ReadyPlanet.com


คุณลูกนักกรี๊ด จัดการอย่างไรดี ^^
avatar
Admin


 

ลูกเอาแต่ใจ ชอบกรี๊ดเสียงดัง

โดย นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์

วิธีแก้ไขอย่างถูกต้อง เมื่อลูกวัยขวบกว่า เอาแต่ใจ ชอบกรี๊ดเสียงดัง ยามไม่ได้ดั่งใจ

ลูกเอาแต่ใจQ : ลูกอายุ 1 ขวบ 5 เดือน เอาแต่ใจตัวเอง ชอบกรี๊ด โวยวายและร้องเสียงดังเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจอะไรก็จะร้องมากๆ เพิ่งมาเป็นเมื่อคุณแม่ออกมาทำงานข้างนอกได้ประมาณ 3 เดือนค่ะ ก่อนหน้านี้เลี้ยงเองไม่ค่อยเป็นค่ะ จะมีร้องบ้างก็พอเข้าใจ แต่พอมาทำงาน เป็นไปได้ไหมคะว่าลูกชายจะถูกตามใจจากคุณยายทั้ง 3 มากเกินไป และสังเกตได้ว่า พอคุณพ่อและคุณแม่และคุณยายอยู่พร้อมกัน ลูกก็จะเหมือนกลัวบ้าง ไม่ค่อยจะกรี๊ดเท่าไหร่แต่ก็มีบ้าง เลยกลัวว่าเขาจะติดนิสัย หนักใจมาก ควรทำอย่างไรดีคะคุณหมอ

คุณแม่ส้ม กทม.

A : อาจเป็นได้ทั้งพัฒนาการตามวัยสำหรับเด็กบางคน หรือมากเกินพัฒนาการตามวัย ตรงนี้บอกได้ยากจากข้อมูลที่คุณแม่ให้มาครับ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากช่วยเหลือตัวเอง อยากให้คนนั้นทำสิ่งนั้นคนโน้นทำสิ่งโน้นให้ เมื่อไม่ถูกใจก็จะรู้สึกคับข้องใจ ที่ยังไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ผ่านคำพูดได้ดีประกอบกับความสามารถในการควบคุมตัวเองยังทำได้ไม่ดีนัก นำมาซึ่งอาการกรี๊ดร้องอย่างที่คุณแม่สังเกตเห็นครับ

ส่วนที่มาที่ไปหรือมีอะไรส่งเสริมให้อาการรุนแรงขึ้นกว่าที่เป็นคงบอกได้ยากครับ ด้วยความที่สาเหตุของปัญหาพฤติกรรมมักเกิดจากหลากหลายปัจจัยร่วมกันทั้งในส่วนของตัวเด็กเอง สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู การถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งสาเหตุจากที่คุณแม่สงสัยมานั้น เป็นไปได้ทั้งหมดครับ แต่ถึงหาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน เรารับมือได้ด้วยหลักการเดียวกัน และวิธีใกล้เคียงกันเพียงปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้แตกต่างกันบ้างตามบริบทครับ

หลักการปลี่ยนปัญหาพฤติกรรมลูกชาย อันดับแรกเลยคุณต้องเข้าใจลูกก่อนว่า เด็กทุกคนเกิดมาเหมือนผ้าขาว เขาจะเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆผ่านการปฏิบัติของผู้คนรอบข้างนี่เอง หนึ่งในนี้เป็นบทบาทหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่เป็นคนสอนให้ลูกได้รู้ว่าควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ตามบรรทัดฐานของที่บ้านและสังคมครับ

ต่อไปคุณแม่ต้องเข้าใจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกว่าต้องอาศัยองค์ประกอบหลากหลายด้วยกัน เช่น ต้องรู้จักลูก ต้องเข้าใจเขาว่า ลูกเรามีลักษณะอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อเขาได้อย่างเหมาะสม ต้องรู้จักตัวเองว่าตอนไหนเราควบคุมตัวเองได้ ตอนไหนควบคุมตัวเองไม่ได้สติแตกจะได้รู้ว่า ต้องเตรียมตัวรับมือกับลูกอย่างไร นอกจากนั้นต้องเท่าทันสิ่งแวดล้อมรู้ต่อไปอีกว่า แล้วคุณยาย 3 ท่านปฏิบัติกับลูกเราอย่างไร หลังจากนี้นำข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์เข้าด้วยกันครับ ต่อจากนั้นตามด้วยเข้าใจหลักง่ายๆของการปรับพฤติกรรมครับ ง่ายมากจริงๆ เพียงแต่คุณแม่ส้มนำไปประยุกต์ให้เหมาะสมนะครับ

