โรคชื่อแปลกอย่าง โรคมือเท้าปาก ปรากฏเป็นข่าวสร้างความกังวลใจให้กับคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองอีกครั้ง หลังมีการตรวจพบการแพร่ระบาดที่กรุงเทพฯ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านลาด พร้าว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าทำการตรวจพิสูจน์เก็บตัวอย่างไวรัส
ทางผู้เชี่ยวชาญแถลงว่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากในเด็กครั้งนี้ ไม่ใช่สายพันธุ์ร้ายแรง ไม่ใช่สายพันธุ์ เอ็นเทอโรไวรัส 71 (Entero Virus 71) แต่เป็นเชื้อไวรัส คอกซากี เอ16 (Cox Sackie A16) ลักษณะจึงเป็นเพียงโรคประจำถิ่นที่พบได้ในเด็กวัยอนุบาล อาการคล้าย อีสุกอีใส หรือการออก หัด ในเด็ก
ทั้งนี้ จากสถิติจะพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในไทย ปีละ 800-1,000 ราย และในปี 2548 นี้เบื้องต้นพบแล้ว 53 ราย โดย 95% เป็นเด็กวัย 2-5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่สายพันธุ์ร้ายแรงอย่างที่กลัวกัน... ฟังแล้วโล่งใจ...แต่หลายคนก็ยังเป็นห่วงบุตรหลาน !! สาเหตุที่พ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งสนใจติดตามข่าวสารยังเป็นกังวล ยังกลัวว่าบุตรหลานจะได้รับอันตรายร้ายแรงจาก โรคมือเท้าปาก ก็เพราะเมื่อหลายปีก่อนในเมืองไทยเองเคยเกิดโกลาหล เมื่อมีข่าวว่าประเทศใกล้ ๆ ไทยอย่างมาเลเซีย และไต้หวัน มีเด็กป่วยด้วยโรคนี้เป็นแสน ๆ ราย และหลายราย เสียชีวิต
ต้นเหตุสำคัญก็คือ เอ็นเทอโรไวรัส 71 เชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ที่ว่านี้ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก เช่นเดียวกับคอก ซากี เอ16 เพียงแต่เอ็นเทอโรไวรัส 71 มันมีการพัฒนาสายพันธุ์จนเชื้อมีความรุนแรงมากกว่าคอกซากี เอ16 การเกิดโรคมือเท้าปากจากเชื้อต่างสายพันธุ์จะแตกต่างกันที่ อาการ และ ความรวดเร็ว-รุนแรง ของโรค ซึ่งคนที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม เอ16 จะมีอาการแค่ไข้สูง เกิดตุ่มใส มีผื่นแดง เป็นแผลร้อนใน และภายในระยะเวลาประมาณ 10-14 วันก็จะหายไปในที่สุด
แต่...กับเจ้าเชื้อ เอ็นเทอโรไวรัส 71 จะแสดงอาการรวดเร็ว ที่สำคัญ...อาการของโรคยังรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ เสียชีวิต ได้ !! จากรายงานทางการแพทย์ เหยื่อของไวรัสสายพันธุ์เอ็นเทอโร ไวรัส 71 มักจะเป็น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือเด็กวัยอนุบาล ซึ่งภูมิคุ้มกันยังน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก หากติดเชื้อก็มีโอกาสเสียชีวิต ระยะฟักตัวของเชื้อก่อนแสดงอาการจะอยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 3 วัน ซึ่งอาการของเด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ต่อมาก็จะเกิดตุ่มใส ๆ จนเกิดเป็นแผลบริเวณปาก มือ และเท้า
ถ้าไม่รู้ก็อาจคิดว่าไม่รุนแรงมาก...แต่ไม่ใช่ หากรักษาไม่ทันท่วงทีก็มีสิทธิเสียชีวิต !!! สำหรับการติดต่อของเชื้อที่ทำให้เกิด โรคมือเท้าปาก นั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการกิน แต่ก็มีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจด้วย เพียงแต่ที่ผ่านมาพบในจำนวนที่น้อยมาก ซึ่งการติดเชื้อ-การติดต่อจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในเด็กที่ สุขภาพอ่อนแอ เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัว 3 วัน เชื้อจะเข้าเลือดและไปสู่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง กล้ามเนื้อ เยื่อบุหัวใจ ผนังทรวงอก ตับอ่อน
ไวรัสในกลุ่มเดียวกับเอ็นเทอโรไวรัสนั้น มีอยู่ 5 สายพันธุ์หลักคือ... โปลิโอไวรัส (Polioviruses), คอกซากีไวรัส กลุ่มเอ (Group A Coxsackiviruses), คอกซากีไวรัส กลุ่มบี (Group B Coxsackiviuses), เอ็คโคไวรัส (Echoviruses) และก็เจ้าเอ็นเทอโรไวรัสที่ว่า จุดอันตราย ที่ทำให้เกิดความกังวล และหลายฝ่ายรู้สึกว่า น่าเป็นห่วง ก็คือ...มีผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตถึงการระบาดใหญ่ของเชื้อเอ็นเทอโรไวรัสในไต้หวันว่า...ไม่น่าจะเกิดจากการ กินเท่านั้น

การระบาดที่ค่อนข้างมากของไวรัสครั้งนั้นอาจเป็นไปได้ว่ามีการ แพร่เชื้อทางอากาศ แม้ว่าจากฐานข้อมูลเดิมจะพบว่าการติดเชื้อทางอากาศจะมีโอกาสเป็นไปได้น้อย แต่ก็เป็นไปได้ว่า เอ็นเทอโรไวรัส 71 อาจมีการ เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ปรับตัวเองเพื่อให้อยู่รอด สิ่งที่พบในการระบาดใหญ่ของ โรคมือเท้าปาก เมื่อ 5-6 ปีก่อนก็คือ... แสดงอาการตรงไปที่สมอง สมองอักเสบ บวม และในที่สุดก็ทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต !!
ทั้งนี้และทั้งนั้น กล่าวสำหรับการพบเด็กเล็กในโรงเรียนย่านลาดพร้าวป่วยเป็นโรคชื่อแปลกอย่าง โรคมือเท้าปาก นั้น ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าทางสาธารณสุขยืนยันว่า...ไม่ได้เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ร้ายแรง และก็ได้มีการเฝ้าระวัง พร้อมกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัย แต่พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไปก็ควรใส่ใจบุตรหลานด้วย
การป้องกันบุตรหลานในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และไม่จำเป็นก็ไม่ให้ไปอยู่ในสถานที่แออัดยัดเยียด น่าจะเป็นวิธีที่ดี เป็นการ ป้องกันไว้ก่อน ที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนที่หลายโรคชอบอาละวาด โรคบางโรคพรากบุตรหลานเราไปได้ในเวลาแค่ 3 วัน อย่าได้ ประมาท เป็นอันขาด !!!!.
ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ |