ReadyPlanet.com


เวลานาที ของ คนตัวเล็ก
avatar
Admin


"เวลานาที" ของคนตัวเล็ก

 

 

โดย: ดาวาว

  

 

พี่สาวคนดีของฉันเลี้ยงลูกมาก็หลายปี ฝึกลูกมาก็หลายอย่าง (แถมได้ผลดีซะด้วย) แต่ไหงทำไมมาจนแต้มเอาที่เรื่องโอ้เอ้ไม่เป็นเวลา และการดูนาฬิกาไม่เป็นของลูกสาวก็ไม่รู้ นี่เลยกลายเป็นการบ้านที่พี่สาวฉันฝากให้มาช่วยขบคิด และหาวิธีมาสอนให้แม่หลานสาวได้เรียนรู้และรู้จักเวล่ำ เวลากับเขาบ้าง

งานนี้จะว่าเป็นงานยากหรืองานหินเลยก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าจะให้เข้าเป้าและได้ผลแน่นอนฉันว่าต้องพึ่งคุณครูอนุบาลที่คลุกคลีกับเด็กๆ มาเป็นอย่างดีจะเหมาะกว่า ว่าแล้วฉันก็รีบไปถามไถ่ครูที่โรงเรียนอนุบาล ว่าเขามีกลเม็ดเด็ดพรายในการสอนเด็กๆ ให้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องของเวลากันยังไงบ้าง รับรองค่ะว่าไม่ได้มุบมิบเอาไปฝากเฉพาะพี่สาวตัวเอง แต่เอามาฝากคุณพ่อคุณแม่ที่อ่านคอลัมน์นี้ด้วย

อาจารย์ที่ฉันไปถามไถ่มา ทั้งอาจารย์มาลี วรปัญญา (โรงเรียนอนุบาลโชติมา) และอาจารย์รุ่งรวี กนกวิบูลย์ศรี (โรงเรียนอนุบาลสามเสน) ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันค่ะ ว่าการจะสอนเด็กวัยอนุบาลให้เรียนรู้เรื่องเวลาหรือเรื่องไหนๆ ก็แล้วแต่ ต้องใช้กิจกรรมเป็นสื่อ จะมานั่งพูด นั่งสอนให้ลูกท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทองเห็นท่าว่าจะไม่ได้ผล

ทั้งนี้เพราะการรับรู้เรื่องเวลาของเด็กๆ ไม่ได้แสดงออกด้วย ความสามารถในการบอกเวลาหรือเข้าใจ นาฬิกา นาที วัน เดือน ปีเหมือนผู้ใหญ่ แต่แสดงออกโดยผ่านกิจกรรมที่ตัวเองทำ

คือรู้ลำดับก่อนหลัง เช่น อาบน้ำแล้วแต่งตัว กินข้าวแล้วถึงได้กินไอศกรีม เป็นต้น และจะโยงลำดับเวลาของวันได้จากลำดับกิจกรรมที่ตัวเองทำ ฉะนั้นกิจกรรมที่ช่วยสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องเวลาได้ดีที่สุด จึงเป็นเรื่องของกิจวัตรประจำวันของลูกเองนั่นแหละค่ะ

 

* กิจวัตรประจำวันต้องสม่ำเสมอ ถือเป็นแบบฝึกหัดเริ่มต้นของการบริหารเวลาสำหรับเด็ก เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกเกิดความเคยชินและสามารถปฏิบัติกิจวัตรได้เป็นประจำด้วยตัวของเขาตัวเอง รู้จักเวลาว่าตอนนี้ต้องทำอะไร

การฝึกให้ลูกเคยชินกับกิจวัตรเท่ากับเป็นการฝึกให้ลูกเป็นเด็กตรงต่อเวลา รับผิดชอบหน้าที่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการเรียนรู้เรื่องการวางแผนต่อไปค่ะ

 

* ย่นเวลายืดยาดของลูกให้สั้นลง สร้างบรรยากาศสนุกสนานขณะลูกทำกิจวัตรส่วนตัว ด้วยกลวิธีต่างๆ เช่น แข่งกันทำเร็ว ช่วยกันเสร็จไว ทำได้ให้ดาว ติดสต๊กเกอร์ บอกให้รู้ว่าเสร็จจากนี้มีเรื่องสนุกๆ รออยู่ "ถ้าหม่ำข้าวหมดก่อนเข็มยาวชี้เลข 6 ก็จะได้ดูการ์ตูนที่หนูชอบ" เป็นต้น

 

นอกจากความสม่ำเสมอในกิจวัตรประจำวันแล้ว บทเรียนเรื่องของเวลายังสามารถสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมระหว่างวันเหล่านั้นได้ด้วย โดยการการพูดคุยให้ข้อมูลและชี้ชวนให้ลูกสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อให้ลูกนำไปคิดเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของเวลา เช่น

 

* สังเกตกิจวัตรของคนรอบตัว เช่น "ลุงส่งหนังสือพิมพ์จะมาตอนเช้าหรือตอนเย็นนะ" หรือ "ป้าทำกับข้าวเย็นแล้วเดี๋ยวคุณพ่อก็กลับมาแล้วใช่ม้า"

