ReadyPlanet.com


ลูกเล็ก ๆ ให้เล่นอะไรดี ... มหัศจรรย์ของเล่นจากสิ่งแวดล้อม
avatar
Admin


มหัศจรรย์ของเล่น...จากสิ่งแวดล้อม

 

 

โดย: เพียงขวัญ

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น วชิรพยาบาล

 

 

ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเล่นเป็นสิ่งสำคัญของเด็กๆ ทำให้พัฒนการในหลายๆ ด้านก้าวรุดหน้า

แต่ทราบไหมคะ? ว่าทุกสิ่งรอบตัวลูก ล้วนเป็นของเล่นชิ้นยอดได้

 

ลูกเล่นเป็นตั้งแต่ขวบแรก

ลูกขวบแรกก็เริ่มมีพัฒนาการด้านสังคมแล้วนะคะ แต่ยังไม่มากนัก เช่น พอเริ่มมองหน้าหรือสบตาคนอื่นได้ เขาจะมองหน้าหรือยิ้มให้แม่ ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านหนึ่งของการเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น

หลังจากนั้น จะเริ่มมีพัฒนาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มเรียนรู้จากการเล่นกับตัวเองก่อนค่ะ เช่น

 

วัย 3-4 เดือน จะเริ่มใช้มือสำรวจสิ่งต่างๆ บนร่างกายของตัวเอง เริ่มเล่นกับตัวเอง เช่น เอามือมาอม เอาเท้ามาอม หรือเอามือลูบคลำไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น ต่อมาลูกก็จะเริ่มสำรวจสิ่งต่างๆ ที่ไกลจากตัวออกไปเรื่อยๆ ค่ะ

กระบวนการที่ลูกได้เริ่มเล่นกับตัวเอง จะทำให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว และค่อยๆ มีพัฒนาทางสังคม ทำให้ลูกได้เรียนรู้การใช้ชีวิตและการเล่นกับคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเขาโตขึ้นค่ะ

 

วัย 4-5 เดือน เริ่มหยิบจับข้าวของต่างๆ ที่สามารถเอื้อมมือถึง รวมทั้งมีพัฒนาการทางด้านร่างกายมากขึ้น สามารถเอาสิ่งที่ต้องการมาเรียนรู้ได้ เช่น หยิบของใกล้ตัวมาอม เคาะ เขย่า เมื่อเริ่มปาได้ก็จะเริ่มขว้างปาสิ่งของ เป็นต้น

วัยใกล้ 1 ขวบ เริ่มโต้ตอบกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูได้อย่างมีความหมาย คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรละเลยการเล่นกับลูก อาจเป็นการร้องเพลงแล้วเต้นไปกับลูก นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาแล้ว ยังช่วยเรื่องการทรงตัว และช่วยให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องจังหวะอีกด้วย

 

ให้ลูกเล่นอะไรดี?

การนำสิ่งของที่อยู่แวดล้อมตัวมาเล่นกับลูก เป็นการพัฒนาให้ลูกเป็นคนช่างสังเกต ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวด้วยค่ะ

หากยังคิดไม่ออกว่าจะให้ลูกเล่นอะไรและเล่นอย่างไร มีวิธีง่ายๆ มาฝากค่ะ

หนูช้อบชอบของกลมๆ ในช่วงเดือนแรกลูกจะชอบของที่มีลักษณะกลมๆ คล้ายหน้าคน จะทำให้ลูกรู้สึกว่าน่าเล่น น่าสนใจ และสิ่งที่ดีที่สุดก็คือใบหน้าคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ

 

แค่เพียงยื่นหน้าเข้าไปใกล้ๆ ใบหน้าของลูก ในระยะที่ลูกมองเห็นคือ 8-12 นิ้วฟุต ส่งเสียงพูดคุย แล้วเล่นกับเขาโดยขยับหน้าไปมา ลูกก็จะมองตามหน้าคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

 

มากอดกันเถอะ เป็นการเล่นแสนง่ายใกล้ตัวที่ไม่ควรพลาด เพราะการที่ลูกได้รับการโอบกอดจากพ่อแม่ แม้อยู่ในวัยเบบี้ลูกก็สามารถสัมผัสได้ถึงความรักที่พ่อแม่มอบให้

 