คุณแม่ส้มมองหาพฤติกรรมที่ดีของลูก แล้วพยายามส่งเสริม ถ้าส่งเสริมได้มากพฤติกรรมดีมากมีมากขึ้นพฤติกรรมไม่ดีจะลดลงไปโดยปริยาย ตรงนี้ใช้การเสริมแรง เช่น ชมกัน ให้รางวัล อ่านหนังสือนิทาน เล่านิทาน พาไปเดินออกกำลังกาย และลูกมีพฤติกรรมอะไรที่เราไม่ต้องการ ก็ต้องบอกให้ลูกรู้อย่างเหมาะสม แต่ทุกคนในบ้านควรปฏิบัติต่อเขาอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน เพื่อให้เขารับรู้จริงๆว่า พฤติกรรมนี้ไม่มีใครต้องการ ก็เริ่มจากเบี่ยงเบนความสนใจไปจากสถานการณ์ในขณะนั้น ถ้ายังไม่สำเร็จก็เพิกเฉยเสีย หรือถ้าบริเวณนั้นไม่อันตรายก็อาจแยกตัวเองออกไปจากเขา พอเขาสงบค่อยกลับมาพูดคุยอธิบายว่า พฤติกรรมนั้นไม่ดีและคุณแม่คาดหวังอยากให้เขาปฏิบัติอย่างไร ซึ่งถ้าลูกเรียกร้องด้วยพฤติกรรมไม่เหมาะสมแล้วเขาได้อย่างที่ตัวเองต้องการ รับรองเลยว่า พฤติกรรมนั้นไม่มีทางหายครับ แต่อาจทวีความรุนแรงหรือเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้นตามวัยของเขา หากผู้ใหญ่รอบข้างทุกคนปฏิบัติได้เหมือนกันก็จะหายได้เร็ว

แต่ถ้าคุณแม่ส้มไม่สามารถทำให้ทุกคนทำตามที่เราต้องการได้ ก็ทำเท่าที่ทำได้ครับ ไม่อย่างนั้นเราอาจจะเสียผู้เลี้ยงดูลูกที่ดีไปอีก 3 คนนะครับ เราทำของเรากับคนที่เห็นด้วย ลูกจะเรียนรู้และแยกแยะออกได้ว่าเขาควรปฏิบัติต่อคนที่ตอบสนองต่อเขาแตกต่างกันอย่างไร ไม่ต้องกังวลและผู้ใหญ่ไม่ต้องทะเลาะกันเองครับ เมื่อเริ่มเปลี่ยนการตอบสนองอาการอาจรุนแรงขึ้นไม่ต้องตกใจครับ ตั้งสติให้ดี ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า การตอบสนองต่อพฤติกรรมทั้งที่ดีและไม่ดีลักษณะนี้ต้องปฏิบัติกันด้วยความสม่ำเสมอ หนักแน่น และอดทนครับ อย่าคาดหวังว่า เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมลูกได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เร็วหรือช้าขึ้นกับหลายหลายปัจจัยครับ เพียงแต่ท่องคาถาผมไว้นะครับ “หนักแน่น สม่ำเสมอ และอดทน” พฤติกรรมนี้แค่บทเรียนแรกๆของคุณแม่ส้มเองครับ กว่าลูกชายจะโตคุณแม่คงต้องฝึกบรือฝีมืออีกมากมาย สู้ๆครับ




ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2013-07-02 21:30:44 IP : 124.120.194.182


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2426403)
avatar
Admin

ถ้าเกิดจากอารมณ์ ถึงระดับการร้องอาละวาดไหมคะ  
การร้องอาละวาด (Temper Tantrums)


การร้องอาละวาดมีสาเหตุมาจากอะไร?

