ReadyPlanet.com


ถึงไม่เร่งเรียนหนูก็อ่านได้
avatar
Admin


ถึงไม่เร่งเรียนหนูก็อ่านได้


โดย: ธิดา พิทักษ์สินสุข


สักวันหนึ่ง หนูจะเติบโตเป็นหนอนหนังสือที่รักการอ่าน


คงจะดีมากเลยถ้าหนูอ่านหนังสือเก่งๆ เพราะหนูเองก็คงได้อ่านเรื่องราวที่สนุกสนานจากหนังสือต่างๆ ได้อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านป้ายประกาศได้เหมือนคุณพ่อคุณแม่ ไม่ต้องคอยสะกิดถามว่าเขาเขียนว่าอะไร ไม่ต้องคอยทวงให้คุณพ่อคุณแม่มาอ่านนิทานให้ฟัง คราวนี้พออ่านเองได้จะได้อ่านให้สะใจ และการอ่านหนังสือเก่งนี่คงต้องดีแน่ๆ เพราะคุณแม่ก็พร่ำบอกว่าจะได้เรียนหนังสือเก่งๆ คอยชี้ชวนให้ดูพี่โตๆ ที่นั่งอ่านหนังสือกันอย่างตั้งใจ

ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากเห็นหนูอ่านเก่งตอนเล็กๆ นี่คงต้องช่วยกันหน่อยนะคะ แล้วหนู จะอ่านให้ชื่นอกชื่นใจเชียวล่ะ

ให้หนูได้ฟังนิทานบ่อยๆ อย่างน้อยก็ขอ 1 เรื่องก่อนนอน
อ่านกันตั้งแต่หนูยังนอนแบเบาะเลยนะคะ หนูน่ะสนใจฟังนะ ยิ่งเวลาเล่านิทานไปด้วย ทำหน้าตา ท่าทางและเสียงสูงเสียงต่ำ หนูจะชอบใจมากและบางทีก็อดทำหน้าตาล้อเลียนคุณพ่อคุณแม่ด้วยไม่ได้ หนูติดใจที่จะฟังเสียงคุณพ่อคุณแม่เล่าอย่างไม่รู้เบื่อ ชอบใจเสียจนหากวันไหนไม่ได้ฟังนิทานก่อนนอน แทบนอนไม่หลับเอาเลย เมื่อหนูโตขึ้นมาหน่อยหนูก็จะเรียกร้องให้เล่าเรื่องโปรดซ้ำไปซ้ำมา อย่าเบื่อที่จะเล่าเรื่องซ้ำนะคะ เพราะมันทำให้หนูรู้สึกว่าหนูเก่งที่ทายเรื่องหน้าต่อไปได้ถูกทุกที การเล่านิทานเป็นด่านแรกที่ทำให้หนูรักหนังสือจนถึงขั้นหลงใหลเชียวล่ะ

จัดชั้นหนังสือให้หนูได้หยิบจับมาเปิดอ่านทุกเวลาที่ต้องการ

พวกหนูอยากอ่านหนังสือมากจนอดใจรอให้ใครมาอ่านให้ฟังไม่ไหว อยากให้หนูเพลิดเพลินกับการอ่านก็ควรจัดหาหนังสือมาให้หนูอ่านซะดีๆ วางไว้บนชั้นที่เอื้อมหยิบได้เองเก็บได้เองด้วยนะคะ ตอนเล็กๆ หนูขอหนังสือชนิดทนมือทนฟันหนูหน่อย ไม่อย่างนั้นพอหนูทำหนังสือฉีกขาดบ่อยๆ หนูก็จะถูกลงโทษให้ห่างไกลจากหนังสือ หนูเองก็เสียใจนะที่ทำหนังสือขาดเพราะขาดทีไรคุณแม่ทำหน้าโกรธทุกที แถมบางทียังโดนตีอีกด้วย ทำเอาขยาดไม่อยากหยิบหนังสือมาดูเอาเสียเลย

