ReadyPlanet.com


เจ้าตัวเล็ก...ขี้อาย หรือ มั่นใจ...
avatar
ไพลิน



ขี้อาย หรือ มั่นใจในตนเอง

ในช่วงวัยนี้...ลูกน้อยในวัย 3ขวบจะมีความพร้อมทั้งทางร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส เขาจึงมักคึกคัก กระฉับกระเฉง อยากรู้อยากเห็น และกระตือรือร้นอยู่เสมอ ดังนั้นเพื่อพัฒนาความมั่นใจในตนเองของลูกรัก คุณพ่อคุณแม่ก็ควรใส่ใจตั้งแต่เริ่มช่วงวัยนี้ได้เลยครับ มิฉะนั้นลูกอาจกลายเป็นเด็กขี้อาย ขลาดกลัว หรือท้อแท้เซื่องซึม...

การวิจัยทางจิตวิทยาตั้งแต่ยุคเมื่อ 30 ปีก่อน กระทั่งถึงปัจจุบัน ล้วนสรุปผลออกมาตรงกันว่า ... ลักษณะบุคลิกภาพที่น่าชื่นชมมากที่สุดของเด็ก ก็คือ ความมั่นใจในตนเอง ( Self Confidence) (จากการวิจัยนักจิตวิทยาBowman Mathews และ Maxwell) เด็กที่มีคะแนนดีทางด้านการมองตนเองในแง่ดี ภาคภูมิใจในตนเอง มักจะเป็นเด็กที่ปรับตัวเก่ง ไม่ค่อยเครียด และเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆและคุณครู (จากการวิจัยของนักจิตวิทยา Williams and Cole, Teigland) ในขณะที่เด็กขี้อายมักจะมีปัญหาการเข้ากลุ่มเพื่อนไม่ได้ จนกลายเป็นเด็กเงียบเหงา แล้วก็ยิ่งไม่มั่นใจตนเองมากขึ้น เด็กที่ขี้อายไม่เชื่อมั่นในตนเอง(Low self-esteem) มักเริ่มจากความไม่มั่นใจในความรัก และการยอมรับจากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดู

เราจะป้องกันและแก้ปัญหานี้กันอย่างไร ?....... 3 สิ่ง ที่พ่อแม่ไม่ควรกระทำ

1.  รับเหมาไปหมด จริงๆแล้ว ธรรมชาติของเด็กวัยนี้ สิ่งแวดล้อมรอบตัวล้วนน่าสนใจเป็นที่สุด ยิ่งหากมีพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ดีมาตั้งแต่วัยทารก เมื่อถึงวัย 3 – 5 ขวบ อันเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง และอยาก “ลุย” แต่หากกิจกรรมประจำวันของลูก เช่น อาบน้ำ-ตักข้าว-ใส่เสื้อผ้า...อันควรฝึกฝน และปล่อยให้ลูกได้ลุยเอง แต่พ่อแม่กลับ “รับเหมา”ทำให้ลูกซะทั้งหมด นั่นเท่ากับปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนตนเอง ซึ่งโดยมากมักเป็นผู้ใหญ่ที่ช่างกังวล-จนเกินเหตุ (กลัวลูกจะทำพลาด จะผิด จะลำบาก) สะท้อนความไม่มั่นใจในตนเอง ให้เด็กรับรู้ได้

“...อย่า! เดี๋ยวเสื้อผ้ายับหมด”(เมื่อลูกจะช่วยเก็บผ้า)
“ไม่ต้องช่วยหรอก เดี๋ยวหนูทำน้ำหกเลอะบ้าน” (เมื่อลูกจะช่วยยกน้ำ)
“...ทำอย่างงั้นต้นไม้ก็ตายหมด..เข้าบ้านไป๊!..ให้พ่อรดเอง” (ลูกจะช่วยรดน้ำต้นไม้)

ขอให้คุณพ่อคุณแม่โปรดลดความกังวล กลัว และความคาดหวังที่สูงจนเกินเหตุบ้างเถิดครับ ไม่เช่นนั้นลูกก็จะตกอยู่ในความประหม่า ขี้อาย และไม่มั่นใจในตนเอง จนกลายเป็นบุคลิกที่ติดตัวตลอดไป
2.  วาจาเป็นพิษ อาจจะด้วยคิดว่าการพูดจาดูถูกดูแคลนเป็นสิ่งสร้างแรงฮึดให้แก่เด็กๆ อาจจะด้วยความเคยชินและไม่ตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมา จึงมีผู้ใหญ่ไม่น้อยเลย ที่ช่างไม่บันยะบันยังในการตำหนิติเตียนเด็กๆอย่างคล่องปาก...

