



นิทาน กับคุณค่าที่คุณคาดไม่ถึง
สมัยเป็นเด็กตัวน้อย ๆ พอผู้ใหญ่บอกว่าจะเล่านิทานให้ฟัง เป็นหูผึ่ง ตาโต รีบทิ้งความสนใจประดามี วิ่งมานั่งตัก ผู้ใหญ่ทันทีทันใด อุตส่าห์นั่งเงียบเรียบร้อย พูดจ๋าจ้ะหวานจ๋อย ด้วยความอยากฟังนิทานเพราะผู้ใหญ่บอกว่า ใครอยากฟังต้องเป็นเด็กดี
แล้วก็แปลกมากที่นิทานยาว ๆ อย่างเรื่อง ตากะยาย ปลูกถั่วปลูกงานให้หลายเฝ้า
หรือเรื่องตาอินกับตานาที่ชอบหาปลา กับอีกหลายสิบเรื่อง(เผลอๆ อาจถึงร้อย) ที่คนอายุปูน 30-40 ปีจำไม่ได้หมด(ถ้าเพิ่งมาฟังเอาตอนนี้นะ) แต่เด็กตัวกะเปี๊ยกกลับจำฝังใจ ขนาดนอนเคลิ้มๆ นะ บางหนยังหลับปุ๋ยก่อนจบเรื่องด้วยซ้ำ
พอโตขึ้นนึกทบทวนดูดี ๆ พบว่านิทานหลายเรื่องถูกหยิบมาเป็นคตินำชีวิตโดยไม่รู้ตัว
ผู้ใหญ่สอนว่าถ้าขี้เกียจหรือไม่รับผิดชอบจะเหมือนหลายยายกะตาที่เที่ยวหาถั่วงากลับมาคืนเกือบแย่ ถ้าทะเลาะกันไม่รู้จักปรองดองก็คงเหมือนตาอินกับตานา ที่สุดท้ายก็สบายตาอยู่ไปเสียนี่
ไม่ว่านิทานไทยหรือนิทานต่างประเทศอย่างเรื่อง ลูกหมูสามตัว หนูน้อยหมวกแดง ซินเดอเรลลา ฯลฯ ก็ล้วนมีคติสอนในแฝงไว้ในเรื่องราวที่ตื่นเต้น สนุกสนาน เพลิดเพลินที่สมองน้อยๆ จดจำเอาไว้ไม่ลืม
จำได้ไหมคะว่าเจ้าของสมองน้อยๆ ที่ช่างจำนั้นคือใคร
นิทานกับคุณค่าที่คาดไม่ถึง
เชื่อหรือไม่ว่าเด็กวัยแรกเกิดถึง 6 ขวบ เซลล์สมองจะเจริญเติบโตมากที่สุด เพียง 6 ขวบเด็กทั่วไปก็จะมีขนาดสมองเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของสมองเมื่อเป็นผู้ใหญ่ จึงมีคำกล่าว่านี่เป็นช่วง "วัยทองของชีวิต" จะปลูกฝังพื้นฐานอะไรให้มั่งคงในตัวลูกละก็ พ่อแม่ต้องลงหลักปักเสากันตั้งแต่ตอนนี้แหละ
และเชื่อหรือไม่ว่า นิทานเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยลูกของเราได้มากมาย อย่างที่เราอาจคิดไม่ถึงเลยเชียวล่ะ
มีรายงานการวิจัยมากมายจากนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กไม่ว่าไทยหรือต่างประเทศ พากันยืนยันว่านิทานนอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินและสนุกสนานให้กับเด็ก ๆ แล้ว ยังสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างจินตนาการอันบรรเจิดได้อย่างไม่จำกัด เด็กที่ได้ฟังนิทานตั้งแต่วัยทารกจะมีพัฒนาทักษะการฟังและการพูดที่ดี เพราะแกจะได้ยินคำใหม่ ๆ และท่วงทำนองการสนทนาแบบต่าง ๆ เสมอ
สมองของเด็ก ๆ กำลังซึมซับทุกสิ่งทุกอย่าง นิทานจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยปลูกฝังหน่อและรากของคุณธรรมความดี และความงดงามละเอียดอ่อนให้กับหัวใจดวงน้อย
นิทานช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน เริ่มจากความอยากอ่านเรื่องที่แกชอบแกฟัง รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่ขยายออกไปตามวัย
คุณค่าสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ ถ้าคนเล่าเป็นคุณพ่อคุณแม่ด้วยแล้ว นิทานจะช่วยสร้างความผูกพันใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างพ่อแม่ลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะการที่ลูกมีคุณพ่อคุณแม่เอาใจใส่อยู่ใกล้ ๆ มีเวลาพูดคุยเล่าเรื่องที่ลูกชอบ การที่ลูกได้ฟังเสียง ท่วงทำนองที่มีจังหวะจะโคนจากปากของคนที่มีความหมายกับลูกมากที่สุด จะทำให้แกอบอุ่น สบายใจและมีความสุข ลูกจะนอนหลับง่ายและฝันดี .