ตอนเล็กๆขวบปีแรกนอกจากหนังสือทนๆ แล้วหนูขอหนังสือที่มีภาพโตๆ ชัดๆ ภาพไม่ซับซ้อนนัก เล่มหนึ่งมีไม่กี่หน้า ช่วงนี้หนูขอดูรูปไปก่อน ตอนสักสองขวบสามขวบก็ขอหนังสือที่มีตัวหนังสือตัวโตๆ ด้วยนะคะ หน้าหนึ่งมีตัวหนังสือไม่มาก จากนั้นเมื่อหนูโตขึ้นก็ให้มีหนังสือที่มีตัวหนังสือมากขึ้นได้ค่ะ และหลายหน้าก็ได้แล้วด้วย อ้อ! อย่าลืมพวกหนังสือสารานุกรม หรือหนังสือให้ความรู้ง่ายๆ สำหรับเด็กด้วยนะคะ เพราะมันน่าสนใจพอๆ กับนิทานเชียวค่ะ หนังสือสมัยที่หยิบจับมาตั้งแต่ยังเล็กๆบางเล่มก็ทิ้งไว้ให้อ่านที่ชั้น หนังสือด้วยนะคะ เพราะหนูก็ยังรักอยู่เหมือนเดิมแม้มีเล่มใหม่ๆเข้ามาเพิ่มก็ตาม

ตั้งแต่มีชั้นหนังสือหนูสังเกตว่าผ่านร้านหนังสือทีไร คุณพ่อคุณแม่อดไม่ได้ที่จะแวะเวียนไปแถวชั้นหนังสือเด็กหาหนังสือที่ถูกใจ สักเล่มมาไว้ที่ชั้นหนังสือ ทำเอาหนูเริ่มมั่นใจว่าในรายการชอปปิ้งของคุณแม่ รายการแรกต้องเป็นหนังสือสำหรับหนูแน่นอน ก่อนเอามาไว้ทุกครั้งอย่าลืมอ่านให้หนูฟังก่อนนะคะ เป็นการเปิดตัวให้หนูรู้จักหนังสือเล่มใหม่ไงคะ เวลาถึงวันพิเศษของใครต่อใครก็ตาม ครอบครัวของเราจะไปยังร้านหนังสือหาหนังสือให้เป็นของขวัญ หนูเห็นว่าเมื่อเขาเปิดของขวัญของเรา เขาชอบใจกันทุกคน แน่นอนแหละสิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้หนูเห็นว่าหนังสือเป็นสิ่งที่มีค่าเสียจริง

ชวนหนูอ่านด้วยการอ่านให้ดูเป็นแบบ

นอกจากเล่านิทานแล้ว การอ่านตามตัวหนังสือก็เป็นสิ่งสำคัญมากด้วยเหมือนกันค่ะตอนเล็กๆ ก็เป็นการอ่านภาพ เช่น ชี้ภาพวัวแล้วพูดว่า "วัว" หนูสนุกที่จะอ่านภาพตามคุณพ่อคุณแม่ และก็รู้ด้วยว่าท่านชอบฟังหนูอ่าน ยิ่งออกเสียงไม่ชัดยิ่งชอบใจกันใหญ่ แต่ต้องเตือนกันไว้ก่อนนะคะ ว่าอย่าล้อเลียนคำที่ไม่ชัดของหนูและปล่อยให้หนูคิดว่าออกเสียงอย่างนั้นถูก ต้องแล้ว เพราะจะทำให้หนูใช้จนติดไปเลย วิธีการที่จะช่วยทำให้หนูอ่านออกเสียงชัดๆ นั้น ก็ต้องทำให้แนบเนียนนะคะ ด้วยการออกเสียงชัดๆเป็นแบบอย่างให้หนูบ่อยๆ หนูก็จะพูดได้ชัดเองค่ะ

เมื่อหนูโตขึ้นสักสองสามขวบก็สอนให้หนูอ่านหนังสือที่มีตัวหนังสือโตๆ หน่อย หน้าหนึ่งมีหนึ่งหรือสองบรรทัด อ่านให้หนูฟังตามตัวหนังสือนั่นแหละ ยิ่งอ่านไปด้วยชี้ไปด้วย จะช่วยให้หนูรู้ว่าเจ้าตัวหนังสือยึกยือนั่นแหละ แทนเรื่องราวและสิ่งที่คุณแม่เล่า หนูเริ่มสนใจตัวหนังสือแล้วล่ะ มันเป็นสิ่งแปลกที่น่าอัศจรรย์ อ้อ! สังเกตเห็นด้วยล่ะว่าคุณแม่กับคุณพ่อชี้ตัวหนังสือจากด้านนี้ไปด้านนี้ทุกที (ด้านซ้ายไปขวา และจากบรรทัดบนลงมาบรรทัดล่าง) แล้วหนูก็จะทดลองอ่านตามด้วยลีลาที่ละม้ายคล้ายกับที่หนูเห็นเป็นแบบอย่าง นั่นเอง หนูสังเกตว่าคุณพ่อคุณแม่ชอบใจทุกครั้งที่หนูหยิบจับหนังสือมาอ่าน หนูก็เลยอ่านใหญ่เลย