เสื้อผ้าน่าเล่น ใช่ค่ะ...เสื้อผ้าของคุณพ่อคุณแม่นี่แหละ เป็นอีกหนึ่งของเล่นสำหรับลูกได้ เพราะลูกจะได้สัมผัสและเรียนรู้ความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผิวสัมผัสหรือสีสัน เช่น คุณแม่ใส่เสื้อผ้าไหมพรมก็จะมีความแตกต่างกับผ้าฝ้าย หรือผ้าฝ้ายทอมือกับผ้าใยสังเคราะห์ก็มีความแตกต่างกัน เป็นต้น

 

เพลินเล่นผ้าห่ม ผ้าห่มเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีลักษณะพื้นผิวที่ต่างกันค่ะ เช่น ผ้าห่มที่เป็นผ้าขนหนู กับผ้าขนสัตว์ก็มีความต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่นำมาเล่นกับลูกแล้วชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างได้ค่ะ

 

หมอนหรรษา หมอนในบ้านนั้นมีหลายขนาด หลากรูปทรง ต่างสีสัน และหลากหลายผิวสัมผัส ที่ลูกจะได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างเหล่านั้น

 

ขวดน้ำแสนสนุก ควรใช้ขวดพลาสติกที่มีขนาดไม่เล็กมากเกินไป อาจจะเป็นขวดที่ตัวขวดและฝาขวดมีสีต่างกัน เช่น ตัวขวดเป็นสีขาว ฝาสีชมพู ให้ลูกได้จับ ได้สัมผัส และเรียนรู้ว่ามีความแข็ง หรือสอนให้รู้ถึงความแตกต่างของสี เป็นต้น แม้ลูกจะยังไม่รู้ว่า นี่เรียกว่าสีชมพูหรือขาว แต่ก็เป็นการสอนเพื่อให้ลูกได้รู้จักสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้นค่ะ

 

เล่นเป็นเรียน...จาก(ตัว)หนังสือ เมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านหนังสือกับลูก โดยไม่จำเป็นต้องอ่านจากหนังสือเท่านั้น เช่น หากที่ข้างขวดฉลากติดอยู่ ก็ควรอ่านให้ลูกฟัง หากตัวหนังสือมีขนาดใหญ่โตเห็นชัดเจน ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ลูกมีความสนใจเรื่องการอ่านมากขึ้นค่ะ

 

เวลาที่คุณพ่อคุณแม่อ่านให้ลูกฟังจะชี้จากด้านซ้ายไปขวา ลูกจะเริ่มเรียนรู้กระบวนการอ่านของผู้ใหญ่ ที่อ่านจากซ้ายไปขวา แม้ว่าเขาจะยังอ่านไม่ได้แต่เขาจะค่อยเรียนรู้จากการสังเกตค่ะ

 

แม้ว่าทุกสิ่งรอบตัวลูกจะนำมาเป็นของเล่นได้ แต่ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับพัฒนาการและความสามารถของลูกด้วยนะคะ เพราะจะช่วยเรื่องการรับรู้และการตอบสนองต่อวิธีเล่นและของเล่นชิ้นนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ลูกเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี เพราะหากเป็นของเล่นที่ง่ายหรือยากเกินความสามารถของลูก จะทำให้ลูกเกิดความเบื่อหน่าย และไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ค่ะ

 

สิ่งแวดล้อม เล่นได้แต่ต้องระวังด้วย

แม้สิ่งต่างๆ รอบตัวจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เล่นกับลูกได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องระวังที่จะนำมาเล่นกับลูกด้วยค่ะ คือจะต้องมีความปลอดภัย ไม่ใช่ของที่มีคม หรือแตกหักง่าย รวมถึงที่มีขนาดเล็กเกินไป เพราะหากหลุดเข้าไปในปากหรือจมูกลูก ก็อาจเข้าไปอุดหลอดลมเป็นอันตรายต่อลูกได้

รวมถึงที่เป็นพลาสติก ลูกโป่ง หรือที่มีขนาดใหญ่ที่สามารถหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ ได้ ก็เป็นอันตรายต่อลูกเช่นกันค่ะ

 

ก่อนควักกระเป๋าซื้อของเล่นชิ้นต่อไปให้ลูก ลองสำรวจสิ่งของรอบๆ ตัวกันก่อนดีไหมคะ เพราะสิ่งนั้นอาจกลายเป็นของเล่นแสนสนุกเสริมพัฒนาการให้ลูกได้ค่ะ

 
จาก: นิตยสารรักลูก
Credit : รักลูก

จาก: นิตยสารรักลูก


ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2012-11-12 22:13:23 IP : 58.11.251.170


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.