ReadyPlanet.com


คำพูดของพ่อ แม่ เปลี่ยนโลกของเด็กเซนซิทีฟ
avatar
Admin


คำพูดใครว่าไม่สำคัญ  ไม่ว่าจะชมเชย หรือติเตียน  มีผลต่างเด็ก ๆ ทุกวัย   ซึ่งล้วนสร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นในตนเองเเก่เด็ก   สำหรับวัยเด็กเล็กวัยอนุบาล  แค่คำว่าเพื่อนไม่รักก็มีผลมากมายแล้ว  คุณพ่อคุณแม่จะทำอย่างไร  ถ้าลูกเล่าให้ฟังว่า  วันนี้เพื่อนบอกว่าไม่รักหนู ??? คุณครูมีบทความที่คุยถึงวิธีการพูดสอนลูกในการรับมือกับอารมณ์อ่อนไหวมาฝากคะ

 

อ่อนไหวในคำวิพากษ์วิจารณ์

 

โดย: ปลาเข็ม

 

 วัย 12 เป็นเวลาที่ลูกอ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์..นิ้ดเดียวก็รู้สึก

ที่จริงจะเรียกว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ก็ไม่เชิงนะคะ ผสมโรงกับถึงวัยที่ลูกกำลังเริ่มสร้างคุณค่าในตัวเอง ว่าเขาเป็นใคร มีความหมายต่อสังคมในบ้านและนอกบ้านอย่างไร เขาจึงต้องการเสริมความรู้สึกมั่นใจในตัวเอง จากสิ่งที่เขาทำ และจากปฏิกิริยาของคนรอบข้าง

ลูกจึงรู้สึกอ่อนไหวต่อคำพูดวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าวัยเด็กที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่า เขาจะใส่ใจในความคิดเห็นของคนอื่นที่มีต่อเขาอย่างยิ่ง (แม้จะแสดงออกว่าต่อต้าน ไม่รับฟัง) จนพ่อแม่อาจค่อนในใจว่าเจ้าลูกคนนี้กลายเป็นกุ้งเต้นไปแล้ว เพราะแตะนิดแตะหน่อยเป็นเต้นผาง บางครั้งหูตาแดงน้ำตาปริ่มได้ง่ายๆ ขี้งอน ไม่ใช่เฉพาะลูกสาว ท่านสุภาพบุรุษตัวน้อยก็ใช่ย่อยนะครับ

รู้อย่างนี้ ใช่ว่าจะห้ามแตะกันนะคะ เพียงแต่ว่า.. เราก็รู้นี่คะว่าการพูดจาดีๆ ต่อกัน ทำให้เกิดผลดีมากกว่าจะเสีย มาดูกันว่าการพูดจาแบบไหนบ้างที่สะเทือนใจวัยอ่อนไหว

1.วิจารณ์เชิงลบล้วนๆ

การวิพากษ์วิจารณ์และการพูดจาเยาะเย้ยลูก ทำให้ลูกวัยนี้ยิ่งรู้สึกห่อเหี่ยวหรือโกรธเกรี้ยวได้มากโดยเฉพาะในวัยใกล้วัยรุ่นและรวมไปถึงช่วงวัยรุ่น เด็กพานไม่อยากพูดกับเราไป เลย คำพูดอย่าง

“ทำไมพูดออกมาอย่างนั้น ซื่อบื้อจริงๆ”

“รู้ตัวไหมว่าทำไมถึงแย่อย่างนี้ ก็เพราะเราขี้เกียจน่ะสิ”

“ทำไมแขนขาเรามันเก้งก้างดูตลกจังเวลาเดิน”

อย่างนี้ไม่พูดซะเลยดีกว่าค่ะ บางครั้งพ่อแม่ตั้งหน้าตั้งตาวิพากษ์วิจารณ์ลูก ก็เพราะเข้าใจผิดไปว่า ถ้าไม่ว่าลูกซะบ้าง ลูกจะไม่รู้ข้อบกพร่อง ไม่ได้แก้ไขปรับปรุงตัวเอง แต่ความจริงแล้ว การวิจารณ์ในทางลบไม่ช่วยส่งเสริมให้ใครเปลี่ยนแปลงตัวเอง กลับทำให้คนนั้นแสดงท่าทีปกป้องตัวเองมากขึ้น

2.เปรียบเทียบจัง

บางคนเป็นโรคชอบยกย่องชมเชยความดีความงามของเด็กคนอื่น แล้วอดพูดเปรียบเทียบกับความไม่ได้เรื่องของลูกตัวเองไม่ได้ เคยพูดทำนองนี้ไหมคะ

"น้องป๋อมข้างบ้านเขาทั้งเก่งทั้งดี ได้เกรด 4 ทุกวิชา กลับบ้านมายังช่วยแม่ถูบ้านอีก ทำไมลูกไม่ช่วยแม่บ้าง เอาแต่นอนอืดดูทีวี ขี้เกียจทั้งวัน"

โรคนี้จะทำให้ลูกเรารู้สึกแย่ มากกว่าจะฮึกเหิมสร้างสมความดีให้เท่ากับลูกในอุดมคติของพ่อแม่

3.ติทุกจุด

จุดเล็กจุดน้อย หรือจุดใหญ่โต เมื่อพ่อแม่เป็นโรคนี้ก็มีความสามารถติลูกได้ทุกเรื่องราว ไม่เคยปล่อยให้เรื่องใดๆ ที่ลูกทำหลุดรอดไปจากการตำหนิได้ ช่วยล้างผักก็ว่าไม่สะอาด เก็บที่นอนก็ว่าไม่เรียบร้อย

