ReadyPlanet.com


MQ Delivery คุณธรรมร้อนๆ..มาแล้วจ้า !
avatar
kru gib


MQ Delivery คุณธรรมร้อนๆ..มาแล้วจ้า !

 โดย กองบรรณาธิการนิตยสารรักลูก
คำถามคือ เราจะเลี้ยงลูกในท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว สังคมที่ซับซ้อน และผู้คนที่สับสนวุ่นวายนี้ ให้รอดได้อย่างไร

++ ก.เลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่ง ++ ข.เลี้ยงลูกให้มีความสุข

++ ค.เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ++ ง.ถูกทุกข้อ

ถ้าการเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพ ง่ายเหมือนกาข้อสอบสักข้อแบบนี้ก็คงดี ?

แต่เพราะชีวิตไม่ใช่เรื่องสำเร็จรูป และการเลี้ยงลูกก็ไม่ใช่ 1+1 = 2 เราจึงต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองกันก่อนว่า เราอยากจะเลี้ยงลูกไปในทิศทางไหน และตั้งเป้าความสำเร็จของลูกไว้อย่างไร

ถ้าเป็นคนรุ่นก่อน เป้าหมายในการเลี้ยงลูกจะอยู่ที่การส่งเสริมให้ลูกมี IQ (Intelligent Quotient) หรือสติปัญญาดี แต่พอมารุ่นเรา คนที่มีสติปัญญาดีอย่างเดียวไม่พอเสียแล้ว ยังต้องมี EQ (Emotional Quatient) หรือความฉลาดทางอารมณ์ควบคู่กันไปด้วย

และเมื่อถึงรุ่น (เราเลี้ยง) ลูก แค่ IQ หรือ EQ ดี ก็ไม่พอเสียแล้วค่ะ เพราะตัวอย่างบุคคลที่ทั้งเก่ง ฉลาด มีไหวพริบดี แถมยังร่ำรวย อย่างนักการเมืองที่เห็นๆ กันอยู่นั้น พบว่าทำให้ชาติบ้านเมืองเอียงกระเท่เร่ไม่น้อย ดังนั้นจึงต้องมี MQ (Moral Quotient) หรือ ความฉลาดทางจริยธรรมเข้ามากำกับอีกแรง ลูกถึงจะสามารถอยู่ในสังคมที่แสนสับสนวุ่นวายนี้ได้อย่างมีความสุข และเป็นคนดีด้วย ที่สำคัญไม่ตกเป็นเหยื่อของความไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงดังที่เป็นข่าวทุกวันนี้

10 เหตุผลควรปลูกความดีงามให้ลูก

เหตุผลที่เราต้องปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกก็เพราะ...

เราต่างไม่อยากได้ลูกที่เก่งแต่เห็นแก่ตัว

เราต่างไม่อยากได้ลูกที่อกตัญญูไม่รู้บุญคุณคน

เราต่างไม่อยากได้ลูกที่สุรุ่ยสุร่าย

เราต่างไม่อยากได้ลูกที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ

เราต่างไม่อยากได้ลูกที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ

เราต่างไม่อยากได้ลูกที่เติบโตเป็นฆาตกรในอนาคต

เราต่างไม่อยากได้ลูกที่เติบโตเป็นนักการเมืองแต่คอรัปชั่น

เราต่างไม่อยากให้ลูกเป็นหมอที่เก่งแต่ไร้จรรยาบรรณ

แต่...เราต่างอยากได้ลูกที่ ดี

และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้เราต้องหันมาใส่ใจกับเรื่องของ ความดีงาม กันค่ะ

ดร.โรเบิร์ต โคลส์ จิตแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ได้แยกเรื่องคุณธรรมออกมาจากเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ชัดๆ เพราะเขาพบว่าถ้าเด็กขาดคุณธรรมแล้วจะทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัวและไม่มีความสุขในชีวิต

โคลส์บอกว่า การเลี้ยงลูกให้มีคุณธรรมไม่สามารถฝึกฝนหรือขัดเกลาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เป็นเรื่องที่ต้องฝึกมาแต่เด็ก อย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถพัฒนาพื้นฐาน MQ ของตัวเองขึ้นมาให้ฝังลึกลงไปในจิตใจของเขา และรอเวลาที่จะได้รับการกระตุ้นอีกครั้ง โดยการอบรมสั่งสอน การฟังธรรม และวิธีอื่นๆ แต่ถ้าคนนั้นไม่มี MQ อยู่ในจิตสำนึกดั้งเดิมแล้ว ไม่ว่าโตขึ้นจะได้รับการกระตุ้นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้คนนั้นกลายเป็นคนดีขึ้นมาได้มากนัก