เมื่อหนูเริ่มหยิบจับหนังสืออ่าน ก็ถึงคราวที่คุณแม่คุณพ่อจะเริ่มใช้เทคนิคให้หนูจำคำได้มากขึ้น เช่น ให้หาและชี้คำบางคำในหนังสือ เหมือนเล่นเกมกับคำ หรืออาจจะอ่านแบบเว้นให้หนูช่วยเติมคำบางคำที่หนูเริ่มคุ้นเคย แบบนี้อ่านด้วยกันไม่กี่ครั้งก็จะถึงคราวที่หนูจะสามารถอ่านให้ฟังบ้าง รับรองได้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะอัศจรรย์ใจกับความสามารถในการอ่านของหนูล่ะทีนี้

ชี้ชวนกันอ่าน ในทุกที่ที่มีตัวหนังสือตัวโตๆ
ความจริงแล้วหนูเริ่มเรียนรู้ว่าตัวหนังสือยึกยือนั้นไม่ได้มีแต่ในนิทาน เท่านั้น แต่มีอยู่เต็มไปหมดในทุกที่ คุณพ่อคุณแม่เก่งจริงๆ อ่านให้หนูฟังได้หมด และทำให้หนูเรียนรู้อีกว่าตัวหนังสือเหล่านี้มีความหมายต่อพวกเราอีกด้วย เช่น ทำให้เรารู้ว่าร้านขายขนมร้านโปรดชื่อร้านอะไร ป้ายตามถนนบอกให้รู้ว่าเรากำลังอยู่ที่ไหน และเวลาไปในร้านอาหาร คุณแม่ก็จะอ่านรายการอาหารให้เราเลือกสั่งมารับประทาน หนูก็เลยอยากอ่านมากขึ้นทุกวัน

ยิ่งหากคุณพ่อคุณแม่สอนให้หนูอ่านสิ่งที่หนูเห็นเป็นประจำ เช่น ป้ายต่างๆที่นั่งรถผ่านบ่อยๆหนูชอบแย่งอ่านทำเป็นอวดว่าหนูก็อ่านได้เหมือน กัน การจำคำง่ายๆเป็นพื้นฐานสำคัญของการอ่าน หนูยังไม่พร้อมที่จะสะกดคำ หรือมองตัวหนังสือแบบแยกเป็นตัวพยัญชนะที่เขียนติดๆ กัน แต่วิธีการอ่านสำหรับเด็กเล็กๆอย่างพวกหนู จะใช้วิธีการมองคำต่างๆ เหมือนกับเป็นภาพวาดภาพหนึ่ง มองเป็นภาพรวมๆ ที่ทำให้หนูอ่านป้ายบนทางด่วนที่คุณพ่อคุณแม่อ่านให้ฟังบ่อยๆได้ เช่น คำว่า "ท่าเรือ" "ดินแดง" เป็นต้น หรือแม้แต่คำภาษาอังกฤษ เช่น ESSO SHELL JET ดังนั้น สิ่งที่พวกหนูจะชอบใจมากก็คืออยากให้คุณพ่อคุณแม่อ่านสิ่งต่างๆ ที่ผ่านตาบ่อยๆ ให้หนูฟัง เพราะหนูกำลังพยายามหัดอ่านอยู่ตลอดเวลา
คุณพ่อคุณแม่คะ หนูอยากให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกสนุกไปกับการอ่านของพวกหนู ให้รู้สึกชื่นใจที่ทำให้หนูก้าวหน้าในการอ่านขึ้นทุกวัน หนูอยากให้รู้ว่าที่หนูรักการอ่าน ที่หนูอยากหยิบจับหนังสือมาอ่าน และเป็นเด็กที่รักการอ่านนั้นเกิดจากฝีมือและใจที่แสนดีของคุณพ่อคุณแม่ โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญเลยค่ะ



จาก: นิตยสาร Kids & School


ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-21 00:08:07 IP : 124.122.176.232


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1975931)
avatar
Admin

เคล็ดลับสร้างเจ้าหนู...นักอ่าน

โดย: แสนดี

“ทำอย่างไรให้ลูกรักการอ่าน”

Smart Tips มีคำตอบด้วยวิธีง่ายๆ ค่ะ เพราะการอ่านหนังสือให้สนุกต้องเกิดจากความเข้าใจและความรู้สึกอยากอ่านที่เกิดขึ้นภายใน จะทำให้เขาสามารถอ่านอย่างมีความสุขและก่อเกิดเป็นความรัก...การอ่านขึ้น จนเป็นนิสัยติดตัวไปจนโตค่ะ

