูกน้อยวัยอนุบาล มาฟัง Tips เตรียมตัวลูกน้อยก่อนเข้าสู่รั้วโรงเรียนทางนี้เลยค่ะ
จากใจกูรู ของเปลี่ยนข้อความท้ายบทความเป็น
| |||
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2013-01-31 18:13:26 IP : 115.87.66.25 |
ความคิดเห็นที่ 2 (3764695) | |
เล่นสนุก เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว กับชาววัฒนาสาธิต
เด็กช่วงอายุ 2+ ผู้ปกครองสามารถใช้ของเล่นในชีวิตประจำวันสอนรูปทรงให้กับลูกที่กำลังเริ่มหัดพูดทุกวันได้นะคะ แจกฟรีแบบฝึกหัด ดาวน์โหลดได้ตาม Link ที่ให้
| |
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2015-01-28 00:39:37 IP : 171.96.185.171 |
[1] |
Copyright © 2010 All Rights Reserved. |
![]() |
Visitors : 675233 |