สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์(ประสูติ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน) ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา)
พระประสูติกาล
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ เมืองเอดินบะระ ประเทศอังกฤษ เป็นพระธิดาพระองค์แรกใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามแรกประสูติตามที่โรงพยาบาลตั้งถวายคือ May ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล (คำว่า "วัฒนา" ในพระนาม ทรงตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอของพระมหากษัตริย์สองพระองค์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลได้ทรงสืบราชสมบัติต่อมา คณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงได้มีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระอิสริยยศ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษา เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในเป็นพระองค์แรกในรัชกาล ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการแพทย์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ สัตว์เลี้ยง และ ฯลฯ นอกจากนี้ยังทรงพระอัจริยภาพในด้านการประพันธ์ พระนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเช่น เวลาเป็นของมีค่า แม่เล่าให้ฟัง เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ มหามงกุฎราชสันตติวงศ์ และพระนิพนธ์เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ที่เสด็จประพาส
แต่สิ่งที่ไม่ใคร่มีผู้ใดทราบคือ ทรงมีพระปรีชาสามารถในการขับเครื่องบินปีก 2 ชั้น และทรงขับเฮลิคอปเตอร์ได้อีกด้วย ทรงโปรดสัตว์ทุกประเภท แต่ที่มีขนาดเหมาะสมกับพระตำหนักคือสุนัข พระองค์ทรงรับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ในพระอุปถัมภ์ด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เสด็จทรงประพาสทั้งในและต่างประเทศ เพื่อบำเพ็ญพระกรณียกิจ เช่นโครงการแพทย์ พอสว. (สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และเพื่อทรงส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่มีเจ้าฟ้าหญิงที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมหาศาลอย่างไม่รู้จักทรงเหนื่อยยากเพื่อความสุขของประชาชน
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2551 เวลา 2:54 น. ที่ รพ.ศิริราช พระชนมายุ 84 พรรษา
ประมวลภาพการจัดริ้วขบวน
ด้วยพระจริยวัตรอันงดงาม พระปรีชาสามารถ ตลอดจนน้ำพระทัยที่ไหลรินสู่ปวงชนชาวไทยของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เมื่อสิ้นพระชนม์ในวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพองค์พระเชษฐภคินี โดยถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี
การจัดริ้วขบวนเคลื่อนพระศพก็เป็นส่วนหนึ่งที่จัดตามโบราณราชประเพณี จากหลักฐานที่บันทึกไว้ การจัดริ้วขบวนเคลื่อนพระบรมศพและพระศพมีปรากฏสืบเนื่องมาแต่โบราณ สำหรับการจัดการพระราชพิธีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แบบอย่างมาจากริ้วขบวนแห่พระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และสมเด็จพระพันวัสสา เมื่อปี 2301 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตลอดจนริ้วขบวนเชิญพระศพสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้มีการตัดทอนจำนวนราชรถและผู้เข้าร่วมขบวนลงจากเดิม เพื่อความเหมาะสม