น่าจะนึกบ้างว่า เด็กที่ผ่านโลกมาแค่ 10 กว่าปีเอง ย่อมจัดการเรื่องราวต่างๆ ภายในบ้าน นอกบ้าน และมีระเบียบวินัยได้ไม่เท่าผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาครึ่งค่อนชีวิตอย่างเรา ให้โอกาสเขาพัฒนาตัวเองด้วยการให้กำลังใจบ้าง และลดมาตรฐานของตัวเองลงไปสักนิด น่าจะเป็นการมาพบกันครึ่งทาง และเท่ากับบอกลูกว่า เรายอมรับในตัวเขาได้และเราก็เชื่อมั่นในตัวเขาว่าเขาจะสามารถพัฒนาตัวเองได้

การติเป็นกิจวัตรจะทำให้ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง และไม่แน่ใจว่าว่าเขาจะสามารถทำสิ่งที่ดีสมบูรณ์ได้อย่างคนอื่นๆ ได้บ้างไหม

4.ข่มไว้ก่อนกันเหลิง

สังคมไทยมีลักษณะหนึ่งที่ถ่ายทอดกันมานาน นั่นก็คือเราจะไม่ชมเด็กวัยนี้เท่าไหร่ เป็นความคิดที่ติดอยู่ในใจผู้ใหญ่ว่า กลัวชมแล้วเหลิง พยายามกดๆ หรือข่มๆ เข้าไว้ว่าสิ่งที่ลูกเป็นหรือสิ่งที่ลูกทำนั้น ยังต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นอีก.. ลองฟังคุณแม่สองคนนี้คุยกันสิคะ

แม่น้ำตาล “คุณแดง น้องป้อนี่เขาน่ารักนะคะ เป็นเด็กมีน้ำใจ วันก่อนเห็นพี่หิ้วถุงพะรุงพะรังรีบเข้ามาช่วย พูดจาก็เพราะ”

แม่แดง “แหม แต่เรื่องเรียนละไม่ได้เรื่องหรอกค่ะลูกคนนี้ เอาแต่เล่นทั้งวัน ใช่ไหมล่ะเราฮึ”

คุ้นเคยกับประโยคทำนองนี้บ้างไหมคะ นี่ละค่ะความเขินอายต่อคำชมสำหรับลูก มาถ่อมตัวแบบนี้ลูกนอกจากจะไม่ได้รู้สึกดีๆ กับตัวเองแล้ว ยังอับอายขายหน้าที่แม่มาขยายเรื่องแย่ของเขาให้ใครๆ ฟังอีก ถ้าใครชมลูกเรา ก็เพียงแต่รับคำชมนั้นก็พอค่ะ

5.ชมไม่จริงใจ

การพูดจายกย่องชมเชยลูก ก็เป็นคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนึ่งเหมือนกันค่ะ เพียงแต่ว่ามาในรูปที่เจ้าตัวคนฟังรู้สึกว่าหอมหวานน่าสบายใจกว่าเท่านั้นเอง แต่การชมจะต้องชมในเรื่องที่เขาทำได้ดีจริงๆ ด้วย และชมด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ว่าไม่ทันหันมามองลูกเลยแล้วก็พยักหน้าหงึกหงัก เวลาลูกถามว่า งานศิลปะชิ้นนี้ของเขาสวยไหม

หรือชมเกินความจริง นิดก็ชมหน่อยก็ชม อ้วนก็ชม ผอมก็ชม ทำให้เขารู้สึกว่าคำชมนั้นไม่พิเศษแต่อย่างใด

เมื่อเขารู้สึกว่าคำชมจากเรานั้นไม่จริง ทำให้เขารู้สึกหวั่นไหวไม่แน่ใจ เขาจะลังเลว่าเขาควรจะรู้สึกดีหรือไม่ดีกันแน่ และเขาก็จะมองว่าคำพูดของเราไม่สามารถยึดถือเป็นมาตรฐานจริงจังได้

และถ้าชมกันบ่อยมากๆ เขาก็จะเป็นคนที่ติดคำชม เมื่อเจอคำติหรือวิพากษ์วิจารณ์เข้านิดหน่อย ก็จะรู้สึกเป็นเรื่องที่รับได้ยาก

เห็นไหมคะ พ่อแม่ ก่อให้เกิดความหวั่นไหวในใจลูกมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นรักษาให้หายขาดก่อนลูกจะถึงวัยนี้เถอะค่ะ เพราะมันส่งผลถึงความเชื่อมั่นในตัวเอง และความนับถือตนเองของเขา ปรับเปลี่ยนท่าทีและเลือกสรรคำพูดที่พูดแล้วให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเรื่องสร้างสรรค์ เพื่อให้ลูกเป็นคนมีอารมณ์ที่มั่นคงและเป็นคนมั่นใจค่ะ

 

จาก: นิตยสาร Life & Family



ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-30 00:02:58 IP : 124.120.111.25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2106739)
avatar
yvette

hair for wigs lace wig glue your natural hair and not an wigs wigs in comparison are lace wig adhesive african american wig.

ผู้แสดงความคิดเห็น yvette (rider-at-mail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-10 18:51:17 IP : 125.126.157.28


ความคิดเห็นที่ 2 (2140031)
avatar
กุ๊ก

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น กุ๊ก วันที่ตอบ 2010-12-27 17:57:04 IP : 110.49.193.93



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.