Play Plearn Learn and Fun with Wattanasatit Pre-school Program

หลักสูตรการศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กความต้องการพิเศษ 
|
โรงเรียนอนุบาลวัฒนาสาธิต เปิดหลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อม และพัฒนาศักยภาพของเด็กสู่การเรียนร่วม โดยเด็กกลุ่มนี้จะได้รับการส่งเสริมให้มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อให้มีความพร้อมในการเรียนรู้ และสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และแพทย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด นักวจีบำบัด ฯลฯ โดยใช้ "แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (I.E.P. - Individual Education Plan)" ที่คำนึงถึงความต้องการ และความเหมาะสมกับความสามารถของเด็กเป็นรายบุคคล ตลอดจนการใช้สื่ออุปกรณ์ และวิธีการของมอนเตสซอรี่ ที่เน้นการใช้ประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหวเพื่อการเรียนรู้ในการจัดสภาพแวดล้อม และกิจกรรมต่างๆให้เหมาะสมสอดคล้องและต่อเนื่องโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อช่วยส่งเสริม และพัฒนาทักษะด้านต่างๆให้กับเด็ก เช่น ทักษะกลไกกล้ามเนื้อมัดใหญ่-มัดเล็ก การช่วยเหลือตนเอง สมาธิ การใช้ภาษา และการสื่อความหมาย ตลอดจนการเตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการ ส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาเต็มศักยภาพ เพื่อให้มีอิสระในการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยมีรูปแบบการจัดดังนี้
 |
จัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (I.E.P. - Individual Education Plan) โดยความร่วมมือระหว่าง ครู ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ และส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา |

|
จัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่โดยใช้ประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหว เพื่อการเรียนรู้ จัดอุปกรณ์ กิจกรรม ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตาม "แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล" ที่ได้ระบุไว้โดยมีครูคอยช่วยเหลือในเบื้องต้น แล้วค่อยๆลดการช่วยเหลือลง จนเด็กสามารถทำงาน และปฏิบัติกิจกรรมได้เองในที่สุด |

|
เตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้เข้าสู่ "ภาวะปกติ" เพื่อให้สามารถเข้าเรียนร่วมกับเด็กในห้องเรียนปกติให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ (สำหรับการสอนแบบมอนเตสซอรี่แล้ว เด็กที่อยู่ในภาวะปกติควรมีลักษณะดังนี้คือ มีสมาธิในการทำงาน มีวินัยในตนเอง ทำงานอย่างมีความสุข เชื่อฟัง และรักการเรียนรู้ |
เกณฑ์การพิจารณารับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ |
|
 |
อายุระหว่าง 1 - 6 ปี |
|
 |
มีพัฒนาการล่าช้าหรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา และ/หรือ การปรับตัว |
|
 |
มีพัฒนาการทางด้านสังคม และการสื่อสารไม่สมวัย |
|
 |
มีรายงานทางการแพทย์ |
|
 |
ผู้ปกครองพร้อมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก |
|
 |
เด็กได้รับการสำรวจพัฒนาการด้านต่างๆจากโรงเรียนตามเกณฑ์ที่กำหนด |
|
