ReadyPlanet.com


บ่ม&เพาะ&ปลูก...นิสัยรักการอ่าน
avatar
ครูกิ๊บ


บ่ม&เพาะ&ปลูก...นิสัยรักการอ่าน

 โดย สุชาดา

" หากจะปรับให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา จำเป็นต้องเร่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เป็นวัฒนธรรมของชาติ และทำให้เกิดทั่วแผ่นดิน" คำพูดนี้ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฏร์อาวุโสคงช่วยตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน ซึ่งเป็นประตูที่เปิดไปสู่การเรียนรู้ จินตนาการ และความความคิดสร้างสรรค์ และการจะสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับลูกได้นั้น ต้องเริ่มกันตั้งแต่เล็กเพื่อให้รากแก้วรักในการอ่านเติบโตอย่างแข็งแรงอยู่ในตัวเด็กๆ ค่ะ ไม่ต้องรีรอคุณสามารถลงมือสร้างหนอนน้อยนักอ่านได้ตั้งแต่วันนี้เลย

Chapter 1: อ่าน...ให้อะไร

การอ่านเป็นกระบวนหนึ่งที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ค่ะ ขณะที่เกิดกระบวนการอ่านทั้งภาพหรือสัญลักษณ์ในหนังสือ สมองได้พัฒนาและเกิดกระบวนการคิด ซึ่งกระบวนการคิดนี้จะสามารถพัฒนาและเชื่อมโยงเป็นการพูด การเขียน การวาดภาพ โดยผลที่แสดงออกมาจากการอ่านจะเห็นชัดตามแต่ละช่วงวัย ทั้งนี้การอ่านมีส่วนช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพราะการเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ ต้องมีข้อมูลที่หลากหลายเพื่อสามารถนำมาประมวลและวิเคราะห์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้นั่นเอง

มากประโยชน์จากการอ่าน :
     1.สำหรับลูกเล็กจะช่วยพัฒนาระบบประสาทสัมผัส เริ่มต้นจากการมองเห็นภาพ ได้ยินเสียงพ่อแม่พูดหรือเล่า ส่วนการได้สัมผัสกับวัสดุของหนังสือนิทานช่วยให้เด็กรู้จักผิวสัมผัสของวัตถุแต่ละชนิดว่าอย่างไร แข็ง อ่อน นุ่มแล้วยังได้เรียนรู้เรื่องรูปทรงไปในตัวด้วยค่ะ การปูพื้นฐานให้เด็กได้ใกล้ชิดกับหนังสือจะทำให้เขารู้สึกดี คุ้นเคยและกลายเป็นความชอบหนังสือในที่สุด
     2.ช่วยกระตุ้นพัฒนาสมองในส่วนที่ของทักษะภาษา ทั้งการฟังและการพูด เพราะอย่างน้อยขั้นแรกที่ลูกฟังเสียงอ่านของคุณพ่อคุณแม่เป็นการเริ่มต้นรู้จักคำศัพท์ต่างๆ และเมื่อพูดได้ลองหัดอ่านออกเสียงเป็นคำๆ ไปพร้อมกับภาพและตัวอักษรในหนังสือ ถึงจะยังไม่รู้ความหมายแต่ก็ถือเป็นการฝึกออกเสียงพูด เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ เรียกว่าเป็นการปูพื้นพัฒนาการด้านภาษากับลูกได้ค่ะ
3.กระตุ้นความคิดและจินตนาการ ใช้หนังสือนิทานเป็นเครื่องมือต่อยอดความคิดและจินตนาการให้กว้างไกล ภาพที่เห็นหรือเนื้อเรื่องที่ลูกฟังจากนิทานที่พ่อแม่อ่านจะช่วยกระตุ้นความคิด ยิ่งฟังบ่อยๆ จะช่วยลูกได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน สำหรับวัยช่างเรียนรู้สำคัญเชียวที่ควรเรียนรู้อย่างหลากหลาย
4.เป็นของเล่นให้ลูก สำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่ยังไม่ทราบวิธีเล่นกับลูก ลองใช้นิทานเชื่อมโยงไปกับการเล่นกับลูก อาจจะให้ลูกนั่งตักเปิดนิทานเล่าไปพร้อมๆ กัน ชวนลูกเล่นไประหว่างเล่า เพื่อเชื่อมโยงกับนิทานเล่มนั้น อาจะใช้ตุ๊กตาเป็นตัวละครเล่นไปกับลูก ช่วยสร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้
5.การอ่านช่วยสร้างสมาธิ กับเด็กเล็กแล้วฟังเสียงแม่เล่าก็ทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เขาฟัง แล้วการมีสมาธินี่ล่ะที่จะช่วยต่อยอดให้ทำกิจกรรมอื่นได้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
6. พาคนอ่านและคนฟังไปสถานที่ที่ไม่เคยไป เรียกว่าช่วยเปิดโลกและเพิ่มพูนประสบการณ์ให้หลากหลาย ทำให้เด็กเป็นคนที่รอบรู้ รวมถึงมีวิธีคิดและมองโลกที่กว้าง ตลอดจนรู้จักแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์