การร้องอาละวาดคือการตอบโต้ของเด็ก โดยทั่วไปเมื่อถูกขัดขวางอิสรภาพในการกระทำสิ่งที่ต้องการ หรือการเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น หงุดหงิดเพราะไม่สามารถติดกระดุมเองได้ หรือเพราะถูกบังคับให้เข้านอน เหตุผลที่เด็กแสดงพฤติกรรมร้องอาละวาดนั้น เนื่องมาจากยังขาดทักษะในการแสดงอารมณ์โกรธหรือขัดขืนในลักษณะที่ดีกว่าได้ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีสาเหตุและแนวโน้มของการร้องอาละวาดที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

  • การเลี้ยงดู หรือสภาพในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่เคร่งครัดจนเกินไป หรือปล่อยปละละเลยเด็กมากเกินไป จนเด็กรู้สึกขาดความรัก จึงต้องการเรียกร้องความสนใจ รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การแต่งงานใหม่ของผู้ปกครอง การมีสมาชิกในบ้านติดสุราหรือการพนัน การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะกันระหว่างพี่น้อง และนอกจากนี้ เด็กจะมีแนว โน้มของการอาละวาดสูง หรือทวีความรุนแรงของการอาละวาด หากผู้ปกครองตอบโต้ต่อพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กอย่างรุนแรงไม่แพ้กัน หรือแสดงท่าทียอมลูกด้วยการให้ของเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้ลูกหยุดและเงียบ อันจะส่งผลให้เด็กมีความเข้าใจที่ผิดว่า การอาละวาดจะทำให้ตนได้รับรางวัล
  • ระดับความเหนื่อย
  • ระดับความเครียด
  • การนอนหลับไม่เพียงพอในเวลากลางคืน
  • อายุ ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสามารถในการสื่อสาร และความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของเด็ก
  • ปัญหาที่โรงเรียน เช่น ถูกเพื่อนรังแก หรือเข้ากับเพื่อนไม่ได้
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2013-10-30 18:44:36 IP : 171.96.20.76


ความคิดเห็นที่ 2 (2426404)
avatar
ครูจอยคะ

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาเด็กร้องอาละวาดได้อย่างไร?
 

วิธีการที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาเด็กร้องอาละวาดก็คือ “การหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาเกิด” ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปก ครองสามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำได้ ดังต่อไปนี้