เล่าเรื่องอะไร เมื่อไรดี
ทารกน้อยตัวแดง ๆ ของเรา มีความสามารถในการฟังมาตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่แล้วล่ะ เพลงกล่อมเด็ก อาจเป็นนิทานเรื่องแรกที่เราจะเล่าให้ลูกฟัง น้ำเสียงที่ไพเราะอ่อนโยน เป็นจังหวะคล้องจองกัน เช่น "โยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆ กระต่ายลอยคอ
." หรือ "กาเอ๋ยกา บินมาไวไว
" แม้ลูกจะยังไร้เดียงสาเกินกว่าที่จะเข้าใจเนื้อหาและถ้อยคำ แต่แกจะซึมซาบได้ดีถึงความหมายของน้ำเสียงที่คุณพ่อคุณแม่ถ่ายทอดออกมา แกจะนิ่งฟังด้วยดวงตากลมแป๋ว อาจยิ้มอย่างพออกพอใจหรืออืออาตอบ แล้วหลับไปอย่างมีความสุข
พอลูกเริ่มรับลูกและตอบสนองการพูดและการฟังมากขึ้น ก็เล่านิทานเรื่องสั้น ๆ ง่าย ๆ ได้แล้วล่ะค่ะ เรื่องอะไรก็ได้ใกล้ ๆ ตัว แล้วค่อย ๆ ขยายกว้างออกไปตามวัยของลูก
ลูกเล็ก ๆ มักชอบฟังเรื่องที่เป็นคำพูดคล้องจอง หรือบทกลอน เราอาจจะท่องบทกลอนเก่าๆ เช่น จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง
หรือไก่เอ๋ยไก่ เลี้ยงลูกมาจนใหญ่ไม่มีนมให้ลูกกิน
หรือถ้าท่องไม่ได้จะหาเรื่องทำนองนี้มาอ่านให้ลูกฟังก็ไม่ผิดกติกา นิทานก็เช่นกันค่ะ คุณแม่บางคนบอก เล่าไม่ได้ เล่าไม่เป็น
ไม่ยากค่ะ อ่านหนังสือนิทานสำหรับเด็กให้ลูกฟังสิคะ เดี๋ยวนี้เขามีให้เลือกเต็มท้องตลาด หรือจะเล่าเรื่องซุกซนสนุกสนานในวัยเด็กของคุณพ่อคุณแม่เองก็ยังได้
เลือกเวลาเล่านิทานในยามที่อารมณ์ของทั้งคนเล่าและคนฟังโปร่งสบาย เป็นเวลาผ่อนคลาย เช่น หลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน (บางคนงานยุ่งมาก ๆ ได้เจอลูกจริง ๆ ก็ก่อนนอนนี่แหละ จงใช้ช่วงเวลานี้อย่างมีคุณภาพที่สุด) อุ้มลูกน้อยนั่งตัก หรือจะนอนอิงกันก็อุ่นดี ใช้น้ำเสียงที่มีชีวิตชีวา ดัดเสียงเข้ากับตัวละครแต่ละตัว ลูกก็ยิ่งชอบใจ เล่าสบาย ๆ ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องพยายามหาแต่คำง่าย ๆ สั้น ๆ เพราะกลัวลูกไม่เข้าใจ ใช้คำใหม่บ้างก็ได้ค่ะ เพื่อลูกจะได้เรียนรู้ ถ้าลูกถามขึ้นมากลางคันก็อย่าไปดุว่า "เอ๊ะ เดี๋ยวสิ แม่ยังเล่าไม่จบเลย" ตอบลูกให้เข้าใจแล้วเล่าต่อ ไม่ต้องเล่ายาวเยิ่นเย้อ หรือซับซ้อนนักหรอก เพราะเด็กเล็ก ๆ ความสนใจของแกยังสั้น ถ้าเห็นลูกทำท่าไม่สนใจก็ไม่ต้องไปบังคับให้แกฟัง เปลี่ยนเรื่องคุยเสีย คราวหน้าค่อยเล่าให้ฟังใหม่ก็ได้
