ReadyPlanet.com


ทำไงดี . . .เมื่อลูกอิจฉาน้อง
avatar
ครูจอย


คุณครูไปอ่านเจอบทความโดนใจคะ  คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านที่กำลังเจอปัญหานี้ คงสบายใจขึ้นนะคะ

   
ลำพังเจ้าจอมป่วนวัยซนเพียงคนเดียวก็ทำให้คุณแม่ต้องปวดหัวกับพฤติกรรมแปลกๆ ของลูก ที่มีมาท้าทายไหวพริบแทบทุกวันอยู่แล้ว มาวันนี้คุณแม่กำลังจะมีน้องใหม่ให้เขา แต่เคยได้ยินคำร่ำลือมาอีกว่า เด็กเล็กที่มีน้องใหม่ จะรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์ ทำให้มีปัญหาพฤติกรรมมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว (ว่าที่) คุณแม่ลูกสองยิ่งอดเป็นกังวลล่วงหน้าไม่ได้ใช่ไหมคะ ถ้างั้นคุณแม่มาเตรียมตัว เตรียมใจลูก ให้พร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่ในครอบครัวกันค่ะ

มีน้องใหม่ ส่งผลอย่างไรต่อลูก

อาการอิจฉาน้อง มีสาเหตุเริ่มต้นจากเวลาที่แม่มีให้เขาลดน้อยลงตั้งแต่ตั้งครรภ์ ต้องดูแลร่างกายตนเองมากขึ้น ทำให้เล่นกับเขาไม่ได้เหมือนเดิม พอหลังคลอดต้องเอาเวลาเกือบทั้งหมดไปดูแลอุ้มน้อง ให้นมน้อง แต่ไม่ได้อุ้มเขาเหมือนเดิม ทำให้ลูกวัยเตาะแตะเกิดความไม่แน่ใจว่าแม่ยังรักเขาเหมือนเดิมหรือเปล่า ความรู้สึกอิจฉาน้อง จึงเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่การแสดงออกของลูกจะเป็นตัวชี้วัดว่า ความอิจฉานี้เหมาะสมหรือไม่

• หากลูกพูดว่า หนูไม่ชอบน้อง แล้วมีอาการอ้อนแม่ หรืองอแงมากขึ้น แต่เขาก็ยังสามารถช่วยแม่ดูแลน้อง ช่วยหยิบของ หรือเล่นกับน้องได้บ้าง ก็ยังถือว่าเป็นการอิจฉาในเกณฑ์ปกติ

• ส่วนความอิจฉาในระดับรุนแรง เช่น อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ มีพฤติกรรมถดถอย หรือถึงขั้นแกล้งน้อง ทำร้ายน้อง ถือเป็นความอิจฉาที่อันตราย แต่คุณแม่อย่าเพิ่งตื่นตกใจ เพราะสามารถแก้ไขด้วยการให้เวลาพูดคุย ทำความเข้าใจ และเอาใจใส่ลูกให้มากขึ้นได้

ตั้งแต่ตั้งท้องเตรียมใจลูก…พร้อมรับน้องใหม่

การอธิบายให้ลูกเข้าใจตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์โดยใช้คำพูดง่ายๆ บอกเล่าว่า “ตอนนี้ในท้องแม่มีน้องตัวเล็กๆ เหมือนหนูที่เคยอยู่ในท้องแม่เดี๋ยวน้องจะโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะออกมาเหมือนหนูไง” หารูปภาพเขาสมัยยังแบเบาะมาให้เขาดูหรือลองหาหนังสือภาพเกี่ยวกับแม่ท้อง มีน้องใหม่ เช่น เรื่องคุณแม่พุงโต จอชน้อยมีน้อง หรือหนูเกิดมาได้อย่างไร อ่านให้เขาฟัง หมั่นให้เขาลูบท้องฟังเสียงและพูดคุยกับน้องน้อย ค่อยๆ สร้างความคุ้นเคยให้ลูกรู้ว่าอีกไม่นานน้องจะมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

