ต่อ...
| |
 |
การชวนเด็กคุย และเงี่ยหูฟังคำตอบของเด็กๆ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนุกที่อยากชวนพ่อแม่ลองฟังสียงลูกๆ แสดงความคิดเห็น จะรู้ว่ามีความคิดที่น่าสนใจมากมาย ที่บางทีถ้าเราฟังแบบไม่สนใจเราก็อาจจะเสียโอกาสในการฟังโลกแห่งจินตนาการของลูก อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่นั่นคือโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ของเขา เชื่อว่า คนเป็นพ่อแม่ทุกคนต่างก็เคยได้ฟังโลกจินตนาการของลูกกันบ้างแล้ว และสิ่งเหล่านั้น ถ้าเรามองขำๆ แล้วผ่านไป เพราะมองว่าลูกไร้เดียงสาล่ะก็ น่าเสียดายจริงๆ แต่ถ้าเราลองคิดตาม เราจะเข้าใจว่าลูกเรามีความคิดอย่างไร สนใจสิ่งใด และเราอาจจะประหลาดใจเมื่อพบว่าโลกแห่งจินตนาการของเขาน่าทึ่งจริงๆ ค่ะ ฉบับนี้จะชวนเพื่อนๆ ผู้อ่าน มาช่วยกันนำโลกแห่งจินตนาการของเขา มาฝึกวิธีคิดต่อยอดให้เขา คิดบวก (Positive Thinking) ด้วยวิธีการง่ายๆ คือไม่ละเลยเรื่องที่เราคิดว่าเล็กๆ น้อยๆ แต่โปรดฟังเสียงลูกบ่อยๆ และช่วยกระตุ้นสิ่งดีๆ สอดแทรกกระบวนการคิด โดยเฉพาะเรื่องการคิดในเชิงบวก ลองมาดูวิธีการง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวกันหน่อย หนึ่ง ฝึกให้ลูกคิดหลายๆ แง่มุม ยกตัวอย่างหากมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง อาจจะช่วยลูกด้วยการฝึกว่าสามารถมองได้หลายมุม มีเรื่องให้ตัดสินใจก็มีหลากหลายวิธี และพยายามอธิบายว่าการมองหลายๆ มุม หรือตัดสินใจทางใด จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยพยายามใส่ทัศนคติที่ดี หรือวิธีคิดที่เป็นบวก เมื่อฝึกบ่อยๆ ก็จะติดตัวเขาไปด้วย ยิ่งถ้าเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยช่างซัก ช่างถาม ต้องเปิดโอกาสให้ลูกเป็นเจ้าหนูทำไม และพ่อแม่ก็อย่าขี้เกียจตอบ พยายามตอบให้ได้มากที่สุด และคำตอบก็ควรจะเป็นลักษณะถามลูกว่าแล้วลูกคิดอย่างไร เพื่อช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ ได้คิดต่อ ที่สำคัญ บางคำถามสามารถมีหลายคำตอบได้ ก็ชวนให้ลูกคิดตาม และพ่อแม่ก็สามารถสอดแทรกความคิดเห็นของตัวเอง หรืออธิบายในสิ่งที่เหมาะสมหรือยึดหลักคุณธรรม ก็จะทําให้ลูกน้อยรู้จักคิดต่อยอด และในที่สุดลูกจะรู้จักแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยใช้เหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ และรู้จักรับฟังเหตุผลของคนอื่นอีกด้วย การฝึกให้ลูกยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง จะทำให้ลูกรู้จักยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และสามารถเผชิญกับความผิดหวัง ความคิดในด้านลบก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งความคิดในด้านลบจะเป็นตัวขัดขวางเจ้าความคิดสร้างสรรค์ สอง - ฝึกให้ลูกมีจินตนาการ สามารถเริ่มได้ตั้งแต่แรกเกิด วิธีที่ง่ายที่สุด พ่อแม่ควรอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ สังเกตว่าลูกใส่ใจสิ่งใดก็ควรสนับสนุนหรือพาลูกไปเรียนรู้จากของจริง และพยายามหมั่นถามว่าสิ่งที่ลูกจินตนาการคืออะไร ช่วยกระตุ้นด้วยการตั้งคำถาม อาจให้เขาถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดก็ได้ ถ้า ฝึกลูกจากหนังสือนิทาน ก็จะนำไปสู่นิสัยรักการอ่าน และโลกแห่งการอ่านคือโลกสำคัญที่สุดของโลกจินตนาการ ในขณะที่พ่อแม่เป็นฝ่ายสนับสนุนโลกจินตนาการของลูกให้มองโลกในมุมบวก สาม ฝึกสร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับลูก ให้เขาได้มีความพยายามในการคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำสิ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ พ่อแม่อาจตั้งเป้าหมายเล็กๆ ให้เหมาะกับวัย และเมื่อเขาสามารถทำได้ก็ให้รางวัลด้วยการโอบกอด ชื่นชม ก็จะทำให้เขารู้สึกดีที่สามารถทำได้ และจากนั้นค่อยๆ ตั้งเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น โดยคำนึงถึงวัยและความเหมาะสมของลูกเป็นที่ตั้ง สิ่งสำคัญที่จะให้ลูกกระทำ ควรเป็นเรื่องดีๆ ที่จะช่วยซึมซับสิ่งดีๆ ให้กับลูก เช่น เมื่อลูกมีน้ำใจกับผู้อื่นก็ต้องชื่นชม และพูดคุยว่าการมีน้ำใจกับผู้อื่นจะนำไปสู่อะไรบ้าง สี่ ฝึกให้เผชิญปัญหาเอง อย่ากลัวว่าจะเห็นลูกผิดหวัง หรือล้มเหลว เพราะบทเรียนเล็กๆ น้อยๆ จะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อลูกโตขึ้น เพียงแต่พ่อแม่คอยเป็นผู้ให้คําแนะนํา และท้ายสุดก็จะทำให้ลูกเชื่อมั่นในตนเองอีกด้วย ห้า - เข้าใจเรื่องพัฒนาการตามวัยของเด็ก เพราะไม่ว่าคุณอยากส่งเสริมลูกเรื่องใดก็ตาม ถ้าไม่เข้าใจพัฒนาการ และลักษณะเฉพาะตัวของลูก ก็อาจกลายเป็นผิดวัตถุประสงค์ ได้ผลในทางตรงข้ามก็ได้ ฉะนั้นเรื่องพัฒนาการตามวัยเป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องแสวงหาข้อมูล และค้นหาความเป็นตัวตนของลูก เพื่อคอยเป็นคนแนะนำและสนับสนุนเรื่องวิธีการปฏิบัติตัวทั้งทางกาย วาจา ใจ ในเชิงบวก ไม่ใช่เรื่องยากเลยใช่ไหมคะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าปราศจากความสม่ำเสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ หล่อหลอมให้ติดตัวและมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีทักษะที่ดีในด้านอื่นๆ อีกด้วย ความคิดในเชิงบวกเป็นเรื่องจำเป็นในสังคมยุคปัจจุบัน การคิดบวกไม่ได้หมายความว่าไร้เดียงสา หรือไม่ทันคน แต่การคิดบวกหรือ การสร้างพลังบวก ช่วยส่งเสริมศักยภาพของตนเองได้มากมาย ทั้งยังสามารถแปรเปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ให้กลายเป็นดีได้อีกด้วย มาเริ่มคิดบวกตั้งแต่ในบ้านกันดีกว่าค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/ |