สิ่งที่โคลส์บอกเราคือ ถ้าเราไม่อยากได้ลูกที่เติบโตเป็นคนเก่งที่เห็นแก่ตัว ก็ให้รีบปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกเสียแต่เล็กๆ จะดีกว่ารอจนโต เพราะถ้าถึงตอนนั้น...อาจสายเกินไป เพราะคุณธรรมไม่ได้ปลูกฝังกันได้ชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลา ความต่อเนื่อง และความสม่ำเสมอในการสอน ที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

เมนูเด็ด...ปรุงแต่งใจให้ดีงาม

การปลูกความดีงามไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคนเป็นพ่อแม่
ทั้งยังสามารถสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันได้ไม่ต่างจากการ
จัดเตรียมอาหารมื้อคุณภาพให้ลูก...เพียงแต่มื้อนี้เป็นการปรุง "อาหาร (เพื่อแต่ง) ใจ" ให้ลูกๆ เติบโตเป็นคนดีของสังคม

เมนูที่ 1 ความซื่อสัตย์กับเด็กเลี้ยงแกะ

คุณธรรมข้อแรกๆ ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่เลือกที่จะปลูกฝังให้ลูกคือ ความซื่อสัตย์ เพราะการที่คนเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมได้นั้น ต้องซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน ไม่คดโกง หรือเอารัดเอาเปรียบกัน การสอนคุณธรรมข้อนี้ นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญคือ ไม่สอนเขาอย่างหนึ่ง แล้วทำในสิ่งที่สวนทางกัน เช่น บอกให้ลูกปฏิเสธผ่านสายโทรศัพท์ว่า เราไม่อยู่ ทั้งๆ ที่เรานั่งอยู่ข้างๆ โกหกลูกว่า ยาที่จะป้อนให้นั้นหวาน ทั้งที่จริงแล้วขม บอกลูกว่าจะพาไปเที่ยว แต่ก็ไม่ได้พาไป โดยไม่บอกเหตุผลสัญญาว่าจะซื้อของเล่นให้แต่ก็ไม่ได้ซื้อ ฯลฯ

เพราะนอกจากลูกจะสับสนกับคำพูดและพฤติกรรมของเราแล้ว เขายังจะขาดความนับถือในตัวพ่อแม่อีกด้วย แล้วการสอนคุณธรรมข้อนี้ต่อไป ก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีกค่ะ มีนิทานหลายเล่มที่เขียนถึงความซื้อสัตย์ ลองหามาอ่านให้ลูกฟังก่อนนอน ก็ช่วยให้เขาซึมซับคุณธรรมข้อนี้ได้เช่นกันค่ะ เช่น เด็กเลี้ยงแกะ พิน็อกคีโอ ฯลฯ

เมนูที่ 2 สอนหนูรู้จักขอบคุณ

การสอนให้ลูกรู้คุณค่าของสิ่งรอบตัว และรู้จักขอบคุณให้เป็นนิสัย จะช่วยปลูกฝังคุณธรรมเรื่องความกตัญญูได้ไม่ยาก แถมทำได้ง่ายในทุกๆ วันด้วยค่ะ ถ้าที่บ้านอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ จะยิ่งง่ายต่อการสอนคุณธรรมข้อนี้ค่ะ เพราะคุณสามารถปรนนิบัติปู่ย่าตายายของลูกให้เขาเห็นโดยที่คุณไม่ต้องบอกสอน (ลูกจะทำตามโดยอัตโนมัติ) และเชื่อเถิดว่า เมื่อโตขึ้น เขาจะดูแลปรนนิบัติเหมือนที่คุณทำกับพ่อแม่ของคุณ การสอนให้เด็กรู้จัก ขอบคุณ เช่น ยกมือไหว้ขอบคุณเมื่อผู้ใหญ่ให้ของ หรือเวลาพาลูกไปไหนมาไหน ให้ลองคุยกับลูกว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวลูกล้วนแต่เป็นเพื่อนของลูกทั้งนั้น เช่น