“แค่นี้ก็ไม่รู้เรื่อง...ไม่เอาไหนเลย...โง่!”
“อย่าเรียนเลย มันไม่เหมาะกับเด็กขี้หลงขี้ลืมอย่างหนูหรอก”
“..โฮ้ย..หน้าตาอย่างแกน่ะรึ?..จะไปประกวด”
ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนทำให้ดวงใจน้อยๆของเด็กๆเกิดอาการฝ่อ มันทั้งห่อเหี่ยว ทั้งน้อยใจและแสนเจ็บปวด กระทั่งเกิดเป็นความมั่นใจ-ในเชิงลบ ที่อาจฝังใจไปตลอดชีวิต(Psychic Trauma) “เออ...ใช่! เรามันโง่เง่าไม่เอาไหนจริงๆด้วย ! (Low self-image)
3.  เป็น เผด็จการในครัวเรือน เด็กที่ดูหงอยๆ เศร้าๆ แววตาเต็มไปด้วยความขลาดกลัว เมื่อสืบสาวไปก็มักพบว่า ถูกอบรมจากผู้ใหญ่ที่ชอบเคี่ยวเข็ญบีบบังคับ และมีการลงโทษอย่างรุนแรงทั้งทางวาจา-ดุด่า ประจาน( Emotion abuse) และ ทางร่างกาย-เฆี่ยนตีรุนแรง (Physical abuse) เด็กจะอยู่รอดปลอดภัยก็ด้วยการหุบปากและอยู่นิ่งๆ... เพียงเท่านี้ก็คงไม่ต้องหวังกันแล้วล่ะครับ ว่า เด็กจะมีความมั่นใจในตนเอง...เพราะ...

...แม้แต่โลก...เขาก็ยังไม่มีวันไว้วางใจ !!!

พ่อแม่ที่อบรมสั่งสอนลูกด้วยความรุนแรงเข้าข่ายทารุณกรรมเช่นนี้ จัดว่าเป็นผู้ที่ขาดวุฒิภาวะอย่างแรง(Immature) มักเป็นคนที่โทสะแรง(Impulsive) มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ตนเอง และมักโยนความผิดต่างๆไปให้คนอื่น(Projection) โดยเฉพาะลูกน้อยของตนที่ต้องตกเป็นแพะรับบาปอยู่เสมอ แต่ยังโชคดีอยู่บ้าง...ที่พ่อแม่ประเภทนี้มีหลายคนก็รู้สึกผิด และรู้ว่าตนจะต้องได้รับการปรึกษา…

และ 3สิ่ง ที่พ่อแม่ควรกระทำ

1.  ให้กำลังใจลูก ทั้งด้วยคำพูด และการกระทำ ให้ความมั่นใจในตัวเขาในศักยภาพของเขาว่า “ลูกทำได้” เปิดโอกาสให้เขาฝึกฝน ลองผิดลองถูก แก้ตัวใหม่เมื่อพลาด แล้วอย่าลืมชมเชยเมื่อเขามีความมานะพยายาม และชื่นชมเมื่อเขาประสบความสำเร็จ
2.  ใช้วาจาให้เหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ ชมเชยลูกเมื่อทำดีทำถูก แต่มิได้หมายถึงชมกันตะพึดแม้ลูกทำไม่ดี การติเตือนลูกย่อมทำได้ แต่ควรติติงถึงพฤติกรรมที่ควรปรับปรุงของลูก เช่น “กินอิ่มแล้วอย่าวางทิ้งไว้อย่างนั้นซิจ้ะ..เอาไปล้างให้เรียบร้อยด้วย” ไม่ใช่ตำหนิติด่าที่ตัวตนของลูก “เอาจานไปล้างด้วย... เราเนี่ยมันเป็นเด็กขี้เกียจมากๆเลย...!”
3.  อย่ารอช้า ... ในเมื่อใครที่เป็นหวัดเป็นไข้ตัวร้อน ยังต้องรีบไปหาหมอให้รักษาก่อนจะบานปลายกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ ปัญหาทางจิตใจก็เช่นกันครับ...ไม่ควรปล่อยไว้ให้ทรมานตนเอง และเรื้อรังกระทั่งกลายเป็นเรื่องใหญ่และแก้ไขไม่ได้อีกต่อไป ให้รีบรุดไปปรึกษาขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ที่ท่านประจำอยู่แทบทุกโรงพยาบาล(ทั้งรัฐและเอกชน) เช่น.....

สายด่วนสุขภาพจิต(กรมสุขภาพจิต) 1667 มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ 02-762950
ศูนย์สายใยครอบครัว(รพ.ศรีธัญญา) 02-5252333-5
ศูนย์สุขวิทยาทางจิต(ตรงข้าม รพ.รามาฯ) 02-2461195 02-2458016

โปรดเปิดโอกาสให้ลูกคิด ตัดสินใจ และ ลงมือทำ อย่าละเลยการชมเชยเมื่อลูกทำดีทำถูก และติงเตือนเมื่อลูกทำผิด ชี้แนะหนทางที่เหมาะสมและให้กำลังใจ เมื่อลูกทำพลาด และ โปรดละเว้นการตำหนิด่าทอ หรือถากถางให้ลูกเจ็บปวดและหมดความมั่นใจในตนเอง.....


ผู้ตั้งกระทู้ ไพลิน :: วันที่ลงประกาศ 2008-03-10 19:20:36 IP : 124.120.110.103


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2106763)
avatar
jane

long hair extensions wigs hair pieces either styled by air drying and setting wigs expencive Desingers pieces like remi human hair how to put hair extensions.

ผู้แสดงความคิดเห็น jane (debra-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-10 18:54:13 IP : 125.126.157.28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.