เตรียมผู้ช่วยแต่เนิ่นๆ

ช่วงตั้งครรภ์ ท้องคุณแม่เริ่มโตขึ้น อาจรู้สึกหงุดหงิดง่ายเพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถดูแลลูกคนโตได้เต็มที่เหมือนเดิม หากได้วางแผนการไว้แล้วว่าจะมีตัวช่วย เช่น คุณย่า คุณยาย หรือพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลคนโต ก็ควรให้เข้ามาตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์เลยจะดีกว่าหลังคลอด ตัวช่วยนี้จะได้คอยช่วยเหลือคุณแม่ที่เริ่มทำอะไรไม่สะดวก และทำความคุ้นเคยกับลูกไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเด็กวัยนี้ การเชื่อมโยงเหตุผลและเวลายังไม่สมบูรณ์ ลูกจะเข้าใจว่าเพราะน้องมา เขาจึงต้องห่างจากแม่ไปอยู่กับพี่เลี้ยงและเกิดพฤติกรรมต่อต้านน้องได้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ยืนยันในความรัก

พอท้องคุณแม่เริ่มโตแล้ว การดูแลหลายอย่างอาจไม่เหมือนเดิม อย่าลืมบอกลูกด้วยว่าถึงแม่จะไม่ได้อุ้มหนู แต่เราก็ยังกอดกัน เดินจูงมือกันได้แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าลูกจะเข้าใจทั้งหมด เพราะวัยนี้ยังต้องการความสนใจจากแม่อยู่มาก ถ้าลูกงอแงอยากให้อุ้ม อยากเล่นด้วย แต่คุณแม่ทำไม่ไหวแล้ว ก็ลองหากิจกรรมเบาๆ เช่น นั่งเล่นของเล่น หรืออ่านนิทานข้างๆ กัน ก็จะช่วยสื่อให้ลูกรู้ว่า คุณแม่ยังรักเขาเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

วันคลอดบอกลูกให้รู้ล่วงหน้า

ว่าคุณแม่จะไปคลอดน้องที่โรงพยาบาล เดี๋ยวก็กลับมาแล้วมิฉะนั้นเมื่อลูกไม่รู้ว่าแม่หายไปไหน จะรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจได้หากคุณพ่อต้องไปให้กำลังใจคุณแม่ด้วย ผู้ช่วยที่เราได้เตรียมสร้างความคุ้นเคยกับลูกมาตั้งแต่ตอนแรกๆ จะเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ทั้งลูกและคุณแม่สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างราบรื่น

หาช่องทางติดต่อสื่อสารกับลูกให้เร็วที่สุด

หากสามารถพาเจ้าจอมซนไปเยี่ยมคุณแม่และน้องน้อยที่โรงพยาบาลหลังคลอดได้จะดีมาก แต่โรงพยาบาลหลายแห่งไม่อนุญาตให้เด็กเล็กๆ เข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ คุณแม่อาจใช้วิธีถ่ายวิดีโอ หรือโทรศัพท์กลับมาหา สื่อสารให้ลูกรู้ว่าถึงแม่จะไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ทำกิจกรรมด้วยไม่ได้ แต่แม่ก็สบายดี ยังรักและห่วงเขาเหมือนเดิม

วันแรกที่กลับบ้าน

ในความรู้สึกของลูกที่ไม่ได้เจอคุณแม่มาสักระยะ จะคิดถึงและรอคอยการกลับมาของแม่ คาดหวังว่าเมื่อแม่กลับมาก็จะคุยทักทายเขาเหมือนเดิม ดังนั้น แม้จะเหนื่อยหรืออ่อนเพลียสักเพียงไหนสิ่งแรกที่คุณแม่ควรทำเมื่อพาน้องน้อยเข้าบ้าน คือการเข้ามาหาโอบกอดและพูดคุยให้ลูกรู้ว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ยังรักเขาเหมือนเดิม จึงจะสามารถทำความรู้จักกับน้องใหม่ได้โดยไม่มีอาการต่อต้าน