ขอบคุณพระอาทิตย์ ที่ช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย

ขอบคุณชาวนา ที่ปลูกข้าวให้เรากิน

ขอบคุณต้นไม้ ที่ให้ร่มเงาแก่เรา

ขอบคุณเจ้าดิ๊กกี้ ที่ช่วยเฝ้าบ้านให้เรา ตอนเราไม่อยู่

ขอบคุณของเล่น ที่ทำให้หนูไม่เบื่อ

ขอบคุณหนังสือ ที่ทำให้หนูได้มีความรู้

เมื่อเด็กๆ เคยชินกับรูปแบบความคิดนี้ และเห็นในคุณค่าของสิ่งต่างๆ แล้ว อีกหน่อยเขาก็จะเอ่ยปากกับคุณเองค่ะว่า ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ ที่ให้ชีวิตที่ดีแก่หนู

เมนูที่ 3 แบ่งปันฉันกับเธอ

การรู้จักแบ่งปัน เป็นขั้วตรงข้ามกับ ความเห็นแก่ตัว แต่โดยพื้นฐานของเด็กแต่ละคนเกิดมาพร้อมกับการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว โดยเฉพาะวัย 1-3 ปี ที่เอะอะอะไรก็ "ของหนู" ไปหมด ยิ่งเป็นลูกคนเดียวด้วยแล้ว คุณธรรมข้อนี้ยิ่งต้องเร่งปลูกฝังให้ลูกแต่เนิ่นๆ เช่น

ถ้าลูกไม่อยากแบ่งของเล่นให้เพื่อน หรือพี่ไม่อยากแบ่งของเล่นให้น้อง คุณแม่อาจว่า "ถ้าหนูหวงของเล่นของหนู หนูก็จะได้เล่นของเล่นแค่ชิ้นเดียว แต่ถ้าหนูแบ่งกันเล่นกับเพื่อน หนูก็จะได้เล่นของเล่นถึง 2 ชิ้นเชียวนะลูก" หรือคุยกับลูกด้วยภาษาที่ง่าย และดึงเรื่องความรู้สึกออกมาเพื่อชวนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน

"ดูสิคะ น้องหิวน้ำจะแย่แล้ว หนูไม่สงสารเหรอ แบ่งน้ำให้น้องดื่มบ้างสิ น้องจะได้ไม่หิว" "โอ้โห ดูเด็กคนนั้นสิ มีเพื่อนเยอะแยะเลย นี่แสดงว่าเขาเป็นคนมีน้ำใจ มีอะไรก็แบ่งเพื่อนๆ หนูอยากมีเพื่อนๆ แบบนั้นบ้างไหมจ๊ะ"

ช่วงปีค.ศ.1970 มีการศึกษาต้นกำเนิดของพฤติกรรมการห่วงใยผู้อื่น (caring behavior) พบว่า แม้แต่เด็กอายุเพียง 18 เดือนก็สามารถแสดงความเห็นใจ (sympathy) คนที่ได้รับบาดเจ็บหรือคนที่ไม่มีความสุข และแสดงออกซึ่งความพยายามที่จะช่วยเหลือ แต่จะแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อเด็กอายุ 4 ขวบ และจะเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนถึงอายุ 13 ปี และไม่ว่าเด็กจะอยู่ในครอบครัวที่ยากจนหรือร่ำรวยก็สามารถทำสิ่งที่ดีเพื่อผู้อื่นได้

เมนูที่ 4 เจ้าหนูจอมอึด

การสอนให้ลูกรู้จักอดทนรอคอยคือ สอนให้เขารู้จักควบคุมตัวเอง (self-control) พูดง่ายๆ คือ อดใจไว้ให้ไม่เอาแต่ใจตัวเอง โดยธรรมชาติของเด็ก เมื่อเขาต้องการสิ่งใดก็จะต้องเรียกร้องสิ่งนั้นมาเป็นของตนให้ได้ นิสัยเช่นนี้หากเป็นเด็กๆ ยังพออนุโลมว่า ดูน่ารัก แต่ถ้าเราไม่สอนให้เขารู้จักควบคุมตนเองก็เท่ากับเรากำลังสร้างอันธพาลในอนาคตได้เหมือนกันค่ะ เพราะเด็กจะมีแนวโน้มเป็นคนโมโหร้าย เกรี้ยวกราด เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เป็นคนที่ขาดความอดทน ไม่สามารถจัดการเรื่องต่างๆ ตามเป้าหมาย และจะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเพื่อน

ในทางตรงข้าม เด็กที่สามารถบังคับตนเองได้ตั้งแต่เด็ก เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะสามารถปรับตัวเข้าสังคมได้ดี มีความรับผิดชอบและเคารพกติกาของสังคม มีเหตุมีผล รู้จักยับยั้งชั่งใจ