การส่งเสริมและกระตุ้นให้เจ้าหนูรักการอ่าน คุณพ่อคุณแม่คือบุคคลสำคัญในการสร้างบรรยากาศแวดล้อมให้กับเจ้าหนูค่ะ เพราะเพียงแค่มีหนังสือดีๆ มากมายติดบ้านไว้เต็มตู้ เท่านี้ยังไม่พอ ต้องควบคู่ไปกับวิธีการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการหยิบจับหนังสือมาอ่าน ดังนี้ค่ะ


อุ่นเครื่อง...ชวนหนูอ่าน

1. สร้างความรู้สึกรักหนังสือและการอ่าน ทำให้การอ่านเป็นเรื่องสนุก โดยอ่านหนังสือหรือนิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ สร้างบรรยากาศประกอบการเล่าให้มีชีวิตชีวาเขาจะสามารถจินตนาการเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ อีกทั้ง การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง สมองของเจ้าหนูจะเกิดการเรียนรู้คำศัพท์ ความหมาย ด้วยความเชื่อมโยงของภาพกับท่าทางและน้ำเสียง

2. หาหนังสือหรือสมุดภาพที่มีภาพและเรื่องราวที่เขารู้จักและคุ้นเคยในชีวิตประจำวันมาอ่านและนั่งดูไปด้วยกัน เช่น ไก่ ดอกไม้ ต้นไม้ ผีเสื้อ จะทำให้เจ้าหนูเกิดความต้องการเรียนรู้มากขึ้น

3. การมีความรู้เดิมจากสิ่งที่กำลังอ่านสะสมอยู่ ด้วยการเล่าเรื่องหรือพูดคุยโดยมีสื่อต่างๆ ให้เห็นและจับต้องได้ เช่น แผนที่ รูปภาพ หรือของจริง ก่อนที่ให้เจ้าหนูอ่านหนังสือเรื่องนั้นๆ จะทำให้เขาอ่านด้วยความเข้าใจมากขึ้น เพราะเด็กจะใช้ความรู้เดิมในการแปลความ

4. สร้างแรงจูงใจเชื่อมโยงให้เข้ากับการอ่าน เช่น หนูน้อยชอบเครื่องบินเป็นชีวิตจิตใจ นิทานที่เกี่ยวกับเครื่องบินจะช่วยทำให้เขาอยากอ่านมากขึ้น และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้อีกด้วย

5. การเล่น คือ ครูเสริมสร้างทักษะการอ่านชั้นเยี่ยม เพราะเป็นการสร้างความสนใจและพัฒนาสมาธิ เช่น เกมจับคู่ โยงเส้นระหว่างคำศัพท์และรูปภาพ หรือเกมหาคำศัพท์จากรูปภาพ โดยเริ่มจากคำที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน คำเหล่านี้จะทำให้เขาเห็นภาพได้ดี

6. ชวนกันทำบัตรคำง่ายๆ เพื่อเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งอาจแยกบัตรคำเป็นหมวดหมู่ เช่น หมวดสัตว์

ประธาน เช่น กบ หมี กระต่าย
กิริยา – กิน เดิน กระโดด
กรรม – หญ้า แมลง

นำบัตรคำมาวางคู่กันเพื่อพัฒนาการผสมคำเป็นประโยคง่ายๆ ได้ เช่น กบกินแมลง กระต่ายกินหญ้า แล้วแต่คุณจะดัดแปลงค่ะ

7. จัดมุมหนังสือหรือชั้นหนังสือให้ลูกหยิบสะดวก โดยเฉพาะเล่มโปรดของลูกที่อยู่ใกล้มือจะช่วยกระตุ้นการอ่านของเขาได้ รวมทั้งมีหนังสือหลายแนว ที่เหมาะกับวัยของลูกผลัดเปลี่ยนมาให้ลูกอ่าน

8. พาเจ้าหนูไปห้องสมุด ร้านหนังสือ หรืองานหนังสือเป็นประจำ เพื่อให้ลูกได้เห็นบรรยากาศของการอ่านหนังสือ และต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกซื้อหนังสือตามใจชอบด้วยนะคะ การสร้างบรรยากาศเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้ลูกใส่ใจกับหนังสือและการอ่านมากขึ้นค่ะ

เอนหลังนั่งอ่าน…ไปด้วยกัน

เมื่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวพร้อม เจ้าหนูก็พร้อมแล้ว การใกล้ชิดลูกและแทรกการอ่านให้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งเสริมที่ทำได้ง่ายค่ะ