หลังคลอดทุกฝ่ายต่างต้องมีการปรับตัว

โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องเพิ่มความอดทน การควบคุมอารมณ์ และบริหารจัดการเวลาให้ดี เพราะการดูแลพี่วัยเตาะแตะไปพร้อมๆ กับน้องวัยเบบี๋อาจทำให้คุณแม่เหนื่อยกว่าปกติ การมีพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยดูแลลูกคนใดคนหนึ่ง อาจจะช่วยลดความเครียดของคุณแม่ไปได้บ้าง แต่อย่าถึงกับยกหน้าที่สำคัญนี้ให้พี่เลี้ยงไปทั้งหมดเพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าน้องมาแย่งความรักของแม่ไปจากเขา อย่าลืมหาเวลาทำกิจกรรมสำหรับวัยเตาะแตะ เช่น เล่นโยนบอล หรือปั่นจักรยานนอกบ้านบ้าง จะได้เสริมพัฒนาการต่างๆ ของลูกทั้ง 2 ไปพร้อมๆ กัน

ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง

โดยดูความพร้อมของลูกเป็นหลัก ต้องเข้าใจก่อนว่าสำหรับคุณแม่ที่อุ้มท้องลูกมานาน ย่อมรู้สึกรักและผูกพันกับลูกในท้องเป็นธรรมดา แต่เจ้าตัวเล็กเขารับรู้ว่าในท้องแม่มีน้อง แต่ก็ยังเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเขา ถ้าคุณแม่ปฏิบัติเหมือนเขาเป็นตัวช่วย ใช้หยิบของให้น้องอีก เขาก็จะยิ่งไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องมาดูแลเด็กคนนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อน้องได้ควรเริ่มสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องก่อน โดยสื่อผ่านพ่อแม่ อาจเริ่มจากการหอมแก้ม บอกรักลูกคนโตก่อน จากนั้นก็ให้เขาลองหอมแก้มน้อง ค่อยๆ เชื่อมโยงความรักของลูกที่มีให้พ่อแม่ ส่งไปถึงน้องทีละน้อยแสดงให้ลูกเห็นว่าเขาเป็นคนที่มีความสำคัญ มีส่วนช่วยพ่อแม่ดูแลน้องได้มาก เมื่อลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าก็จะรักน้องและภูมิใจในความเป็นพี่ของตนได้

ถือโอกาสฝึกความเสียสละ อดทนรอคอยให้ลูกวัยเตาะแตะ

สิ่งเหล่านี้เด็กจะเรียนรู้ได้เองบางส่วนเมื่อเกิดสถานการณ์บังคับ เช่น เวลาที่แม่กำลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้น้องอยู่ แต่เขาอยากเล่นด้วย ก็จะรับรู้ว่าต้องรอได้ และหากลูกรอได้สำเร็จแล้วคุณแม่มีเวลามาพูดชมว่า ลูกเก่งมากที่รอได้ หนูน่ารักมากเลยนะ ฯลฯ คำชมเหล่านี้จะเป็นแรงเสริมที่ทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจ

หลีกเลี่ยงคำพูดกระทบใจลูก

ช่วงเวลาหลังคลอดอาจมีบรรดาญาติๆ มาเยี่ยมต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว อาจมีคำพูดล้อเล่น เช่น หมาหัวเน่า แม่มีน้องใหม่แล้ว แต่คุณแม่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะผู้พูดเป็นผู้ใหญ่ ไม่กล้าห้ามเพราะเกรงใจ คุณหมอได้อธิบายว่าคำพูดเหล่านี้จะมีผลกับลูกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ

1. พื้นฐานอารมณ์ของเด็กเอง ถ้าเป็นเด็กที่เลี้ยงยากคิดมาก วิตกกังวลง่ายมาก่อน  แล้วคุณแม่ไม่ได้มีการเตรียมสภาพจิตใจเขาให้พร้อมตั้งแต่ช่วงแรก อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีได้

2. ร่วมกับการแสดงออกโดยไม่ได้ตั้งใจของพ่อแม่ เช่น ใช้ให้ลูกหยิบของให้น้องทั้งๆ ที่เขากำลังเล่นสนุกอยู่ หรือต่อว่าที่เขาเล่นกับน้องแรงไปหน่อย เด็กจะรู้สึกว่าพอมีน้องชีวิตเขาลำบาก และถูกแม่ดุบ่อยขึ้น รู้สึกไม่ดี หากมีคนพูดสะกิดเพียงนิดเดียว ลูกอาจคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก เลยพาลไม่ชอบน้อง ซึ่งความไม่ชอบนี้อาจยังไม่ลึกซึ้งนัก แต่จะสะสมเป็นปมในใจไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นปัญหาพี่น้องไม่รักกันในอนาคตได้ ดังนั้น หากได้ยินคำพูดล้อเล่นนี้ แล้วคุณแม่แสดงท่าทีที่ช่วยสร้างความมั่นใจ ให้ลูกรู้ว่ายังรักเขาเหมือนเดิม ต่อให้มีคนพูดอะไร ลูกก็จะไม่รู้สึกจริงจังกับคำพูดเหล่านั้น

