ReadyPlanet.com


รู้จัก ทฤษฎีพหุปัญญา ของสาธิตเกษตร อมตะนคร
avatar
Admin


 ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences)

 

การจะบอกว่าเด็กคนหนึ่งฉลาด หรือมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ถ้าเรานำระดับสติปัญญาหรือไอคิว ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาเป็นมาตรวัด ก็อาจได้ผลเพียงเสี้ยวเดียว เพราะว่าวัดได้เพียงเรื่องของภาษา ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมิติสัมพันธ์เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่แบบทดสอบในปัจจุบันไม่สามารถวัดได้ครอบคลุมถึง เช่น เรื่องของความสามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางศิลปะ เป็นต้น

ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย โดยคิดเป็น “ ทฤษฎีพหุปัญญา ” (Theory of Multiple Intelligences) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป

ในปี พ.ศ. 2526 การ์ดเนอร์ ได้เสนอว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านการเข้าใจตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ด้าน คือ ด้านธรรมชาติวิทยา เพื่อให้สามารถอธิบายได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า พหุปัญญา ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 8 ด้าน ดังนี้

1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)

คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง

2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)

คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร

3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)

คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์

สายวิทย์ ก็มักเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์ ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น

4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence)

คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม

5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)

คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง

6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)

คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต เซลแมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ

7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)

คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใด

มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย

8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)

คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ

ทฤษฎีนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้

1. แต่ละคน ควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ปัญญาด้านที่ถนัด เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้

2. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ควรมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับปัญญาที่มีอยู่หลายด้าน

3. ในการประเมินการเรียนรู้ ควรวัดจากเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถครอบคลุมปัญญาในแต่ละด้าน

ทฤษฎีพหุปัญญา ของการ์ดเนอร์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีหลายด้าน หลายมุม แต่ละด้านก็มีความอิสระในการพัฒนาตัวของมันเองให้เจริญงอกงาม ในขณะเดียวกันก็มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน แสดงออกเป็นเอกลักษณ์ทางปัญญาของมนุษย์แต่ละคน

คนหนึ่งอาจเก่งเพียงด้านเดียว หรือเก่งหลายด้าน หรืออาจไม่เก่งเลยสักด้าน แต่ที่ชัดเจน คือ แต่ละคนมักมีปัญญาด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่มีปัญญาทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่มีเลยสักด้านเดียว

นับเป็นทฤษฎีที่ช่วยจุดประกายความหวัง เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาด้านสติปัญญาของมนุษย์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในกลุ่มเด็กปกติ เด็กที่มีความบกพร่อง และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ

 

บทความโดย

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 



ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-15 22:05:11 IP : 124.120.93.25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2006860)
avatar
Admin

แนวคิดการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาพหุปัญญา

                                การจะใช้พหุปัญญาใน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อย่างไรนั้นเราคงต้องเริ่มต้นด้วยเป้าหมายและค่านิยมของการศึกษา เช่น สอนเพื่อเข้าใจ เพื่อเตรียมบุคคลให้ทำงานเมื่อจบจากโรงเรียนแล้ว การพัฒนาศักยภาพของคนอย่างเต็มที่หรือสอนให้เด็กเชี่ยวชาญในวิชาหลัก เราจึงจะตอบได้ว่า พหุปัญญา (MI) จะนำมาใช้ได้อย่างไร ดร.การ์ดเนอร์ เห็นว่า พหุปัญญาจะเป็นเครื่องมือที่ดีเลิศในการเรียนการสอน  จากทฤษฎีดังกล่าวนี้ มี แนวคิดสำคัญคือ ความฉลาด ความเก่งหรือปัญญาของมนุษย์มีหลากหลาย จึงมีความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องได้รับการส่งเสริมให้ถูกทางเต็มที่ เพื่อให้ความเก่งของมนุษย์ปรากฏออกมาอย่างเต็มที่ ด้วยแนวคิดนี้ ครูควรค้นศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน และเมื่อพบแล้วก็ให้โอกาสนักเรียนได้พัฒนาความสามารถตามศักยภาพนั้น ซึ่งมีแนวทางกว้าง ๆ ดังนี้     

