ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา
ปญญาวุฑฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิห
ครูนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากในการให้การศึกษาเรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการและประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งการนำพาสังคมประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

ด้วยเห็นความสำคัญของครูดังกล่าวมาแล้วนั้นจึงได้กำหนดให้มีวันครูขึ้นในวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที และให้ครูเป็นผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูในสังคม
ความหมาย
ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน; ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ
ประวัติความเป็นมาของการจัดงานวันครู
งานของครู นั้น เป็นงานหนัก และเป็นงานที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นงานสร้างคน โดยเฉพาะการสร้าง คนดี อันจะเป็นเสมือน ต้นกล้าที่มีคุณภาพให้แก่แผ่นดินในอนาคต ในรอบปีที่ผ่านมา มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อวิชาชีพครูไม่น้อย หลายปัจจัยอาจจะทำให้ครูหลายท่านเกิดความท้อแท้ ขาดกำลังใจ ดังนั้น ในโอกาสวันที่ ๑๖ มกราคม อันเป็น วันครู จะได้เวียนมาบรรจบครบอีกปีหนึ่ง จึงขอเชิญชวนพวกเราทุกคน
ซึ่งล้วนเคยผ่านการเป็นลูกศิษย์ลูกหาของครูมามากมายหลายท่าน ผ่านความรักความผูกพันที่ท่านได้มอบให้ด้วยความจริงใจ และความปรารถนาดีมาโดยตลอด ได้ร่วมส่งกำลังใจให้แก่ครูทุกท่าน พร้อมรำลึกถึงพระคุณของท่านด้วยการแสดงความรักและความกตัญญูกตเวที เช่น ส่งบัตรอวยพรถึงท่าน โทรศัพท์ไปแสดงความระลึกถึง ซื้อของกินของใช้ไปให้ท่าน นัดเพื่อนรุ่นเดียวกันไปเยี่ยม พาลูกหลานไปกราบคารวะท่านตามควรแก่โอกาส เป็นต้น
ครูดีเป็นศรีแผ่นดิน ศิษย์ทั่วถิ่นศรัทธาบูชาครู
(คำขวัญวันครู ปี ๒๕๔๙)
ในปี พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศถึงความคิดที่จะกำหนดให้มีวันครูและเป็นการสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูโดยทั่วไป
ดังนั้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็นวันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครู
วันครูได้จัดให้มีในครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาในปี พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคล ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครูจัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู
ดอกไม้ประจำวันครู คือ ดอกกล้วยไม้ โดยพิจารณาเห็นว่าคุณลักษณะของดอกกล้วยไม้ มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับสภาพชีวิตครู นั่นคือ กว่ากล้วยไม้แต่ละช่อจะผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมได้ ต้องใช้เวลานานและต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่น้อย เช่นเดียวกับครูแต่ละคน กว่าจะสั่งสอนเคี่ยวเข็ญศิษย์คนแล้วคนเล่าให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในชีวิตได้ ก็ต้องใช้เวลาอบรมสั่งสอนมิใช่น้อยเช่นกัน นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังเป็นพืชที่อยู่ในที่สูงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเสมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทยที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ
ดังคำกลอนของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติ ที่ว่า
กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวใด งานเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม
พระพุทธเจ้าได้เปรียบครูว่า เป็นดังทิศเบื้องขวา ผู้ซึ่งมีหน้าที่อนุเคราะห์ต่อศิษย์ดังนี้
๑ แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
๒.สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓.สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔.ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ และ
๕.สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพ และรู้จักดำรงรักษาตน ในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี
มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู
1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน
8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
คำปฏิญาณตนของครู
ข้อ 1. ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
ข้อ 2. ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ข้อ 3. ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็น
ขอบคุณข้อมูลจาก www.sanook.com
โดย อนุบาลวัฒนาสาธิต