ส่งคนโตไปโรงเรียนเลยดีไหม

คุณแม่หลายท่านอาจเริ่มมองหาโรงเรียน หรือเนิร์สเซอรี่สำหรับลูกคนโตไว้ เพราะถือว่าเด็กวัยนี้น่าจะเข้าโรงเรียนได้แล้ว การส่งลูกคนโตไปโรงเรียนหลังจากคุณแม่คลอด ข้อดี คือ คุณแม่จะได้มีเวลาเลี้ยงลูกคนเล็กวัยเบบี๋ได้เต็มเวลา เมื่อลูกคนโตกลับมาจากโรงเรียน คุณแม่ก็จะมีอารมณ์แจ่มใส ไม่หงุดหงิด ไม่เหนื่อย เพราะได้มีเวลาพักผ่อนระหว่างวัน

แต่ข้อเสียที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม คือ ความรู้สึกของลูกวัยเตาะแตะ การไปโรงเรียนสำหรับเด็กเล็กถือเป็นเรื่องใหญ่ ลูกอาจเชื่อมโยงเรื่องที่เขาต้องจากคุณแม่ไปโรงเรียนทั้งๆ ที่ไม่อยากไป ว่ามีสาเหตุมาจากน้อง เพราะน้องมาพ่อแม่จึงไม่รัก ส่งให้เขาไปอยู่ไกลๆ คุณหมอมีคำแนะนำว่า หากต้องส่งลูกไปโรงเรียน ถ้าเป็นไปได้พยายามให้ช่วงเวลาห่างกันสักระยะ เช่น ส่งไปโรงเรียนช่วง 3 เดือนก่อนแม่คลอดน้องหรือหลังคลอดแล้วสักพักให้เขาเข้ากับน้องได้ก่อน ดูที่ความพร้อมของลูกเป็นสำคัญ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Mother & Care
ฉบับเดือนกันยายน 2550
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก istockphoto.com



ผู้ตั้งกระทู้ ครูจอย :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-18 20:28:07 IP : 124.120.105.15


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2139609)
avatar
...
แม่หนูไม่ได้เป็นอย่างงี้อ่ะ ขนาดตอนยังไม่มีน้องแม่ไปทำงานส่วนหนูไปกับพ่อไม่ได้อยู่กะแม่เลยแม่มาซื้อของให้ตลอดแล้วหนูมองข้ามพ่อไป หนูจึงคิดว่าพ่อไม่รักจึงอยู่กับแม่ตลอดจนแม่มีน้องแม่ให้ความสำคัญกับน้องมากช่วง3เดือนแรกๆยังเห่อๆอยู่พอน้องเริ่มโตหนูเห็นแม่ซื้อของเล่นให้น้องบ่อยมากแต่ยังไม่ได้คิดอะไรพอหนูทำผิดอะไรนิดหน่อยๆแม่จะว่าตลอดแต่พอก่อนมีน้องแม่จะไม่เคยว่าอะไรเลย จนหนูเรื่มอิจฉาน้องแต่ก่อนหนูเคยบอกแม่วาแม่ไม่รักหนูแม่จะเข้ามาปลอบใจแต่พอมามีน้องหนูบอกกับแม่ว่าแม่ไม่รักแม่ก้อจะตีตลอด จนเพื่อนๆหนูมองว่าหนูเป็นเด็กมีปัญหาและโดนเพื่อนล้อ ก่อนมีน้องหนูเรียนเก่งมาสอบติดทอปเทนของห้อง/สานพอมีน้องหนูเริ่มเครียดและกินชาจนสมองฟ่องานค้างเริ่มเยอะเรียนเริ่มไม่เก่งเพื่อนไม่มี และมนุษย์สัมพันแย่มาก
ผู้แสดงความคิดเห็น ... วันที่ตอบ 2010-12-25 15:32:50 IP : 125.24.185.101



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.