1) ทำความรู้จักและเข้าใจนักเรียนแต่ละคน เช่น ศึกษาประวัติ เพื่อให้ทราบภูมิหลัง จุดเด่น จุดด้อย สภาพจิตใจ ความคิด ความฝัน ความทุกข์ ความสุข แล้วจัดทำข้อมูลไว้  

2) ปฏิบัติตนให้นักเรียนเกิดความรัก ศรัทธา และไว้วางใจ ด้วยการเป็นกัลยาณมิตร รักษาความลับ มีความจริงใจ พร้อมที่จะช่วยเหลือ ให้สติและให้กำลังใจ  

3) จัดการเรียนการสอนโดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้นักเรียนได้เรียนเป็นกลุ่ม ได้ทำกิจกรรมและสร้างผลงานอย่างหลากหลายตามความสามารถ  

4) สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียน ตลอดจนการร่วมมือกับผู้ปกครองในการสร้างเสริม ดูแลสิ่งแวดล้อมที่บ้าน 

5) ใช้เทคนิคการแนะแนว เพื่อให้สามารถสังเกตศักยภาพด้านต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข  

6) ใช้การประเมินผลด้วยวิธีที่เหมาะสมและครอบคลุมตามสภาพจริงของนักเรียน เช่น การทดสอบความรู้พื้นฐาน การประเมินจากแฟ้มผลงาน การประเมินกระบวนการทำงาน การประเมินจากพัฒนาการลักษณะนิสัย และการวัดความสามารถพิเศษด้วยข้อสอบมาตรฐาน                           

แคมป์เบลล์ (Campbell.1997) ได้กล่าวถึงการใช้พหุปัญญาในห้องเรียน ดังนี้  1) ใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียน เช่น เด็กบางคนอาจจะเข้าใจกราฟหรือพีชคณิต หรือเรขาคณิตบนกระดานดำยาก ครูจึงทำสนามเล่นหน้าโรงเรียนเป็นแกนกราฟ ครูนำนักเรียนมาทำกราฟที่สนามโดยทุกคนเป็นจุด ๆ หนึ่งบนเส้นกราฟ หรือในออสเตรเลีย โรงเรียนแห่งหนึ่งมีสนามเล่นปูอิฐเป็นรูปสุริยจักรวาล ครูนำเด็กมาเรียนดาราศาสตร์ในสนาม เด็ก ๆ เป็นดวงดาวต่าง ๆ หมุนรอบดวงอาทิตย์ เป็นต้น   2. ใช้ในการเสริมบทเรียน โรงเรียนในอเมริกาหลายโรงจัดสัปดาห์พหุปัญญา โดยพยายามใช้ปัญญาหลายอย่างในการเข้าใจบทเรียน เช่น ใช้ศิลปะหรือการละคร ในการเรียนวรรณคดีหรือเรียนดาราศาสตร์ หัวข้อสุริยจักรวาล โดยการใช้ปัญญาทางตรรกะและคณิตศาสตร์วัดระยะทางระหว่างดวงดาวที่สนามเล่น เดินเป็นดาวต่าง ๆ รอบดวงอาทิตย์ (ความสามารถทางกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว) เขียน หรือพูดบรรยายเกี่ยวกับสุริยจักรวาล (การใช้ภาษาพูดและเขียน) เป็นต้น แต่ละบทเรียนไม่จำเป็นต้องใช้ทุกปัญญา   3. ใช้ในการส่งเสริมการทำงานด้วยตนเองโดยครูให้เด็กคิด ริเริ่ม ค้นคว้า ดำเนินงานและรายงานผลการทำโครงงานของตนเอง ซึ่งเด็กมีโอกาสใช้แทบทุกปัญญาทั้ง 8 รายการได้  4. ใช้ในการประเมินผล นั่นคือให้เด็กที่ทำโครงงานเสนอโครงงานหรือแสดงโครงงานและฝึกประเมินโครงงานของตนโดยตนเอง และให้เพื่อน ๆ ช่วยประเมินด้วย เด็กจะได้ฝึกปัญญาต่าง ๆ หลายด้านเช่นกัน    5. การฝึกเป็นลูกเสือ ในข้อนี้ ดร.การ์ดเนอร์ ได้เสนอให้นักเรียนประถมและมัธยมฝึกเป็นลูกมือหรือฝึกงาน 3 ด้านคือ (1) ด้านศิลปหัตถกรรม (2) ด้านวิชาการ และ (3) ด้านร่างกาย เช่น กีฬาหรือกิจกรรมการแสดงกับสถานที่หนึ่ง โดยความร่วมมือของชุมชน