การฝึกให้ลูกรู้จักรอคอยสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อออกจากบ้าน ก็สอนให้เขารอคอย คนอื่นๆ ที่ยังทำอะไรไม่เสร็จ หรือพาเขาไปเล่นที่ สนามเด็กเล่น ก็สอนให้เขารู้จักรอคิวเพื่อจะเล่นของเล่น ซึ่งมีชิ้นเดียวนั้น

สัญญาณจราจร ไฟเขียว ไฟเหลือง ไฟแดง จะช่วยให้ลูกเข้าใจได้ชัดเกี่ยวกับการอดทนรอคอย โดยคุณแม่สามารถอธิบายง่ายๆ ได้ว่า
" ไฟแดง หมายถึง ให้เราหยุดรอ เพื่อให้รถอีกด้านหนึ่งขับผ่านไป และให้คนที่ต้องการข้ามถนนได้ข้าม แต่ถ้าหนูไม่หยุด รถก็อาจจะไปชนคนที่เดินข้ามถนนได้ และทำให้เขาบาดเจ็บได้ หรือถ้ารถไม่ชนคนก็อาจจะชนรถที่กำลังวิ่ง ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่แต่ฝั่งเขาบาดเจ็บแต่เราเองก็จะเจ็บด้วยเหมือนกัน "

สิ่งสำคัญคือ อย่าลืมแสดงความชื่นชมเมื่อลูกสามารถอดทนรอคอย เพื่อเขาจะได้อยากทำสิ่งนั้นบ่อยๆ และซึมซับเข้าไปในตัวเองค่ะ

วอลเตอร์ มิสเชล ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทำการทดสอบความสามารถในการอดทนรอคอยของเด็กวัย 4 ปี โดยการยื่นข้อเสนอให้เด็กเลือกว่า จะรับขนมมาร์ชเมลโลว์หนึ่งอันตอนนี้ หรือว่าจะรอจนกว่าผู้ทำการทดสอบกลับมาในอีก 15 นาที จะได้รับมาร์ชเมลโลว์ 2 อัน ผลการทดลองส่วนใหญ่เลือกที่จะรอเพราะอยากได้ขนมสองอัน

จากนั้น 10 ปี เขาได้ติดตามผลจากการทดลองดังกล่าว พบว่าเด็กที่สามารถอดทนรอคอย เมื่อเติบโตขึ้นจะสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมาย ประสบความสำเร็จในการเรียน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน จัดการกับปัญหาและแรงกดดันได้ดี รวมทั้งมั่นใจในตัวเองด้วย

เมนูที่ 5 วินัยกับความรับผิดชอบ

พ่อแม่สามารถปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบให้ลูกได้ตั้งแต่เขาเริ่มนั่งได้เลยทีเดียวค่ะ โดยการส่งเสริมให้ลูกทานอาหารเป็นที่เป็นทาง ฝึกหัดให้ลูกทานอาหารเอง พอโตขึ้นอีกนิดก็หัดขับถ่ายเป็นเวลา หัดใส่เสื้อผ้า แปรงฟัน อาบน้ำเอง จากนั้นค่อยสอนให้ดูแลรับผิดชอบของเล่นและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น เล่นของเล่นแล้วก็ต้องเก็บให้เรียบร้อย เอาของออกมาใช้แล้วก็ต้องเก็บเป็นที่เป็นทาง

การฝึกให้ลูกช่วยเหลือตนเองตามวัยคือ การฝึกระเบียบวินัยและความรับผิดชอบของลูกแล้วล่ะค่ะ ซึ่งเมื่อเขาสามารถรับผิดชอบเรื่องส่วนตัวได้แล้ว คุณแม่ก็ลองฝึกความรับผิดชอบส่วนรวม โดยมอบหมายงานง่ายๆ ในบ้าน เช่น กรอกน้ำ เก็บที่นอน ช่วยแม่พับผ้า ฯลฯ พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะฝึกวินัยให้ลูกไม่ได้ เพราะถ้าลูกเห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นประโยชน์ และเขาได้ฝึกฝนทำจนเป็นนิสัย ในไม่ช้าเขาก็จะมีความสุขกับการทำสิ่งนั้นๆ ได้เองค่ะ

ที่สำคัญ อย่าคาดหวังว่าลูกจะทำทุกอย่างได้เรียบร้อย เรื่องนี้ต้องใช้เวลาและการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอจากพ่อแม่ด้วย