การปรับริ้วขบวนพระอิสริยยศดังกล่าว ได้นำมาเป็นแบบอย่างในงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 รวมถึงงานพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2539 โดยมีการปรับเปลี่ยนผู้เข้าร่วมขบวนในบางจุด
สำหรับริ้วขบวนพระอิสริยยศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. รวม 6 วัน โดยจะมีการจัดริ้วขบวน 4 วัน ประกอบด้วย 6 ริ้วขบวน คือ ริ้วขบวนเชิญพระโกศออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ริ้วขบวนเชิญพระโกศประดิษฐานพระมหาพิชัยราชรถ จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร สู่พระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ริ้วขบวนเชิญพระโกศเวียนพระเมรุ ริ้วขบวนเชิญพระอัฐิ และพระสรีรางคารจากพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง สู่พระบรมมหาราชวัง ริ้วขบวนเชิญพระอัฐิประดิษฐาน ณ พระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และริ้วขบวนเชิญพระสรีรางคาร บรรจุ ณ สุสานรังสีวัฒนา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
พระราชพิธีทั้ง 6 วัน วันพระราชทานเพลิงพระศพ คือ วันเสาร์ที่ 15 พ.ย. นับเป็นวันสำคัญที่สุด ประชาชนจะได้ชมความงดงามของพระโกศ ราชยาน ราชรถ และชุดเครื่องสูงต่างๆ ตลอดจนเครื่องแต่งกายของเจ้าพนักงาน และกำลังพลที่เข้าร่วมขบวน โดยได้ใช้กำลังไพร่พลมากกว่า 3,000 นาย ประกอบไปด้วย 3 ริ้วขบวน
ริ้วขบวนที่ 1 เป็นขบวนเชิญพระโกศโดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ไปยังพระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดพระเชตุพนฯ มีจุดตั้งริ้วขบวนอยู่ที่หน้าประตูเทวาภิรมย์ เคลื่อนขบวนไปตามถนนมหาราช ถนนท้ายวัง และถนนสนามไชย ใช้กำลังไพร่พลรวม 612 นาย นำขบวนโดยตำรวจขี่ม้า นำริ้ว และผู้ถือธงสามชาย ต่อด้วยคู่แห่ทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ
ส่วนประธานคณะผู้ปฏิบัติงาน สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพุฒาจารย์ วัดสระเกศ นั่งบนเสลี่ยงกลีบบัวและอ่านพระอภิธรรมนำ โดยมีข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นคู่เคียง ต่อด้วยประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ (นายกรัฐมนตรี) และข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการจัดริ้วขบวน รวมทั้งผู้อำนวยการขบวนพระราชอิสริยยศ (ผู้บัญชาการทหารบก)
ในริ้วขบวนยังมีพนักงานเชิญเครื่องสูง เช่น ฉัตร 7 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น และฉัตร 3 ชั้น พระแสงเครื่อง พุ่มไม้เงิน พุ่มไม้ทอง เครื่องประโคม อาทิ กลองชนะ แตร สังข์ ปี่ไฉน โดยมีการประโคมเพลงฮ้อแฮและพญาโศกตลอดเส้นทาง
นอกจากนี้ พระราชวงศ์จำนวน 17 ท่าน รวมทั้ง ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จะอยู่ในขบวนเชิญเครื่องพระอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตามมาด้วยนาลิวันหัวหน้าพราหมณ์ 4 นาย และประตูหลัง 1 นาย ปิดท้ายขบวนพระอิสริยยศ
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินตามพระโกศไปยังพลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนฯ โดยมีพระราชวงศ์ ข้าหลวง-มหาดเล็ก และข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตามขบวน
เมื่อริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศถึงพลับพลา หน้าวัดพระเชตุพนฯ เจ้าพนักงานภูษามาลาเลื่อนพระโกศจากพระยานมาศสามลำคานเข้าสู่เกรินบันไดนาค พระมหาพิชัยราชรถ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดผ้าไตร ท้ายเกรินบันไดนาค จากนั้นเจ้าพนักงานเลื่อนเกรินเชิญพระโกศขึ้นสู่บุษบก กระบวนพระราชอิสริยยศ ประโคมแตร สังข์ ปี่กลองชนะ กองทหารถวายความเคารพ ก่อนเคลื่อนขบวนเชิญพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง
เมื่อพนักงานประตูหลังขบวนพระอิสริยยศท้ายพระมหาพิชัยราชรถเดินผ่านหน้าวัดพระเชตุพนฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเข้าขบวน โดยมีตำรวจหลวง 1 คู่ นายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เชิญธงเยาวราชใหญ่นำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ ข้าราชการมหาดเล็กประจำพระองค์เชิญเครื่องพระราชอิสริยยศ และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แซงเสด็จ ต่อด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ถัดมาเป็นท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ข้าหลวง กรมวัง และราชองครักษ์ตามเสด็จ พระราชวงศ์ ข้าหลวง มหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักเรียนโรงเรียนราชินี โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนราชวินิตมัธยม โรงเรียน ภปร. ราชวิทยาลัย โรงเรียนจิตรลดา ปิดท้ายด้วยวงโยธวาทิต และขบวนทหารตามจำนวน 5 กองพัน ซึ่งมีกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารช่าง กองพันที่ 1 รักษาพระองค์ กองพันอากาศโยธิน และกองพันนาวิกโยธิน
ริ้วขบวนที่ 2 เป็นริ้วขบวนที่สวยงามที่สุด และมีความยาวมากที่สุด ใช้กำลังไพร่พลรวมทั้งสิ้น 3,596 นาย เดินแบบสืบเท้าท่ามกลางเพลงพญาโศกลอยลม ฉบับสากล โดยริ้วขบวนจะเคลื่อนไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนิน เลี้ยวเข้าถนนตัดกลางท้องสนามหลวง
จากนั้นเทียบพระมหาพิชัยราชรถที่เกรินบันไดนาค ตรงประตูราชวัติกับพระยานมาศสามลำคาน เจ้าพนักงานภูษามาลาเลื่อนพระโกศไปประดิษฐานที่พระยานมาศสามลำคาน เป็นการเริ่มขบวนพระอิสริยยศริ้วที่ 3 ซึ่งเป็นการเชิญพระโกศเวียนพระเมรุ ใช้กำลังไพร่พลรวม 763 นาย ริ้วขบวนนำโดยนำริ้ว ธงสามชาย ประตูหน้า สนมเชิญพัดยศสมณศักดิ์ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์นั่งเสลี่ยงกลีบบัว อ่านพระอภิธรรมนำ
ในขบวนยังประกอบด้วยเจ้าพนักงานถือบังสูรย์ พัดโบก จามร ฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง มหาดเล็กเชิญพระอิสริยยศ ข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ระดับปลัดกระทรวง ทหารนายพลราชองครักษ์ ต่อมาเป็นพระประยูรญาติเชิญเครื่องพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นาลิวัน และประตูหลัง
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเวียนพระเมรุ โดยอุตราวัฏ 3 รอบ พร้อมท่านผู้หญิงทัศนาวลัย และครอบครัว ข้าหลวง มหาดเล็ก และข้าราชบริพาร เป็นอันสิ้นสุดริ้วขบวนที่ 3
ในวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ย. ยังมีริ้วขบวนที่ 4 เป็นขบวนเชิญพระอัฐิ และพระสรีรางคารจากพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง สู่พระบรมมหาราชวัง ริ้วขบวนนี้จะเชิญพระโกศพระอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยาน และเชิญพระสรีรางคาร โดยพระวอสีวิกากาญจน์ มีเส้นทางเริ่มจากนอกราชวัติพระเมรุด้านทิศใต้ ออกถนนสายกลางสนามหลวง ถนนราชดำเนินใน ถนนหน้าพระลาน แล้วเข้าประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง
ริ้วขบวนที่ 5 จัดในวันเชิญพระโกศพระอัฐิประดิษฐานบนพระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันอังคารที่ 18 พ.ย. 2551 โดยจะเชิญพระโกศโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน มีจุดตั้งขบวนที่ถนนอมรวิถี ในพระบรมมหาราชวัง เริ่มจากทางแยกหน้าประตูพิมานไชยศรี ถึงหน้าประตูกำแพงแก้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และเคลื่อนไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ริ้วขบวนที่ 6 จัดในวันบรรจุพระสรีรางคาร (พุธที่ 19 พ.ย.) โดยเชิญพระสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งไปบรรจุ ณ อนุสรณ์สถานรังสีวัฒนา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีเส้นทางเริ่มต้นจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประตูวิเศษไชยศรี ถนนหน้าพระลาน ถนนสนามไชย ถนนกัลยาณไมตรี ถนนอัษฎางค์ แล้วเข้าถนนราชบพิธ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีต่อปวงชนชาวไทย จึงทำให้ไพร่พลผู้เข้าร่วมขบวนแสดงความตั้งใจอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความสวยงามอย่างที่สุด และถวายพระเกียรติแด่พระองค์อย่างสูงสุด
ประมวลภาพพระเมรุ
ตามความเชื่อตามโบราณราชประเพณี ที่เปรียบสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์เสมือนสมมติเทวราช เมื่อสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ หมายถึง ได้เสด็จกลับสู่สวรรคาลัย ณ เทวาลัยสถาน คือ เขาพระสุเมรุ
การออกแบบ
พระเมรุในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ
ท้องสนามหลวง น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และผู้ออกแบบพระเมรุ สื่อถึงคติทางพระพุทธศาสนาเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง หมายถึงจักรวาลที่มีพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม รายล้อมด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ วิมานท้าวจตุโลกบาล เหล่าทวยเทพ ณ สวรรค์ชั้นฟ้า
การสร้าง
พระเมรุและอาคารประกอบแวดล้อมอื่นๆ จึงได้จำลองให้คล้ายดินแดนเขาพระสุเมรุ ประกอบด้วยอาคารรายรอบพระเมรุ ได้แก่ พระที่นั่งทรงธรรม หอเปลื้อง ซ่างหรือสำซ่าง ทับเกษตร ศาลาลูกขุน ทิม พลับพลายก และรั้วราชวัติ แต่ละเรือนโดยเฉพาะพระเมรุและพระที่นั่งทรงธรรมล้วนสวยสดงดงามสมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
พระที่นั่งทรงธรรม ที่ประทับในหลวง พระที่นั่งทรงธรรม มีความสำคัญรองจาก
พระเมรุ สร้างเป็นอาคารโถง เปิดโล่ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุ ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระศพ รวมทั้งเป็นที่ประทับสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนคณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ภายในพระที่นั่งทรงธรรมมีที่ตั้งอาสนะพระสงฆ์และธรรมาสน์ เป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลและเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพักพระราชอิริยาบถ ซึ่งตรงกับมุขด้านหน้า
พระเมรุ มุขเหนือและใต้เป็นที่สำหรับข้าราชการเข้าเฝ้าฯ
นฤพร เสาวนิตย์ สถาปนิก 5 กรมศิลปากร ผู้ดูแลการก่อสร้าง
