ReadyPlanet.com


อ่านหนังสือ กับเล่านิทาน...แตกต่างกันอย่างไร
avatar
Admin


อ่านหนังสือ กับเล่านิทาน...แตกต่างกันอย่างไร

                มีคนแนะนำให้ใช้นิทานกับลูกบ่อยๆ เลยอยากทราบว่า การอ่านหนังสือนิทานกับเล่านิทานให้ลูกฟัง มีความแตกต่างกันอย่างไร และส่งผลต่อเด็กแตกต่างกันอย่างไรบ้าง มีเคล็ดลับแนะนำพ่อแม่อย่างไรบ้างคะ

           
เราดูกันที่ลักษณะภายนอกก่อน ระหว่างการอ่านหนังสือ กับการเล่านิทาน
                การอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้นเป็นการอ่านตามตัวอักษรที่เราเห็นอยู่บนหน้า หนังสือ หมายถึงคุณพ่อคุณแม่อ่านทุกคำ ทุกประโยค ไม่เว้น ไม่ข้าม ไม่แต่งเติมข้อความ หรือแต่งเรื่องเพิ่มเข้าไป หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วแบบนี้ลูกจะสนุกหรือเปล่า ลูกจะชอบหรือเปล่า ส่วนนี้เรามีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ค่ะสำหรับการอ่านหนังสือให้ลูกสนุก เรียกว่าเป็นการอ่านหนังสืออย่างมีชีวิตชีวา ไม่ใช่การอ่านไปเรื่อยๆ ด้วยน้ำเสียงเรียบเนือย แบบนั้นลูกไม่สนุกแน่นอนค่ะ

                ส่วนการเล่านิทาน เราจะพูดกันเฉพาะการเล่าด้วยหนังสือนะคะ เพราะความจริงการเล่านิทานมีหลากหลายวิธีหรือใช้สื่อได้หลายชนิด เช่น เล่าด้วยนิ้วมือ หุ่นนิ้วมือ หุ่นมือ เล่าด้วยเชือก การแสดงละคร เป็นต้น

                การเล่านิทานด้วยหนังสือเป็นการใช้หนังสือประกอบการเล่าเรื่องเพื่อให้ลูก ได้เห็นภาพ คุณพ่อคุณแม่เล่าด้วยภาษาของตัวเอง หลังจากที่อ่านเรื่องกระทั่งจดจำเหตุการณ์ได้แล้วก็เปิดหนังสือเล่าเรื่องไป ลูกก็ฟังและดูภาพไปด้วย การเล่านิทานด้วยหนังสือแบบนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีความสามารถในการบรรยาย ภาพ หรือการสร้างบรรยากาศให้เรื่องราวได้ดี เพื่อให้เด็กได้ติดตามอย่างสนุกสนาน ซึ่งข้อนี้อาจจะเป็นข้อจำกัดบ้างสำหรับคุณพ่อคุณแม่บางคน ส่วนการเล่านิทานปากเปล่าเป็นวิธีที่ยากขึ้นไปอีกหน่อย เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่มีอุปกรณ์เสริมใดๆ จึงจำเป็นจะต้อง บรรยายบุคลิก ลักษณะของตัวละคร ต้องบรรยายฉากอย่างละเอียด เพื่อให้ลูกได้จินตนาการตามได้ วิธีเล่านิทานปากเปล่าแบบนี้เหมาะสำหรับลูกที่โตสักหน่อย คือประมาณ ๔ ขวบขึ้นไป เพราะลูกวัยนี้สามารถคิดเป็นภาพเองได้บ้างแล้ว