 |
ผู้ปกครองพร้อมให้ความร่วมมือ โดยการประสานงานร่วมกับทางโรงเรียน และแพทย์หรือผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานผลให้ทางโรงเรียนได้ทราบเป็นระยะ |
รู้จักเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
กลุ่มเด็กที่ไม่สามารถพัฒนา ความสามารถ ได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ด้วยวิธีการปกติ ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงดูตามปกติ หรือการเรียนการสอนตามปกติทั่วไป เนื่องจาก ข้อจำกัดบางประการที่มีอยู่ในตัวเด็กทางด้าน ร่างกาย สติปัญญา พฤติกรรม อารมณ์ หรือ สัมพันธภาพทางสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมี วิธีการพิเศษเพิ่มเติมจากการเรียนรู้ตามธรรมชาติ ของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กมีศักยภาพเต็มตามที่มีอยู่ได้
มีหลายมุมมองทางความคิดเกี่ยวกับแนวทางการดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งไม่มีผิด ไม่มีถูก เพียงต้องมีการทบทวนความคิดอย่างเข้าใจ และพัฒนามุมมองเราเองให้ถูกต้องตามที่เห็นว่าควรเป็น
บางคนมองว่า "อย่าไปบังคับเด็กเลย สงสารเด็ก"
บางคนก็มองว่า " ทำไมไม่ฝึกเด็กล่ะ เดี๋ยวก็ทำอะไรไม่เป็นหรอก"
บางคนก็มองว่า " เด็กก็ทำได้แค่นี้ จะไปเอาอะไรมากมาย"
บางคนก็มองว่า "เดี๋ยวโตขึ้นก็ดีเอง อย่าไปกังวลเกินเหตุ"
บางคนก็มองว่า " ต้องทุ่มเทฝึกกระตุ้นเด็กให้เต็มที่เท่าที่มีแรงทำ"
แนวทางการดูแลเด็กพิเศษ ไม่ว่าจะไปในทิศทางใดก็ตาม ถ้าเริ่มต้นจากการดูแลด้วยความรัก แล้วค่อย ๆ พัฒนาด้วยความเข้าใจ ก็จะไปสู่จุดหมายปลายทางของการทำให้เด็ก มีการพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ ไม่ยาก
การดูแลด้วยความรัก ก็คือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนมีอยู่ เต็มเปี่ยมอยู่แล้ว แต่ที่นำมาเน้นย้ำ เนื่องจากในความรักที่มี อยู่นี้ มักจะถูกบดบังด้วยความเครียด ความวิตกกังวล ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ และความรู้สึกอื่น ๆ อีก มากมาย ในบางช่วงเวลา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ขึ้นมาได้ในการดูแล แต่จำเป็นต้องหาวิธีจัดการความรู้สึกต่าง ๆ อย่างเหมาะสมต่อไป
|
แนวทางช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สำหรับผู้ปกครอง
การสอนแบบมอนเตสซอรี่ เป็นแนวทางหนึ่งที่พ่อ-แม่ และครูสามารถนำไปใช้พัฒนาช่วยเหลือลูกได้ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย โดยมีหลักการจัดสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องได้ ดังนี้ |
|
มอนเตสซอรี่เชื่อว่า เด็กควรมีอิสระมากที่สุดทั้งในการเคลื่อนไหว และการศึกษาหาความรู้ สภาพแวดล้อมที่ผู้ใหญ่จัดเตรียมให้เด็กมีส่วนสำคัญมากต่อการพัฒนา และการเรียนรู้ของเด็ก คำพูด และการกระทำของผู้ใหญ่มีผลกระทบโดยตรงต่อเด็ก สิ่งต่างๆที่เด็กรับรู้ และเรียนรู้มาจากสภาพแวดล้อม และคนรอบข้าง ดังนั้นเด็กจึงควรมีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดผู้ใหญ่ เรียนรู้โลกภายนอก วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และภาษาจากคนรอบข้าง หากเด็กไม่สามารถอยู่ใกล้ชิดกับพ่อ-แม่ได้ เด็กควรมีโอกาสได้อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ป้า น้า อา หรือพี่เลี้ยง แม้กระทั่งเด็กเล็กๆที่ยังพูดไม่ได้ก็ต้องการความใกล้ชิดกับบุคคลดังกล่าวข้างต้นเพื่อการเรียนรู้เช่นกัน |