หน้าที่สำคัญของพ่อแม่คือต้องช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้ลูกคุ้นเคยกับการอ่าน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการให้ลูกรู้สึกดีกับการอ่านและหนังสือ ซึ่งต้องเข้าใจและกระตุ้นให้เหมาะกับวัยด้วยค่ะ ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นยัดเยียดซึ่งจะส่งผลร้ายมากกว่าดีนะคะ

Chapter 4: อ่าน ....เพลินกับหลากวิธี
1. เป็นตัวอย่างที่ดีในการอ่านหนังสือ
2. สร้างค่านิยมและวัฒนธรรมการอ่านให้เป็นกิจกรรมประจำบ้าน เช่น กำหนดให้ทุกเย็นก่อนนอนเป็นช่วงเวลาของการเล่านิทาน หรือให้มี1วันช่วงกลางวันทั้งพ่อและแม่จะนั่งอ่านหนังสือ ทำให้เป็นหนึ่งกิจกรรมแทนการเดินช้อปปิ้งทุกวันหยุด
3. ทำให้การอ่านหนังสือเป็นเรื่องสนุกสนาน พ่อแม่เป็นคนสำคัญที่จะทำให้เกิดความรู้สึกนี้ขึ้น เริ่มต้นที่ลีลาท่าทางการเล่านิทาน น้ำเสียงที่เล่าต้องหลากหลายตามเรื่องราว ซึ่งจะช่วยให้นิทานเรื่องธรรมดาสนุกขึ้นมาได้ เมื่อเกิดความสุขและความสนุกสนานขึ้นมาได้รับประกันว่าลูกจะรักนิทานได้ไม่ยากเลยค่ะ
4. จัดมุมใดมุมหนึ่งของบ้านให้เป็นห้องสมุดขนาดเล็ก ไว้เป็นพื้นที่ให้ลูกได้อ่านหนังสือเล่มที่ชอบ
5. พาลูกไปเลือกหนังสือนิทานด้วยกัน
6. ตั้งกฎเหล็กก่อนนอนต้องอ่านนิทาน 1เล่มเสมอ พ่อหรือแม่ควรทำหน้าที่นี้ได้ทั้งคู่นะคะ

ความประทับใจครั้งแรกถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กค่ะ ทำให้ลูกรู้สึกดีกับการอ่านหนังสือเข้าไว้นะคะ จะเป็นการวางพื้นฐานการอ่านที่มั่นคงแข็งแรงให้กับลูก ทำอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัย แล้วเมื่อวันหนึ่งลูกหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเองถือว่าคุณได้ให้เครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดกับลูกแล้วค่ะ

เรื่องราวการอ่านไม่ได้จบเพียงเท่านี้ค่ะ ติดตามอ่านว่า
เด็กและช่วงอายุต้องอ่านหนังสือแบบใดจึงจะเหมาะสมใน
Modern mom ฉบับเดือนมกราคม 2551
อัพเดต โดยครูกิ๊บ


ผู้ตั้งกระทู้ ครูกิ๊บ :: วันที่ลงประกาศ 2008-01-18 09:35:37 IP : 124.120.100.39


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.