เมนูที่ 6 รู้ประหยัด อดออม

แม้โอกาสที่เด็กเล็กๆ จะได้ใช้จ่ายเงินมีไม่มากเหมือนเด็กโต แต่เขาจะเรียนรู้เรื่องความประหยัดได้จากลักษณะการใช้จ่ายของพ่อแม่ค่ะ ถ้าพ่อแม่จับจ่ายใช้สอยอะไรง่ายๆ หรือใช้ของอย่างไม่ทะนุถนอมรักษาก็ค่อนข้างยากที่จะสอนลูกให้รู้จักประหยัดอดออม ในทางกลับกัน ถ้าเราพิถีพิถันกับการใช้จ่ายและสอนลูกรู้จักรักษาของเล่น เห็นคุณค่าของทุกชิ้นที่ได้มา ลูกก็จะค่อยๆ ซึมซับและเรียนรู้จากสิ่งที่เราทำค่ะ

กระปุกออมสินรูปสัตว์ลายสวย เป็นตัวช่วยที่จะจูงใจให้ลูกรักอยากออมได้เหมือนกัน นี่เป็นเพียงแนวทางเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการปลูกฝังคุณธรรมให้ลูก เรื่องความดีงามยังมีอีกมากมายที่เราสามารถสอนลูกในชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม มารยาทสังคม กาลเทศะ ฯลฯ และสิ่งที่อยากจะบอกก็คือถ้าวันนี้พ่อแม่ไม่ปลูกฝังเรื่องความดี เมื่อลูกเติบโตเป็นคนเก่งที่ขาดคุณธรรม คนแรกที่ไม่มีความสุขก็คือ ตัวพ่อแม่เอง ค่ะ

มีทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการทางจริยธรรมที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม 6 ขั้นของ รอเลนซ์ โคลเบิร์ก (Lawrance Kolhberg)

• ระดับก่อนกฎเกณฑ์สังคม (Pre-Conventional)

1 : การลงโทษและการเชื่อฟัง : เด็กจะใช้ผลของพฤติกรรมเป็นเครื่องชี้ว่าตัวเองทำ ถูก หรือ ผิด เช่น ถ้าเด็กถูกลงโทษ จะคิดว่าสิ่งที่ทำนั้น ผิด ไม่ดี และพยายามเลี่ยง แต่ถ้าทำแล้วได้ รางวัล หรือ คำชม เด็กจะคิดว่า สิ่งที่ทำไปนั้น ถูกต้อง ดีแล้ว และจะทำซ้ำอีกเพื่อหวังรางวัล

2 : กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน : เด็กจะสนใจทำตามกฎข้อบังคับเพื่อประโยชน์หรือความพอใจของตัว หรือทำดีเพราะอยากได้ของตอบแทน ยังไม่คิดถึงความยุติธรรมหรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่มักเป็นการแลกเปลี่ยนเช่น ถ้าเธอทำให้ฉัน ฉันจะให้...

• ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์ของสังคม (Conventional)

3 :ความคาดหวังและการยอมรับในสังคมสำหรับ "เด็กดี" : เป็นพฤติกรรมของ คนดี ตามความคาดหวังของพ่อแม่หรือเพื่อนวัยเดียวกัน คือไม่ทำผิด เพราะกลัวพ่อแม่เสียใจ

4 : กฎและระเบียบ :คนดีในขั้นนี้คือ คนที่ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมาย ทุกคนควรเคารพกฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นระเบียบของสังคม

• จริยธรรมเหนือกฎเกณฑ์ของสังคม (Post-conventional level)

คนอายุ 20 ปีขึ้นไปจะมีจริยธรรมในระดับนี้ การตัดสินถูก ผิด ควร ไม่ควร มาจากวิจารณญาณของตนเอง ปราศจากอิทธิพลของผู้มีอำนาจเหนือกว่าหรือกลุ่ม

5 : หลักการทำตามคำมั่นสัญญา : ให้ความสำคัญกับมาตรฐานทางจริยธรรมที่คนในสังคมส่วนใหญ่ ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

6 : หลักการคุณธรรมสากล : เป็นหลักเพื่อมนุษยธรรม เพื่อความเสมอภาค และเพื่อความยุติธรรม ของมนุษย์ทุกคน ถูก ผิดในขั้นนี้ขึ้นอยู่กับมโนธรรมที่แต่ละคนยึดถือค่ะ

ข้อมูลจาก : นิตยสาร รักลูก ฉบับที่ 288 เดือนมกราคม พ.ศ. 2550



ผู้ตั้งกระทู้ kru gib :: วันที่ลงประกาศ 2008-01-22 20:33:50 IP : 124.120.98.59


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.