|
การกำหนดขอบเขตในการให้อิสระแก่เด็กนั้น ผู้ใหญ่ควรสังเกตด้วยว่าหากเด็กทำผิดบ่อยครั้ง และไม่สามารถทำตามกฎระเบียบที่ผู้ใหญ่จัดวางไว้ให้ได้ กฎระเบียบนั้นอาจไม่เหมาะสมกับวัยของเด็ก หรือลักษณะนิสัยของเด็ก ความเข้าใจที่ผู้ใหญ่มีให้กับเด็กจะทำให้ผู้ใหญ่สามารถปรับกฎกติกาให้สอดคล้องกับเด็ก เพื่อการอยู่ร่วมกันได้ราบรื่นขึ้น นอกจากนี้การหมั่นฝึกสอนเด็กถึงวิธีการที่ถูกต้อง จะดีกว่าการปล่อยให้เด็กทำผิดแล้วต้องคอยแก้ไข ผู้ใหญ่ต้องใจเย็น และแสดงสิ่งที่ถูกต้องให้เด็กดูเป็นแบบอย่าง รวมทั้งกระตุ้นเตือน และให้เหตุผลจนกว่าเด็กจะเข้าใจ และรับรู้ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการคืออะไร เป็นการช่วยฝึกระเบียบวินัยให้กับเด็กอีกทางหนึ่ง |
|
เด็กเล็กๆสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ดีที่สุด จากการกระทำ และจากการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง5 เด็กที่ถูกเลี้ยงไว้ให้อยู่ในบริเวณจำกัด และมีโอกาสเคลื่อนไหวได้น้อย จะมีโอกาสพัฒนาได้น้อยกว่าเด็กที่ได้รับอิสระในการเคลื่อนไหว ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรจัดการกับสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก คือ
ประการแรก จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย จนกว่าเด็กจะโตพอที่จะรับรู้ถึงอันตรายต่างๆที่อาจมีขึ้น เช่น ปลั๊กไฟ
ประการที่สอง นำเครื่องแก้วราคาแพงหรือข้าวของที่จะเสียหายออกไปจากบริเวณที่จะให้เด็กอยู่
ประการที่สาม หากเป็นไปได้ควรจัดเครื่องใช้ให้เหมาะสมกับเด็ก และเอื้อต่อการให้เด็กช่วยเหลือตัวเองมากที่สุด เช่น กางเกงที่มีเอวเป็นยางยืด เสื้อที่มีกระดุมเม็ดใหญ่เหมาะสำหรับมือเล็กๆ รองเท้าชนิดติดแป๊ะแทนการผูกเชือก เลือกโต๊ะ เก้าอี้ ที่มีขนาดเหมาะสม และน้ำหนักเบาพอที่เด็กจะเคลื่อนย้ายได้เอง แก้วน้ำ เหยือกน้ำ จาน ชาม มีขนาดเหมาะสมสอดคล้องกับเด็ก ฯลฯ เป็นการเปิดโอกาส และสนับสนุนการช่วยเหลือตัวเองให้กับเด็กมากที่สุด เด็กจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำได้ และมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และต่อโรงเรียน รู้สึกว่าตนเอง มีคุณค่า และมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง |
|
การเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะก้าวหน้าไปอย่างช้าๆ จึงต้องอาศัยความมานะอดทน และความพยายามในการฝึกสอน โอกาส และเวลาเป็นสิ่งจำเป็น การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทั้งอุปกรณ์ และสถานที่ การแนะนำ และสาธิตการใช้อุปกรณ์ ตลอดจนการให้อิสระในการทำงานหรือการทำงานนั้นซ้ำๆ โดยพ่อ-แม่ และครูต้องกระตุ้นเตือนให้ความช่วยเหลือในระยะแรกของการฝึก แล้วจึงค่อยๆลดความช่วยเหลือลง จนในที่สุดเปิดโอกาสให้เด็กทำได้เอง โดยการฝึกนั้นควรจะฝึกจากส่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยากอย่างเป็นขั้นตอน ดังนั้น "การเรียนรู้ การสอนซ้ำ การสอนสนุก และการสอนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เด็ก และตัวท่านเองมีความสุขกับการเรียนรู้ร่วมกัน" |