  • ให้ความสนใจและใส่ใจลูก สำหรับลูกแล้ว การตอบโต้ลูกในทางลบยังถือว่าดีกว่าการนิ่งเฉยด้วยความไม่สนใจ ทั้งนี้ งานวิจัยหลายเล่มยืนยันว่า การตอบโต้ของพ่อแม่ ผู้ปกครองต่อการร้องอาละวาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร้องอาละวาดเพื่อเรียก ร้องความสนใจของเด็กนั้น สามารถทำให้พฤติกรรมของลูกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ ดังนั้น แทนที่พ่อแม่จะรอโอกาสในการตอบโต้ต่อการร้องอาละวาดของลูก พ่อแม่ควรหันมาสนใจทุกการกระทำของลูก และชมเชยเมื่อลูกมีความประพฤติที่เหมาะ สม โดยนอกจากจะเป็นการแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ไม่ได้ละเลยแต่อย่างใดแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ลูกเลือกปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีอีกด้วย
  • ให้ลูกจัดการเรื่องเล็กๆน้อยๆของตนด้วยตัวเอง การให้โอกาสลูกได้กระทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง ถือเป็นการตอบสนองต่อความต้องการมีอิสระของเด็ก โดยพ่อแม่ควรให้สิทธิ์ลูกในการเลือก มากกว่ากำหนดให้ว่าลูกต้องทำอะไร อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ก็ควรตระหนักว่า ลักษณะการพูดที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยก็อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงได้ เช่น การถามว่า “จะแปรงฟันก่อนหรือหลังอาบน้ำ” ย่อมต่างจาก “อยากแปรงฟันตอนนี้หรือไม่” ซึ่งคำตอบก็มักจะเป็น “ไม่” และพ่อแม่ก็จำเป็นต้องบังคับลูกในที่สุด
  • เก็บสิ่งของอื่นที่ไม่ใช่ของเล่นให้พ้นตา ในบ้านย่อมมีสิ่งของที่พ่อแม่ไม่อนุญาตให้เด็กเล่นได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น เด็กอยากหยิบจับด้วยความอยากรู้อยากเห็น ในขณะที่พ่อแม่ก็ต้องคอยห้ามปรามซ้ำแล้วซ้ำอีก พ่อแม่ควรเก็บซ่อนสิ่งของเหล่านั้นให้พ้นจากการเอื้อมถึงของลูก
  • เบนความสนใจ พ่อแม่ควรใช้ประโยชน์จากการมีสมาธิสั้นของลูก เพื่อระงับความขัดข้องใจของลูก เช่น การเริ่มกิจ กรรมใหม่ที่น่าสนใจแทนกิจกรรมที่พ่อแม่ไม่อนุญาต หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนบรรยากาศง่ายๆ เช่น พาลูกย้ายไปยังอีกห้องหนึ่งของบ้าน หรือพาลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน
  • กำหนดระดับที่เหมาะสมให้กับสิ่งใหม่ที่ลูกพยายามจะทำให้สำเร็จ พ่อแม่ควรเลือกของเล่นหรือกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยของลูก โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายก่อน เมื่อลูกสามารถทำได้ดีแล้ว พ่อแม่ก็สามารถเพิ่มระดับความยากขึ้นได้
  • ตอบรับคำขอของลูกอย่างเหมาะสม หากการร้องขอของลูกเป็นไปอย่างเหมาะสม พ่อแม่ก็ควรตอบสนองต่อสิ่งที่ลูกเรียกร้อง แต่หากเห็นว่าไม่เหมาะสม พ่อแม่ก็ควรปฏิเสธไปตามจริง พร้อมกับอธิบายด้วยหลักเหตุผล
  • รู้ข้อจำกัดของลูก พ่อแม่ควรรับรู้และเข้าใจสภาพร่างกายและจิตใจของลูกในแต่ละสถานการณ์ เช่น หากพ่อแม่รู้ว่าลูกเหนื่อย ก็ควรให้ลูกได้พัก ไม่ควรพาออกไปซื้อของ หรือใช้ไปทำธุระ เป็นต้น
  • ไม่ยอมแพ้ต่อการร้องอาละวาดโดยเด็ดขาด การยอมแพ้ของพ่อแม่ต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้ของที่ลูกชอบ เพียงเพื่อให้เด็กหยุดอาละวาดนั้น อาจทำให้เด็กเชื่อว่าสิ่งที่ตนกระทำลงไปนั้นมีความเหมาะสม ในทางกลับกัน พ่อแม่สม ควรจะชมเชยลูกอย่างยิ่งในกรณีที่ลูกสามารถควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเองได้
  • ปลอบโยน เด็กมักจะรู้สึกเปราะบาง หรือขาดความมั่นใจหลังจากร้องอาละวาด ดังนั้นเมื่อลูกสงบอารมณ์ได้แล้ว พ่อแม่ก็ควรปลอบโยน และย้ำให้ลูกรับรู้ถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกที่ไม่ได้ลดลง แม้ว่าลูกจะร้องอาละวาดก็ตาม
  • จัดการให้ลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ การนอนหลับอย่างเพียงพอในเวลากลางคืน สามารถลดปัญหาการร้องอาละวาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะย่อมส่งผลให้เด็กมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ แข็งแรง
ผู้แสดงความคิดเห็น ครูจอยคะ วันที่ตอบ 2013-10-30 18:48:17 IP : 171.96.20.76


ความคิดเห็นที่ 3 (2426405)
avatar
Admin

หรือจะลองวิธีการแบบคุณครูบ้างไหมคะ
ครูจะสามารถช่วยหรือแก้ไขปัญหาเด็กร้องอาละวาดที่โรงเรียนได้ด้วยคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