 

* ธรรมชาติสอนหนูเรียนรู้ เช่น "พระอาทิตย์ตื่นแล้วเราตื่นกันเถอะลูก" หรือ "ฟัามืดๆ อย่างนี้เราจะเห็นพระอาทิตย์หรือพระจันทร์นะ" หรือ ให้สังเกตต้นไม้ ดอกไม้ที่ในระหว่างวันมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ดอกคุณนายตื่นสาย หรือ นกบินกลับรังในตอนเย็น

 

* กิจกรรมในครัว เช่น ต้มไข่ แล้วให้ลูกทายดูว่าไข่จะกินได้ตอนที่เข็มยาวของนาฬิกาชี้ไปที่เลขใด แล้วเมื่อถึงเวลาที่ลูกชี้ก็ลองปอกไข่ออกมาว่าไข่เป็นอย่างไร ถ้าลูกยังสนใจกิจกรรมนี้อยู่ วันต่อไปก็ทวนว่าวันนี้เขากำหนดไว้ที่เลขอะไร แล้วลองเพิ่มหรือลดเลขดู แล้วเอาผลไข่ที่ต้มแล้วให้ลูกดู

 

* ปลูกต้นไม้ มอบหน้าที่รดน้ำต้นไม้เช้า เย็น ใช้ปฏิทินที่มีสติกเกอร์สีประจำวันติดเข้ามาช่วยเพื่อให้ลูกเรียนรู้เรื่องการดูปฏิทินไปด้วยในตัว วันนี้ลูกรดน้ำต้นไม้แล้วก็ให้ไปทำเครื่องหมายที่วันในปฏิทิน

ถ้าหนูๆ ที่โตหน่อยก็ให้สังเกตการเจริญเติบโตของต้นไม้ แต่ต้องเลือกต้นที่โตไวหน่อย เช่น ถั่วงอก ไม่อย่างนั้นเด็กๆ จะเบื่อไปเสียก่อน ให้ลูกสังเกตช่วยกันวาดรูปหรือจดบันทึกว่าแต่ละวัน ตันไม้งอกออกมายาวเท่าไหร่ เปลี่ยนไปยังไงบ้าง

 

* นิทานนาฬิกา สมุดนิทานเดี๋ยวนี้มีตั้งหลายแบบ ลองเลือกแบบที่เป็นรูปนาฬิกามาเล่านิทานให้ลูกฟังบ้างสิคะ นิทานเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะพูดถึงกิจกรรมที่เชื่อมกับเวลา ระหว่างเล่าคุณแม่ก็หมุนเข็มนาฬิกาตามไปด้วย และถามกลับให้ลูกตอบ บ่อยเข้าลูกก็จะชินถึงแม้จะยังอ่านนาฬิกาไม่ได้แต่ก็พอตอบได้ล่ะ ว่าเข็มสั้นชี้เลข 8 เขาเรียก 8 โมง เป็นการปูพื้นฐานเรื่องการอ่านนาฬิกาให้ลูกไปด้วย

นาฬิการู้ได้เมื่อไหร่ดี

 

* ขึ้นกับความพร้อมและความสนใจของเด็ก แต่ต้องหลังจากน้องหนูนับเลขเป็นก่อนนะคะ

 

* เมื่อเริ่มสอนอย่าเพิ่งเอาจริงเอาจังว่าลูกต้องอ่านนาฬิกา นาทีได้ เอาแค่ให้รู้ว่าเข็มสั้นชี้เลขไหนให้เรียกเท่านั้นนาฬิกา เช่น เข็มสั้นชี้เลข 10 สิบนาฬิกา เท่านี้เป็นพอ ส่วนเข็มนาทีเก็บไว้ให้หนูแม่นในบทเรียนแรกเมื่อไหร่ค่อยเริ่มกัน

 

* ถ้าช่วงเวลาที่เข็มสั้นไม่ได้อยู่ตรงตัวตัวเลข ให้ยึดว่าเข็มอยู่ใกล้เลขใด เช่น เวลาที่นาฬิกาเป็น 10.50 ลูกก็ควรจะตอบว่า 11 นาฬิกา

 

* ระหว่างวันเมื่อจะเรียกหรือชวนให้ลูกทำอะไร น่าจะระบุเวลาพร้อมกับชี้ไปที่นาฬิกา เพื่อให้ลูกเคยชินกับการดูนาฬิกา เช่น "6 โมงแล้วเราไปอาบน้ำกันเถอะจ้ะ" หรือ "เข็มยาวชี้เลข 3 การ์ตูนที่หนูชอบมาแล้วเห็นมั้ย"

 

 

ขอขอบคุณ : อาจารย์มาลี วรปัญญา โรงเรียนอนุบาลโชติมา และ อาจารย์รุ่งรวี กนกวิบูลย์ศรี โรงเรียนอนุบาลสามเสน

 

 

 
จาก: นิตยสาร Modern Mom



ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-07 23:04:03 IP : 58.11.239.222


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.