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2009-11-15 22:08:03 IP : 124.120.93.25


ความคิดเห็นที่ 2 (2006863)
avatar
Admin
  แนวทางในการส่งเสริมพหุปัญญาในด้านต่างๆ
   การส่งเสริมพหุปัญญาในด้านต่าง ๆ นั้นมีการนำพหุปัญญาไปใช้ในห้องเรียนเพราะ การ์ดเนอร์ เห็นว่าพหุปัญญาจะเป็นเครื่องมือที่ดีเลิศในการเรียนการสอน Campbell กล่าวถึงการใช้พหุปัญญาในห้องเรียน ดังนี้
   1. ใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียน เช่น เด็กบางคนอาจจะเข้าใจกราฟและพีชคณิตหรือเรขาคณิตบนกระดานดำยาก ครูจึงทำสนามเล่นหน้าโรงเรียนเป็นกราฟ ครูนำนักเรียนมาทำกราฟที่สนามโดยทุกคนเป็นจุดๆ หนึ่งบนเส้นกราฟ หรือในออสเตรเลียโรงเรียนแห่งหนึ่งมีสนามเล่นปูอิฐเป็นรูป สุริยะจักรวาล ครูนำเด็กมาเรียนดาราศาสตร์ในสนามเด็ก ๆ เห็นดวงดาวต่าง ๆ หมุนรอบดวงอาทิตย์ เป็นต้น
   2. ใช้ในการเสริมบทเรียนโรงเรียนอเมริกาหลายโรงจัดสัปดาห์พหุปัญญา โดยพยายามใช้ความสามารถทางสติปัญญาหลายหลายอย่างในการเข้าใจบทเรียน เช่น ใช้ศิลปะหรือการละครในการเรียนวรรณคดีหรือเรียนดาราศาสตร์ หัวข้อสุริยะจักรวาลโดยการใช้สติปัญญาทางตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์วัดระยะทางระหว่างดวงดาวที่สนาม เดินเล่นเป็นดาวต่าง ๆ รอบดวงอาทิตย์ (ความสามารถทางกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว) เขียนหรือพูดบรรยายเกี่ยวกับสุริยะจักรวาล (การใช้ภาษาพูดและเขียน) เป็นต้น แต่ละบทเรียนไม่จำเป็นต้องใช้ทุกสติปัญญา.
   3. ใช้ในการส่งเสริมการทำงานด้วยตนเองโดยครูให้เด็กได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยการคิด ริเริ่ม ค้นคว้า ดำเนินงาน และรายงานผลการทำโดยการสร้างผลงานในโครงงานของ ตนเองซึ่งเด็กมีโอกาสใช้แทบทุกสติปัญญาทั้ง 8 รายการได้
   4. ใช้ในการประเมินผล นั่นคือ ให้เด็กที่ทำโครงงานเสนอโครงงานหรือแสดงโครงงานและฝึกประเมินโครงงานของตนโดยตนเองและให้เพื่อน ๆ ช่วยประเมินด้วย เด็กจะได้ฝึกสติปัญญาต่าง ๆ หลายด้านเช่นกัน
   5. การฝึกเป็นลูกมือ ในข้อนี้การ์ดเนอร์ได้เสนอให้นักเรียนประถมและมัธยมฝึกเป็นลูกมือหรือฝึกงาน 3 ด้าน คือ 1. ด้านศิลปะหัตถกรรม 2. ด้านวิชาการ และ 3. ด้านร่างกาย เช่น กีฬาหรือ กิจกรรมการแสดงกับสถานที่หนึ่งโดยความร่วมมือของชุมชน ที่กล่าวมาแล้วเป็นการใช้สติปัญญาในการช่วยเสริมความเข้าใจในวิชาการต่าง ๆ และขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาความสามารถทาง สติปัญญาด้านต่าง ๆ ไปด้วย ถ้าหากโรงเรียนจะต้องการพัฒนาพหุปัญญาในตัวเด็กก็อาจจะทำได้โดยให้เด็กฝึกกิจกรรมต่าง ๆ ดังรายการต่อไปนี้