  • สร้างบรรยากาศในห้องเรียนไม่ให้น่าเบื่อหรือหนักจนเกินไป เช่น นำนักเรียนทำกิจกรรมที่น่าสนใจ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดในการเรียน หรืออนุญาตให้มีเวลาพักในคาบเรียนอย่างเหมาะสม เป็นต้น
  • สอนวิธีในการขอที่สุภาพโดยไม่ต้องร้องอาละวาดให้แก่เด็ก จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองฝึกดูบ้าง หากทำได้ดี ครูก็ควรตอบรับโดยดีเช่นกัน
  • จัดห้องเรียนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้โดยไม่มีปัญหา อีกทั้งครูก็ไม่จำเป็นต้องคอยห้ามปรามเด็ก เพียงแต่คอยสังเกตและตรวจสอบความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
  • หากเด็กมีแนวโน้มของการร้องอาละวาด ครูอาจพาไปเปลี่ยนบรรยากาศ หรือมอบหมายให้เด็กทำสิ่งอื่นแทน
  • หากการร้องอาละวาดเกิดขึ้นเพราะครูมีความจำเป็นต้องขัดใจเด็ก เนื่องจากเด็กแสดงการกระทำในสิ่งที่ไม่ควร หรืออยากได้ในสิ่งที่ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ครูควรเบนความสนใจของเด็กด้วยการนำเด็กทำกิจกรรมอื่นแทน
  • ไม่ถามความเห็นเด็กในสิ่งที่เด็กจำเป็นจะต้องทำ มิเช่นนั้นแล้วอาจได้คำปฏิเสธเป็นการตอบแทน และอาจต้องลงเอยด้วยการบังคับจิตใจเด็กให้ปฏิบัติตาม
  • สร้างกิจวัตรและธรรมเนียมปฏิบัติที่ดี เช่น เริ่มต้นการเรียนการสอนด้วยช่วงเวลาแห่งการแบ่งปันระหว่างเพื่อน รวมไปถึงการสร้างโอกาสให้เด็กเรียนรู้การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจเรื่องเล็กๆน้อยๆด้วยตนเอง
  • อดทน อดกลั้น และพร้อมที่จะตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก โดยอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม
  • ฝึกอารมณ์ขัน เพื่อเปลี่ยนสถานการณ์ที่เลวร้ายให้กลับกลายเป็นดี
  • เก็บสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายให้พ้นมือเด็ก เพื่อขจัดปัญหาที่อาจตามมาจากความอยากรู้อยากลอง ในขณะที่ความ สามารถในการใช้งานของเด็กยังไม่มากพอ
  • สอนให้เด็กเรียนรู้การพัฒนาทางด้านพฤติกรรมและสังคมจากการทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม โดยมีครูควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิด
  • ให้รางวัล หรือชมเชยเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม นอกจากนี้ หากเด็กอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการร้องอาละ วาด ครูอาจจะหยุดเด็กไว้ได้ด้วยการชมเชยเช่นกัน โดยการชมเชยจากพฤติกรรมดีที่เด็กกระทำในขณะนั้นซึ่งครูสามารถสังเกต เห็น
  • แจ้งให้เด็กทราบล่วงหน้าก่อนที่จะเสร็จสิ้นแต่ละกิจกรรม เพื่อให้เด็กสามารถเตรียมพร้อมรับมือสำหรับการเปลี่ยนกิจ กรรมได้ หรือเพื่อให้เด็กได้มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า
  • หากต้องไปอยู่ในสถานที่ใหม่ หรือพบเจอผู้คนที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก ครูควรอธิบายให้เด็กทราบถึงสถานที่ที่จะไปหรือคนที่จะพบโดยคร่าวๆ พร้อมทั้งกำชับเด็กในบางประเด็นสำคัญ เช่น ให้เกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน ให้ช่วยกันดูแลตัวเองและเพื่อนๆ เป็นต้น
  • หลังจากที่เด็กแสดงพฤติกรรมร้องอาละวาดแล้ว ครูควรอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า มีวิธีอื่นที่ดีกว่าที่เด็กจะสามารถได้ในสิ่งที่ต้องการได้ รวมถึงสอนให้เด็กรู้ว่าทุกคนล้วนมีอารมณ์โกรธ พร้อมทั้งแสดงให้เด็กเห็นถึงตัวอย่างของการแสดงอารมณ์โกรธอย่างเหมาะสม
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2013-10-30 18:50:04 IP : 171.96.20.76



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.