                 การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง (อยากให้คุณพ่อคุณแม่เลือกใช้วิธีนี้ให้มาก) ที่พูดไปแล้วว่าคือการอ่านตามตัวอักษร จะช่วยให้ลูกได้เริ่มเรียนรู้วิธีการอ่านหนังสือ จึงเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด เพราะวิธีนี้ลูกจะได้เห็นตัวอักษร เห็นคำ เห็นการทำงานของตัวอักษร ซึ่งจะช่วยลูกได้มากเมื่อเขาโตถึงวัยเข้าโรงเรียนและเริ่มเรียนเขียน-อ่าน เพราะเขาคุ้นเคยกับเส้นที่ขดไปขดมาแล้ว และรู้ด้วยว่าเจ้าเส้นพวกนี้มีไว้อ่าน เมื่ออ่านเป็นก็จะรู้เรื่อง เข้าใจและสนุก นอกจากนั้น ภาษาที่ใช้ในหนังสือส่วนใหญ่เป็นภาษาเขียน ซึ่งแตกต่างจากภาษาพูดหรือภาษาปาก
                ภาษาเขียนจะมีความสละสลวยกว่า มีท่วงทำนองที่งดงามมากกว่า มีความหลากหลายกว่า การอ่านหนังสือให้ลูกฟังจึงเป็นการให้โอกาสลูกได้ฟังภาษาในระดับที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่น ประโยคในหนังสือเขียนว่า “ตะวันลับฟ้าไปนานแล้ว” หากเป็นภาษาปาก เราก็มักจะเล่าว่า “พระอาทิตย์ตกไปตั้งนานแล้ว” ประโยคหลังนี้เป็นประโยคที่เด็กๆ ได้ยินบ่อยๆ จากผู้ใหญ่อยู่แล้ว ต่างจากประโยคแรก “ตะวันลับฟ้าไปนานแล้ว” ที่ลูกจะได้ยิน ได้รู้จักก็ต่อเมื่ออ่านจากหนังสือเท่านั้น ในชีวิตประจำวันเขาแทบไม่มีโอกาสได้ยินเพราะเรามักไม่พูดด้วยภาษาระดับนี้ อันนี้เป็นข้อได้เปรียบของการอ่านหนังสือ (ดี) ให้ลูกฟัง

                ข้อดีของการอ่านให้ลูกฟังอีกอย่างก็คือ ลูกจะได้ฟังประโยคเดิมทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อ่าน ฟังกี่รอบกี่รอบคุณพ่อคุณแม่ก็อ่านคำเดิม เช่นเดียวกับที่ลูกก็ได้เห็นตัวหนังสือเหมือนเดิม จึงทำให้ลูกรู้จักเชื่อมโยงคำหรือประโยคที่ได้ยินเข้ากับตัวหนังสือที่มอง เห็น อันนี้จะเป็นผลดีมากๆ เมื่อลูกเข้าโรงเรียน  เพราะเขามีต้นทุนคือทักษะทางภาษาติดตัวมาจากที่บ้าน ซึ่งการเล่านิทาน เด็กๆ ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน แต่ประสบการณ์ด้านภาษาชั้นวรรณกรรม หรือประสบการณ์ทางตัวอักษรจะน้อยกว่า

                  สำหรับหนังสือภาพ นิทานที่มีเรื่องยาวๆ และมีความสลับซับซ้อนมากๆ มีตัวหนังสือเยอะๆ แบบนี้จะเหมาะสำหรับการนำมาเล่ามากกว่าอ่านให้ลูกฟังค่ะ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหามากๆ ให้ลูกฟัง ควรเลือกอ่านวันละหน้าสองหน้า หรือช่วงเวลาละนิดละหน่อย เนื่องจากเรื่องราวที่ยืดยาว มีอุปมาอุปมัยมากเกินไป จะทำให้ลูกเบื่อได้ง่ายหากต้องนั่งฟังนานๆ เพราะคิดตามเรื่องไม่ทัน เนื่องจากประสบการณ์ยังน้อย แต่ก็อาจจะมีข้อยกเว้นบ้างสำหรับเด็กที่มีประสบการณ์การฟังนิทานในครอบครัว มาตั้งแต่เกิด และได้ฟังทุกวันๆ

การอ่านหนังสือ และการเล่านิทานให้ผลต่อเด็กต่างกันอย่างไร 
                ทั้งการเล่า นิทานและการอ่านหนังสือ ล้วนเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาทักษะของลูกทั้งสิ้น แต่มีความแตกต่างกันที่วิธีการและรายละเอียด ฉะนั้น ผลดีที่ลูกได้รับจึงมีความต่างกันในรายละเอียด เช่น ลูกที่คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ฟังสม่ำเสมอ จะเห็นว่าลูกๆ มีทักษะในการเขียนดี และมักจะใช้คำศัพท์ยากๆ ชอบทำท่าอ่านหนังสือเลียนแบบวิธีการอ่านตามคุณพ่อคุณแม่ บางคนสามารถเขียนตัวอักษรได้ถูกต้องตั้งแต่ยังไม่รู้ความหมาย
                ส่วนเด็กๆ ที่ได้ฟังนิทานปากเปล่า หรือฟังคุณพ่อคุณแม่เล่านิทานจากหนังสือมาตลอด มักจะพูดคุยเก่ง ชอบสื่อสารกับผู้อื่น เป็นนักเล่าเรื่อง ใช้ภาษาพูดอย่างลื่นไหล มีทักษะในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
                อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ทั้งสองวิธี เมื่ออ่านหนังสือให้ลูกฟังไปนานๆ ควรเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นการเล่าบ้าง แต่ยังอยากคุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาอ่านหนังสือลูกฟังมากหน่อย เพราะลูกจะได้ประโยชน์ดังที่ที่พูดถึงไปแล้ว
               
เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่
                ปกติการเล่า นิทาน หรือการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เป็นกิจกรรมง่ายๆ แต่ทว่ามีคุณภาพมาก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไปนะคะ มีเคล็ดลับง่ายๆ สำหรับการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง สิ่งแรก ต้องเลือกหนังสือที่คุณพ่อคุณแม่อ่านแล้วรู้สึกสนุกก่อน เพราะเราจะต้องเป็นคนอ่านให้ลูกฟังอีกที ถ้าหากเราไม่สนุกแล้วลูกจะสนุกได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นหนังสือที่เหมาะกับลูกของเราด้วยนะคะ
                ทีนี้มาขั้นถึงตอนการอ่าน ก็ให้อ่านตามตัวอักษร เพียงแต่มีการเว้นวรรค เน้นเสียงหนัก-เบา หรืออ่านเร็ว-ช้า เสียงสูง-ต่ำตามอารมณ์ของเรื่อง ต่างกับการอ่านแบบดัดเสียงนะคะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อ่านดัดเสียง เด็กๆ ส่วนใหญ่จะชอบแต่เขาจะตั้งใจฟังว่า ตอนนี้จะทำเสียงอย่างไร ต่อไปจะทำเสียงอย่างไร จนกระทั่งทำให้ลูกขาดความสนใจหนังสือหรือเรื่องราว เพราะมัวแต่คอยฟังคุณพ่อคุณแม่ดัดเสียง เราสามารถอ่านแบบดัดเสียงได้บ้างเพื่อความบันเทิง แต่ไม่ใช่ทุกครั้งไป
                หากเป็นการเล่านิทาน เคล็ดลับมีอย่างเดียวคือ ต้องแน่ใจว่าเราเป็นคนเล่าเรื่องสนุก ซึ่งส่วนใหญ่เวลาคุณพ่อคุณแม่อยู่กับลูกๆ ก็จะสนุกสนานอยู่แล้ว และควรจะให้ลูกได้มีโอกาสร่วมเล่าเรื่องไปกับเราด้วย โดยการถาม หรือให้ลูกได้ลองคาดเดา หรือลองทายว่า ต่อไปจะเป็นอย่างไร ลูกคิดว่าถ้าเป็นหนูจะทำอย่างไร ซึ่งการอ่านหนังสือให้ลูกฟังก็เช่นเดียวกัน ก่อนจะเปิดหน้าต่อไป ควรให้ลูกๆ มีโอกาสคาดเดาเรื่องราว หรือมีส่วนร่วมในการอ่านด้วย
                คุณพ่อคุณแม่ควรถือว่า ช่วงเวลาของการเล่านิทาน หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นช่วงเวลาทองสำหรับการพัฒนาลูกรักของเรา อย่าลืมว่าเด็กๆ นั้นต้องการเวลาจากคุณพ่อคุณแม่เพียงชั่วไม่กี่ปีเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วเขาจะเติบโตและมีโลกของตัวเอง
                ในวันที่ลูกยังเล็กและต้องการให้เราเข้าไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการอันสดใส ร่วมกับเขา...คุณพ่อคุณแม่อย่าปล่อยโอกาสนี้ให้ผ่านไปดังขอนไม้ลอยน้ำ เพราะมันจะไม่มีวันหวนกลับมาอีกเลย


บทความจาก คุณแต้ว- รพีพรรณ  พัฒนาเวช
นักเล่านิทาน และบรรณาธิการหนังสือเด็ก


ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2011-12-17 22:12:19 IP : 110.169.247.251


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.