     (1) สติปัญญาทางด้านภาษาพูดและภาษาเขียน ครูอาจจะใช้กระบวนการอภิปรายโต้วาที เขียนโคลงกลอน นวนิยาย สัมภาษณ์หรือฝึกการพูดต่อสาธารณชน เป็นต้น
     (2) สติปัญญาเชิงตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น ออกแบบและทำการทดลอง เขียนอุปมาอุปมัย อธิบายอะไรสักอย่าง อธิบายรูปแบบหรือสมการ เปลี่ยนข้อความโจทย์เลขเป็นสูตรคณิตศาสตร์ เป็นต้น
     (3) สติปัญญาทางกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น สร้างหรือทำอะไรสักอย่าง แสดงความเคลื่อนไหวทางร่างกาย เพื่ออธิบายอะไรอย่างทำอะไรมาแสดงหน้าชั้น จัดนิทรรศการและทัศนศึกษา เป็นต้น
     (4) สติปัญญาทางภาพมิติ เช่น นำกราฟ แผนที่ แผนภูมิ ทำศิลปะวัตถุ แสดงภาพถ่ายหรือภาพเขียน เป็นต้น
     (5) สติปัญญาด้านดนตรี แสดงการเล่นดนตรี ร้องเพลง เพื่ออธิบายอะไรอย่างหนึ่ง ทำ อุปกรณ์ดนตรีและแสดงให้ดู เป็นต้น
     (6) สติปัญญาด้านสังคมหรือเข้าใจคนอื่น เช่น จัดประชุมเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมใน กิจกรรมบริการชุมชน สอนใครสักคนให้ทำอะไรสักอย่าง ฝึกการให้และรับข้อมูลป้อนกลับ เป็นต้น
     (7) สติปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง เช่น บรรยายความสามารถของตนเองในการทำงานอะไรสักอย่างสำเร็จ กำหนดเป้าหมายของงานและดำเนินการจนบรรลุเป้าหมาย บันทึกประจำวัน เรื่องใดเรื่องหนึ่งของตน ประเมินผลงานของตนเอง เป็นต้น
     (8) สติปัญญาด้านการเข้าใจสภาพธรรมชาติ เช่น ทำสมุดบันทึกการสังเกตอะไรใน ธรรมชาติสักอย่าง บรรยายการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมแห่งใดแห่งหนึ่ง เลี้ยงสัตย์เลี้ยงหรือ ดูแลต้นไม้ สังเกตนกหรือสัตว์ป่า เขียนหรือถ่ายภาพวัตถุธรรมชาติ เป็นต้น
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2009-11-15 22:11:01 IP : 124.120.93.25


ความคิดเห็นที่ 3 (2106683)
avatar
sible

gucci wallets louis vuitton replica earning it the title of Hollywoods louis vuitton women many fashion houses are gucci replica gucci.

ผู้แสดงความคิดเห็น sible (lydia-at-aol-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-10 18:42:55 IP : 125.126.157.28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.