พระเมรุ กล่าวว่า การก่อสร้างพระที่นั่งทรงธรรมภายนอกดูงดงามรายล้อมด้วยสถาปัตยกรรมไทย มีความใหญ่กว่าทุกครั้ง จุคนได้ 1,500 คน ลักษณะการก่อสร้างหลังคาซ้อนชั้นเพื่อทอนสเกลหลังคาไม่ให้ดูยาวเกิน เพดานด้านในพระที่นั่งทรงธรรมมีลักษณะโปร่งโล่งเพื่อบ่งบอกว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะประทับอยู่ การก่อสร้างอาคารมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จย่า สมัยนั้นฝาผนังใช้สีแดงเข้ม อาคารจึงดูมืด แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้สีทอง และสีอ่อน ดูเย็นตา เพื่อความสว่าง และให้สอดคล้องกับพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรอันนุ่มนวลของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
เพดานตกแต่งด้วยลวดลายดาวเพดาน และลายค้างคาว ซึ่งเป็นลวดลายประดับเพดานที่ใช้เฉพาะอาคารที่เจ้านายทรงประทับเท่านั้น ส่วนการประดับตกแต่งที่ขื่อคานหลังคาประดับตกแต่งด้วยกระดาษทองย่นประดับกระดาษสีเกือบทั้งหมด ส่วนอาคารอื่นๆ เช่น ทิม หรือทับเกษตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฎราชกุมารี ทรงรับสั่งให้อาคารทิม ทับเกษตร ก่อสร้างแบบไม่มีฝาผนัง เพื่อประชาชนที่อยู่ด้านนอกจะได้เห็นว่าทำกิจกรรมอะไรบ้าง
ลวดลายตกแต่งที่ประทับ พระที่นั่งทรงธรรม ใช้สำหรับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จสดับพระพิธีธรรม ดังนั้นจึงไม่ใช่งานง่ายๆ ในการออกแบบลวดลายไทยประดับฝาผนัง ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและเหมาะสมตามประเพณี แม้เป็นอาคารชั่วคราว แต่การเขียนลวดลายภายในฝาผนังก็พิถีพิถันเต็มที่ กรมศิลปากรมอบหมายให้คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เขียนลวดลายตกแต่งภายในพระที่นั่งทรงธรรม มี
ผศ.บัณฑิต อินทร์คง หัวหน้าสาขาวิชาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้ออกแบบลวดลาย และดำเนินการควบคุมนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะไทย ทำการเขียนลวดลายตกแต่ง
พอได้รับมอบหมายจาก ผศ.ธนา เหมวงษา คณบดี ให้เป็นผู้ออกแบบลวดลายไทยใช้ตกแต่งภายในพระที่นั่งทรงธรรม ผมก็เริ่มออกแบบโดยใช้หลักการออกแบบให้สัมพันธ์กับพื้นที่ ลวดลายทั้งหมดใช้ลวดลายไทยแบบประเพณี ประกอบด้วย ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง หน้าขบก้านแย่ง และลายกรุงเชิง ซึ่งผมได้แนวคิดลวดลายตามลักษณะการตกแต่งในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผศ.บัณฑิต เล่า
ลวดลายตามประเพณี หลักการออกแบบลวดลายไทยบนผนังพระที่นั่งทรงธรรม บริเวณที่ประทับแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ฝาผนังหลังที่ประทับ ฝาผนังหลังพระพิธีธรรม พื้นที่ผนังด้านสกัดหรือหน้าห้องที่ทรงใช้พักพระราชอิริยาบถ และผนังคอสอง
น.อ.อาวุธ แนะนำให้ออกแบบเน้นลวดลายแบบไทย ใช้สีที่ดูสบายตาและเรียบง่าย ผศ.บัณฑิต จึงเริ่มเขียนลายและผูกลายขึ้นมาใหม่อาศัยลายพื้นฐานประเพณีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการพัฒนาลวดลายจนมีความสมบูรณ์และสวยงาม
พื้นที่ที่ดำเนินการเขียนลาย แบ่ง 4 ส่วน
1.ฝาผนังพื้นที่หลังที่ประทับ ประมาณ 18 ตารางเมตร ใช้ลายก้านแย่ง และลายหน้ากระดานให้ลวดลายดูเด่นขึ้นมา ความงามเกิดขึ้นที่ช่องไฟของลาย
2.ฝาผนังพื้นที่หลังพระพิธีธรรม ประมาณ 30 ตารางเมตร ใช้ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง
3.พื้นที่ผนังด้านสกัด ประมาณ 40 ตารางเมตร ใช้ลายหน้าสิงห์ก้านแย่ง
พื้นที่ทั้งสามส่วน อาจารย์บัณฑิตได้ออกแบบลายให้มีความแตกต่างกันแต่ดูกลมกลืนกันเมื่อดูภาพรวมทั้งหมดเพราะอยู่ในพื้นที่หลังเดียวกัน
4.ผนังคอสอง (ส่วนต่อระหว่างผนังกับเพดาน) ใช้ลายเทพพนมอยู่ในช่องลูกฟัก พื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตร
ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แม้เป็นอาคารชั่วคราว และมีเวลาจำกัดในการเขียนลายเพียง 1 เดือนเศษๆ เท่านั้น อาจารย์บัณฑิตเริ่มทำงานอย่างประหยัดเวลาที่สุด โดยเริ่มการเขียนกรอบลายแบบคร่าวๆ ลงบนซิลก์สกรีน เสร็จแล้วพิมพ์ลายด้วยสีทองลงบนผ้าแคนวาส ตัดเส้นระบายพื้นลายด้วยสีครีม ใช้สีที่นุ่มนวลตาแต่มีเฉดสีที่แตกต่างกัน ทว่าดูกลมกลืน แต้มสีลงไปเพื่อให้เกิดน้ำหนักบนตัวลายตามกรรมวิธีจิตรกรรมไทย โดยได้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรม สาขาศิลปะไทย จำนวน 30 คน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการเขียนและเก็บรายละเอียดของลวดลาย
โทนสีใช้สีไม่ฉูดฉาดเนื่องจากในหลวงประทับอยู่นาน จึงใช้สีเย็นตาและมีลวดลายงดงาม ผมจึงออกแบบให้มีหลายลายในพื้นที่ เช่น ลายก้านแย่ง ได้แบบมาจากลายกระเบื้องเคลือบในวัดราชบพิธฯ ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนด้านหลังพระสงฆ์ใช้ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง หน้าห้องประทับอิริยาบถเป็นลายหน้าสิงห์ก้านแย่ง มีลายเชิงแบบโบราณ แลดูน่าสนใจ มีความงดงาม ในด้านลวดลายที่เลือกนำมาผูก มีความงดงามของลวดลายไทยที่ช่างโบราณได้สร้างและผูกลายจนกลายเป็นแบบแผน มีเส้นสายที่สวยงาม เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายกระหนก ลายหน้ากระดาน ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายกรวยเชิง ลายเทพพนม ฯลฯ นำมาต่อและผสมผสานกันจนเกิดเป็นลายที่สวยงาม เป็นลวดลายสมัยรัตนโกสินทร์เนื่องจากงานก่อสร้างเป็นงานสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้นลวดลายในพระที่นั่งทรงธรรมจึงต้องทำให้สอดคล้องกัน เมื่อลวดลายแล้วเสร็จต้องนำผ้าแคนวาสมาติดบนผนังพระที่นั่งทรงธรรม ท้องสนามหลวง ซึ่งความยากอยู่ตรงติดอย่างไรให้ผ้าเรียบเนียนไปกับฝาผนัง
ขั้นตอนเขียนลายเราใช้สีอะครีลิกแต้มลงไปบนตัวลายเพื่อให้เกิดน้ำหนักของลวดลายที่มีความละเอียดสวยงามอ่อนช้อย โดยเราใช้สถานที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ทำงาน เมื่อแล้วเสร็จก็จะได้เป็นลวดลวยไทยบนผ้าแคนวาส ผืนหนึ่งมีหน้ากว้าง 2 เมตร ยาว 10 เมตร ม้วนมาเป็นผืนๆ แล้วนำมาติดด้วยกาวที่ผนังของพระที่นั่งทรงธรรม วิธีการติดผ้าแคนวาสให้เรียบเนียนและลายต่อกันพอดีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความประณีต จนไม่เห็นรอยต่อของผ้า ทำการติดแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือน ต.ค.
อาจารย์บัณฑิต บอกว่า รู้สึกดีใจ และภาคภูมิใจที่ได้รับใช้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นครั้งสุดท้าย เช่นเดียวกับนักศึกษาที่ร่วมทำงานนี้ ได้แก่ สถาพร เครือวัลย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปกรรมไทย สาขาศิลปะไทย บอกว่า ถือเป็นเกียรติประวัติในชีวิต ด้าน ศิยารัตน์ แก้วคีรี เพื่อนร่วมรุ่น บอกว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เพราะมีคนส่วนน้อยที่จะได้มาทำงานที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ ดีใจที่จะได้มีโอกาสทำงานถวายพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย
หลังจากเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาจารย์บัณฑิตจะขอพระบรมราชานุญาตนำชิ้นส่วนของพระที่นั่งทรงธรรม 2 ชิ้น บริเวณพื้นที่หลังที่ประทับ และฝาผนังหลังอาสนะพระสงฆ์ ไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษารุ่นหลังๆ ได้ชื่นชมและร่วมภาคภูมิใจกับมหาวิทยาลัยต่อไป