1. ให้ลูกช่วยคัดแยกจดหมาย บิลค่าน้ำ-ไฟ เจ้าหนูจะสนุกกับภารกิจการอ่านตรงหน้า และให้คำชมเป็นระยะๆ เขาจะรู้สึกภูมิใจค่ะ

2. เวลาออกไปนอกบ้าน ลองชี้ชวนให้ลูกอ่านป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ หรือรายการอาหาร ให้เขาได้รู้จักการอ่านในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการต่างจากหนังสือเป็นเล่มๆ

3. แม้ว่าเขาจะเริ่มอ่านหนังสือได้แล้ว แต่การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือผลัดกันอ่านกับลูกทีละหน้า โดยอ่านออกเสียงจะทำให้สามารถสังเกตพัฒนาการการอ่านของลูกได้ดีที่สุด สุดท้ายลองฝึกให้ลูกจับใจความจากเรื่องที่อ่าน เพื่อดูว่าลูกสามารถเข้าใจเรื่องราวที่อ่านได้แค่ไหน

การอ่านของลูกต้องพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปค่ะ เพราะการอ่านอย่างมีความสุขนั้นสำคัญที่สุด จากนั้นค่อยพัฒนาให้ลูกอ่านอย่างถูกต้องตามอักขระ วรรณยุกต์ คำควบกล้ำต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลถึงการเขียนได้ถูกต้องด้วยค่ะ


จาก: นิตยสาร Kids & School

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2009-08-21 00:09:36 IP : 124.122.176.232


ความคิดเห็นที่ 2 (1975932)
avatar
Admin
 

ฝึกจอมซนสนุกเล่นผ่านตัวหนังสือ


โดย: มีนมาศ

เล่นสนุกกับตัวหนังสือสื่อง่ายๆพาลูกเข้าสู่โลกของการอ่านกัน

ไม่ขอพูดพล่ามทำเพลงล่ะ เพราะหนนี้รับลูกมาจาก "ถึงเป็นพ่อแม่ ก็สอนลูกให้อ่านหนังสือได้" แบบเต็มๆ ข้อมูลของฟากนั้นเขาบอกเคล็ดลับมาว่า สอนด้วยวิธีธรรมชาติน่ะดีที่สุด เราเองเห็นด้วยเต็มประตูค่ะ จึงเตรียมกิจกรรมให้เจ้าตัวน้อยวัยก่อนอนุบาล (และคาบเกี่ยวไปถึงอนุบาล) เล่นสนุกกับตัวหนังสือไว้มากมายเชียวแหละ

กฎทอง 4 ข้อ ก่อนลุยเล่น
มีกฎการเล่นอยู่ 4 ข้อ คือ 1.ให้เริ่มจากง่ายไปหายาก เรียงไปตามลำดับขั้นตอนที่ให้มา 2.อย่าเล่นกับลูกแบบเอาเป็นเอาตาย เพราะอย่าลืมว่านี่คือ "การเล่น" นะคะ ไม่ใช่การหัดสะกดคำหรือการสอบ 3.ต้องเล่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งกลางคัน ครึ่งๆกลางๆ ถึงลูกจะเล่นไม่เป็น ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่บ่อยครั้งเข้าลูกจะจำได้เอง 4.อย่าคาดหวังสูงใจเย็นๆ ไม่เร่งเร้า ไม่รีบร้อน ประเดี๋ยวลูกจะลนลาน พาลเลิกเล่นเสียก่อนค่ะ

เมื่อเข้าใจกติกาตรงกันแล้ว เราก็มาเริ่มกันได้เลย เอ้า...ลุ้ยยยย

สัญลักษณ์รอบตัว
นึกถึงภาษาของชนชาวอียิปต์สมัยโบราณที่สื่อสารกันด้วยภาษาภาพฮีโรกราฟฟิค เกมนี้ก็ไม่ต่างกันนัก พาลูกออกนอกบ้านเมื่อไรเป็นได้เรียนรู้เมื่อนั้น ..ป้ายเข้าห้องน้ำ สัญลักษณ์ชาย หญิง ป้ายจราจร เช่น ระวังเด็กข้ามถนน ห้ามบีบแตร พวกนี้เป็นรูปง่ายๆเข้าใจได้ไม่ยาก หรือแม้แต่ในบ้านเอง เราจะพบป้ายภาพตามเสื้อผ้า ที่มีแถบเล็กๆ แสดงถึงการซัก การรีด หรือบนขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ ก็มีภาพหัวกระโหลกไขว้ แต่ละภาพลองถามลูกดูสิคะว่ารู้ไหมมันหมายถึงอะไร