การปลูกฝังนิสัยที่ดีทำได้โดยแฝงในนิทานนี่แหละค่ะ คุณแม่ช่างเล่าอาจดัดแปลงนิทานเรื่องหนึ่งให้กลายเป็นนิทานหลายสิบเรื่อง เพื่อให้เหมาะกับสิ่งที่คุณอยากปลูกฝังหรืออยากเปลี่ยนนิสัยลูก เช่น เมื่อลูกดื้อ ชอบอมข้าว ไม่ยอมแปรงวัน หรือขี้เกียจอาบน้ำ นิทานเรื่องหมีน้อยก็อาจจะต้องเป็น หมีน้อยผอมเพราะชอบอมข้าว หมีน้อยฟันผุหรือหมีน้อยตัวเหม็นไม่มีใครเล่นด้วย เป็นต้น
จบแล้วคุยอะไรกับลูก
หลังเล่านิทานจบ คุณพ่อคุณแม่อาจคุยกับแกต่อถึงตัวละครแต่ละตัวในเรื่อง ถามความคิดเห็นของลูกว่า แต่ละตัวเป็นอย่างไร ลูกชอบตัวไหน เพราะอะไร ถ้าลูกพบเหตุการณ์เหมือนในเรื่องจะทำอย่างไร จะร้องไห้ไหม เพราะอะไร เป็นต้น พยายามตั้งคำถามที่กระตุ้นให้ลูกใช้ความคิดและจินตนาการมากกว่าให้ลูกตอบแค่ว่า ใช่ ไม่ใช่ วิธีนี้นอกจากจะเพิ่มความใกล้ชิดสนิทสนมแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังเข้าใจลูกมากขึ้นอีกด้วยนะคะ
นิทานบางเรื่องอาจมีตัวละครที่น่าสงสารหรือจบแบบเศร้า ๆ ที่ลูกอาจจะไม่ยอมรับ เราต้องเข้าใจความพร้อมของการรับรู้ของลูกด้วย ควรอธิบายง่าย ๆ แต่มีเหตุผลว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร และจะไม่เป็นอย่างนั้นถ้าตัวละครนั้นทำดี ไม่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสุดขีด ชนิดที่ไม่ยอมให้ลูกได้ยินได้ฟังเรื่องทำนองนี้แม้แต่นิดเดียวเพราะกลัวลูกสะเทือนใจหรอกนะคะ เพราะในชีวิตจริง ๆ ลูกอาจจะต้องมีโอกาสพบสิ่งที่ทำให้แกทั้งดีใจและเสียใจ เพราะฉะนั้นทางที่ดีคือให้ลูกได้ฟังบ้างล่ะ แต่ต้องอธิบายพูดคุยอย่างนุ่มนวล และรับฟังความเห็นของเจ้าตัวกะเปี๊ยกไปด้วย
บางครั้งที่เล่านิทานจบ ลูกอาจจะรบเร้าให้เราเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือซักไซ้อยู่นั่นแหละ ก็อย่าเพิ่งเบื่อซะก่อนนะคะ ถึงจะง่วงเต็มแก่ก็เถอะ เพราะนั่นแสดงว่าลูกกำลังเกิดความประทับใจ หรือเกิดความสนใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกเล่า อย่าไปทำลายช่วงเวลาที่มีค่านี้ด้วยท่าทีรำคาญหรือดุว่า "พอได้แล้ว นอนซะทีได้มั้ย" เพราะลูกอาจจะไม่กล้าซักถามอะไรเราอีกเลยก็ได้
แต่ก็ไม่แน่นะคะ บางครั้งเล่าไปสักค่อนเรื่อง ลูกก็อาจจะหลับปุ๋ยไปซะแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องถึงขนาดปลุกลูกขึ้นมานั่งฟังต่อหรอก ปล่อยให้ลูกได้ต่อตอนจบที่แสนสนุกในฝันของแกเองเถอะค่ะ
ขอให้หลับฝันดีทั้งครอบครัวนะคะ
ข้อมูลจาก www.planpublishing.com