ตามล่าหาตัวหนังสือ
ตัวหนังสือยาวๆ น่ะหาไม่ยาก แต่ตัวเดี่ยวๆ ที่อยู่โดดๆนี่สิ ต้องค่อยๆมองหา นั่นไงตัว M ของร้านแมคโดนัลด์ โน่นอีกเพียบ ป้ายทะเบียนรถ กข บ้าง ป บ้าง มาเดี่ยวๆ พร้อมกับตัวเลขอีกสี่ตัว ชี้ชวนลูกดู และอ่านให้ฟัง ทำซ้ำๆย้ำไปเรื่อยๆ

ขีดๆเขียนๆ
ขั้นตอนนี้ยังไม่ได้ให้ลูกเขียนเองทันทีทันใด แต่พ่อแม่ต่างหากจะเป็นคนลงมือ เขียนแล้วติดให้ลูกเห็น จนเริ่มชิน และคุ้นเคย วิธีการเขียนทำได้หลายแบบ เขียนแล้วระบายสีสวยๆ เขียนให้เห็นชัดด้วยสีเมจิก หรือเขียนด้วยวิธีตัดแปะจากกระดาษนิตยสารก็ได้ค่ะ
* เขียนชื่อสมาชิกในครอบครัวใต้จาน แก้วน้ำ ที่แขวนเสื้อ หรือบนเค้กวันเกิด
* วาดภาพสัญลักษณ์ พร้อมตัวหนังสือเต็มๆ ติดไว้ด้วยกัน เช่น ภาพแมวกำลังกินปลาทู ติดอยู่ใกล้ๆ คำ"อย่าลืมให้อาหารแมว"
* ทำหนังสือเอง ไม่ยุ่งยากเพราะใช้อัลบั้มรูปที่มีนั่นแหละ มาช่วยกันคัดเลือกรูปใหม่ใส่รูปที่ลูกชอบลงไป แล้วเขียนคำอธิบายตัวโตๆว่าเป็นภาพอะไร ครอบครัว ตัวหนูเองบ้าน สัตว์เลี้ยง เพื่อน หรือสถานที่เที่ยวสุดโปรด
* วางแผนจะไปซื้อของที่ตลาด หรือซูเปอร์มาร์เก็ตเมื่อไหร่ ชวนลูกมาร่วมคิดรายการของด้วย โดยตัวคุณพ่อคุณแม่เองอีกนั่นแหละ เป็นคนเขียนตัวหนังสือตัวโตๆ ลงไปว่าจะซื้ออะไรบ้าง แล้วทบทวนด้วยกันอีกที

อักษรสัมผัส
ทำบัตรคำ 2 ชุด แบ่งเป็นพยัญชนะ 44 ตัว และสระอีก 24 ตัว แต่เริ่มแรกอาจไม่ต้องทำจนครบก็ได้ ให้เลือกมาเฉพาะตัวอักษรง่ายๆ ก่อน ตัดกระดาษแข็งเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 4 X 4 นิ้ว จำนวน 2 แผ่นต่อหนึ่ง 1 ตัวอักษร แผ่นแรกให้เขียนตัวอักษรลงไปตัวโตๆ เจาะตามรูป ทากาวทาบลงบนกระดาษแข็งอีกแผ่น แล้วทากาวซ้ำตามรอยเจาะ ค่อยโรยทรายละเอียดปิดท้าย กลายเป็นตัวอักษรทรายสัมผัส ทีนี้ให้พ่อหรือแม่เล่นเป็นตัวอย่างให้ลูกดู ด้วยการใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางของมือขวา ลากไปบนตัวอักษรทรายเบาๆ พร้อมกับอ่านออกเสียงไปด้วย ทำเสร็จให้ลูกลองทำตามบ้าง

จับคู่เกม
ไม่ได้มีแค่เกมเดียว แต่มีให้เลือกเล่นหลายเกมจุใจ
* แบ่งหน้ากระดาษเปล่าออกเป็น 2 แถว แต่ละแถวเขียนคำสั้นๆลงไป มีทั้งคำที่เหมือนกัน ใกล้เคียงกัน และต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แล้วชวนลูกเล่น ด้วยการใช้ดินสอลาก เส้นโยงไปหาคำที่เหมือนกัน

* เขียนคำเกี่ยวกับของที่มีอยู่ในบ้าน (อาจระบุให้แคบลงว่าในห้องใดห้องหนึ่ง) ลงบนกระดาษแข็ง เสร็จแล้วยื่นทีละแผ่นให้ลูกไปหาว่าคำนั้นน่ะ หมายถึงสิ่งของชิ้นไหน เช่น ได้คำว่า "จาน" ลูกก็ต้องหยิบไปวางไว้ที่จานจริงๆ

* ชวนลูกรวบรวมข้าวของที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรต่างๆมาให้ได้มากที่สุด เป็นต้นว่า ขึ้นต้นด้วยก.ไก่ เอาล่ะสิมีอะไรบ้าง..กระดาษ กางเกง แก้ว กระป๋อง กระปุกออมสิน นึก ออกและรวบรวมเสร็จ วานคุณแม่ช่วยเขียนตัวก.ไก่ ตัวโตๆติดไว้ให้เห็นชัดๆด้วย ถ้าอยากเล่นต่อก็ค่อยเริ่มตัวใหม่
* เขียนคำลงบนกระดาษแข็งอีกเช่นกัน แต่คราวนี้ให้เสียบคลิปหนีบกระดาษติดไว้ด้วย แล้วทำเบ็ดตกปลาแม่เหล็ก (ตะเกียบไม้ผูกเชือกตรงปลาย แล้วผูกเข้ากับแท่งแม่เหล็กอีกทีหนึ่ง) พอพ่อหรือแม่บอกให้ตกคำว่า "หมู" ลูกก็ต้องเกี่ยวเบ็ด "หมู" ขึ้นมา พร้อมกับอ่านให้ฟังด้วย จะเกี่ยวผิดไปไม่เป็นไรน่า ค่อยๆบอกไปประเดี๋ยวลูกจะเรียนรู้ได้เอง

* เกมสำเร็จรูป เช่น โดมิโนรูปภาพ บิงโกตัวอักษร 2 อย่างนี้ช่วยฝึกปรือให้เด็กๆรู้จักคำได้อย่างแยบยล

อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
ไม่ยากเลยซักนิดกับข้อนี้ ลูกเราอยู่ในวัยไหนให้หาหนังสือที่เหมาะกับวัยนั้น เล็กหน่อยจับอุ้มนั่งตัก พ่อแม่อ่านไป ชี้ชวนลูกให้ดูภาพ ดูตัวหนังสือไปด้วย อบอุ่นใจดีชะมัด แต่อย่าลืมทำเป็นกิจวัตร ที่เหมือนกับการแปรงฟัน อ่านให้ฟังทุกวัน อย่างน้อยวันละ 10-15 นาทีจนลูกติด และรักการอ่าน

และแล้วขบวนตัวหนังสือค่อยๆ เคลื่อนมาถึงปลายทางแล้วล่ะค่ะ อาจล้มลุกคลุกคลาน หรือเจ้าตัวเล็กไม่ให้ความร่วมมือบ้าง แต่อย่าเพิ่งท้อค่ะ สร้างบรรยากาศให้ลูกคุ้นเคยกับตัวหนังสือ หรือติดหนังสือไว้ อย่างนี้นิสัยรักการอ่านจะไปไหนเสีย จริงมั้ยคะ...


จาก: นิตยสารรักลูก
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2009-08-21 00:10:29 IP : 124.122.176.232


ความคิดเห็นที่ 3 (1975935)
avatar
Admin

ฝึกลูกติดหนึบ..หนังสือเพื่อนรัก

โดย: บาหลี

เคล็ดวิธีฝึกลูกน้อยให้เป็นนักอ่านตัวยง
 
มีคำกล่าวที่ว่า อยากให้ใครเป็นอะไร ควรให้เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่หลอมรวมเขาให้เป็นอย่างนั้น แล้วถ้าอยากให้ลูกเป็นนักอ่านตัวยงล่ะ เราจะทำอย่างไรกันได้บ้างนะ

คุณแม่บางคนอาจตอบว่า ก็ต้องเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนบ่อยๆ สิ เดี๋ยวลูกก็จำได้เอง แล้วพอลูกจำได้ทีนี้พอเขาโตขึ้นอีกหน่อยเขาก็อยากอ่านนิทานเองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว

แต่คุณแม่บางคนอาจมีเทคนิคให้ลูกได้ลองเลือกนิทานเองว่า เรื่องไหนที่เขาอยากให้เราเล่าให้เขาฟัง เรียกว่าเทคนิคนี้บวกแนวคิด Child Centered เข้าไปด้วยนิดๆ แต่อย่างไรเสีย ถ้าอยากให้ลูกกลายเป็นหนอนน้อยเจ้าปัญญาจริงๆ ลองเริ่มต้นที่...

    * เล่านิทานให้ฟังก่อนนอนทุกวันเป็นไง เพราะเวลาก่อนนอนเป็นเวลาที่ลูกจะรู้สึกสงบ และผ่อนคลายที่สุด งานนี้ใครเล่าอะไรให้ฟังเป็นฟังหมดนั่นแหละค่ะ
 
    * ต่อรองให้ลูกผลัดกันเล่าบ้าง อ้าว...นี่ไม่ใช่เพราะเราขี้เกียจอะไรหรอกนะคะ แต่เรากำลังจะเริ่มฝึกลูกต่างหากล่ะว่า เขาสามารถลำดับเรื่องได้ดีแค่ไหนกัน

    * ลองเปลี่ยนตัวละครดูก็ได้นี่น่า ไม่ว่ากันอยู่แล้ว คืนนี้ใครอยากให้ใครเป็นตัวเอก จะเป็นเราบ้าง ลูกบ้าง หรือคุณพ่อบ้าง ก็สนุกทั้งนั้นแหละจ้า
 
    * เล่าไป ร้องไป หัวเราะไป เอ๊ะ...ฟังดูชักยังไงๆ อยู่ แม่ไม่ได้บ้านะจ๊ะลูกจ๋า แต่แม่เริ่มอินอย่างไรล่ะจ๊ะ เมื่ออินกับเรื่อง แม่ก็ต้องดัดเสียงบ้าง หรือเลียนเสียงเป็นเสียงสัตว์ต่างๆ บ้างเป็นธรรมดา แล้วที่ร้องเพลงให้ฟังประกอบเป็นซาวด์แทร็กซ์นั้นก็เพื่อจะให้ลูกติดตามเรื่องไปได้อย่างไม่รู้เบื่ออย่างไรล่ะ 
 
    * เล่าไป ถามไถ่กันไป ที่ให้ถามน่ะ ไม่ใช่เรื่องราวที่ลูกไปโรงเรียนแล้วไปเจออะไรมานะคะ แต่เป็นเรื่องราวที่ลูกกำลังฟังอยู่นั่นแหละ อย่างลองถามลูกว่า "เอ...ถ้าหนูเป็นเจ้าหมูตัวที่สามหนูจะทำอย่างไรกับหมาป่าดีล่ะจ๊ะ" แค่นี้ก็ได้ทดสอบความจำ และสมาธิของลูกเข้าให้แล้วล่ะค่ะ
 
    * เล่าไป สอนภาษาไปด้วย วิธีนี้เรียกได้ว่าเป็นการซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง เพราะไหนลูกจะรู้สึกสนุกกับนิทานที่เราเล่าแล้ว เขายังได้รู้ด้วยว่าหมูสะกดอย่างไร หรือหมาป่าภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าอะไร
 
     * แทรกศีลธรรมตอนเล่าให้ด้วยก็ดีนะจ๊ะ อย่างบอกลูกแค่เพียงว่า "เห็นไหมลูก หมาป่าเขานิสัยไม่ดี เขาก็ถูกนายพรานทำร้ายอย่างนี้นี่เองล่ะ ถ้าหนูเป็นเด็กดีเสียอย่าง ใครก็ทำร้ายไม่ได้หรอกลูก"
 
     * หัดให้ลูกเริ่มอ่านนิทานเอง เมื่อชั่วโมงบินลูกสูงมากขึ้น การฟัง การพูดทำได้ดีขึ้น ต่อไปก็ลองให้เขาเลือกนิทานมาอ่านให้เราฟังดูเป็นการตอบแทนสิคะ ค่าตอบแทนที่ให้ก็แค่หอมสักฟอดหนึ่ง หรืออ้อมกอดอันอบอุ่นก็พอแล้วน่า

เทคนิคเหล่านี้ควรทำไปพร้อมๆ กับให้อ้อมกอดและสัมผัสอันอบอุ่นจากคุณไปด้วย ทำสลับสับเปลี่ยนแต่ละเทคนิคไป แล้วแต่ความต้องการของหนูในแต่ละวัน แล้วถ้าทำอย่างนี้ทีละนิดทีละหน่อยทุกวัน มีรึลูกๆ ที่บ้านจะไม่กลายเป็นหนูน้อยผู้ติดหนึบกับกองหนังสือไปได้ในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า

จาก: นิตยสารรักลูก
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2009-08-21 00:20:40 IP : 124.122.176.232


ความคิดเห็นที่ 4 (2106831)
avatar
gucci

black human hair wigs clip on hair extensions may do the same thing for your wigs wigs stylesDo you want to be a blonde one costume hair wigs pre tipped hair extensions.

ผู้แสดงความคิดเห็น gucci (portu-at-google-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-10 19:03:10 IP : 125.126.157.28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.