![]() |
|
Home | หลักสูตร | กิจกรรมประจำวัน | ติวสาธิตครูจอย | Contact | English Version | School Blog |
โรคไข้หวัดใหญ่ ข้อเท็จจริงที่ควรทราบเพิ่มเติม | |
โรคไข้หวัดใหญ่ ข้อเท็จจริงที่ควรทราบเพิ่มเติม นพ.พิสนธิ์จงตระกูล พบ. วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาทางการแพทย์ประจำโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย หมายเหตุ โปรดอ่านบทความเรื่อง โรคไข้หวัดใหญ่ ข้อเท็จจริงที่ควรทราบ ซึ่งได้แจกจ่ายไปก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2552 เพื่อความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ข่าวการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 ยังคงปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่ว จนมีการปิดโรงเรียนต่างๆ ไปมากกว่า 10 แห่ง บทความนี้จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกันในหมู่ผู้ปกครอง นักเรียน และคุณครู ของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย โรงเรียนมีมาตรการหลักในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนอย่างไร โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยได้เริ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่เป็นตามฤดูกาล (seasonal flus) มาเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยการจัดฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในราคาประหยัดแก่นักเรียนทุกคน ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่โรงเรียนประมาณ 1,000 คน ร่วมกับการฉีดวัคซีนโดยไม่คิดมูลค่าให้กับคุณครู ครูพิเศษ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ทุกท่านของโรงเรียน ซึ่งในปีนี้ได้ขยายการให้วัคซีนฟรีไปยังคุณตำรวจจราจรที่ให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปกครองเป็นประจำทุกเช้า-เย็น ในการนี้เชื่อมั่นได้ว่าโรงเรียนจะไม่ต้องปิดเรียนหากมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ประจำปี ที่เป็นสายพันธุ์ซึ่งบรรจุอยู่ในวัคซีน การฉีดวัคซีนจะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ AH1N1 2009 ได้หรือไม่ ป้องกันไม่ได้ เพราะแม้ในวัคซีนจะมีส่วนประกอบของ AH1N1 แต่เป็นสายพันธุ์ย่อย Brisbane ซึ่งพบแพร่ระบาดครั้งแรกในปี 2007 และต่อเนื่องมาจนถึงปีปัจจุบัน(A/Brisbane/59/2007 (H1N1)-like virus) ซึ่งสายพันธุ์ย่อยในวัคซีนมีความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย AH1N1 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน (การแพร่กระจายระดับ 6 ขององค์การอนามัยโลก) ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมสัมพันธ์กับสายพันธุ์ A/California/07/2009 และสายพันธุ์นี้อาจถูกนำไปเป็นองค์ประกอบของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฤดูกาลถัดไป (ปีหน้า) เมื่อวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ โรงเรียนมีมาตรการอื่นในการป้องกันหรือไม่ โรงเรียนเป็นสถานที่ที่โรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายได้โดยง่าย จึงควรมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ซึ่งโรงเรียนมาแตร์เดอีมีหลักปฏิบัติซึ่งได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคในปีนี้ ซึ่งทุกมาตรการจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย ดังนี้คือ
ทำไมต้องปิดโรงเรียนเมื่อพบว่ามีเด็กป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 โรงเรียนบางแห่งจำเป็นต้องปิดเนื่องจากมีเด็กนักเรียนป่วยพร้อมกันเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ รวมทั้งผู้ปกครองตื่นตระหนกไม่ส่งบุตรหลานของตนไปโรงเรียนอยู่ดีหากโรงเรียนไม่สั่งปิด ดังนั้นหากมีเด็กป่วยจำนวนน้อย โรงเรียนมีมาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรค และผู้ปกครองไม่ตื่นตระหนก การพบเด็กป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 ในโรงเรียน อาจไม่ใช่สาเหตุให้ต้องปิดโรงเรียน การปิดโรงเรียนแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใด การปิดโรงเรียนแก้ปัญหาได้น้อยมาก เพราะเมื่อเปิดเรียน และไม่มีมาตรการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นรองรับ ก็จะต้องมีเด็กป่วยอีก และการแพร่กระจายของโรคก็จะต้องเกิดขึ้นอีก โรงเรียนจะปิดๆ เปิดๆ อยู่เรื่อยๆ ไปตลอดปีได้อย่างไรกัน ถ้าไม่ปิดโรงเรียนแล้วจะเกิดอันตรายกับเด็กได้มากหรือไม่ ในเมื่อหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่าโรคนี้เป็น ไข้หวัดมรณะ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 ไม่ใช่ไข้หวัดมรณะ ในสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน 2552) มีผู้ป่วยเด็กที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์รวมทั้งสิ้น 70 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 5 รายที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 แสดงให้เห็นว่าไข้หวัดใหญ่ประจำปี (ซึ่งเป็นสายพันธุ์ในวัคซีน) มีอันตรายมากกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 มาก ดังนั้นหากจะวิตกกังวล ควรกังวลการติดไข้หวัดใหญ่ประจำปีมากกว่า ซึ่งเด็กนักเรียนของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยเกือบทุกคนต่างได้รับวัคซีนแล้วทั้งสิ้น คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 มักมีอาการไม่รุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ กล่าวคือนับถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2552 ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยจากโรคนี้จำนวน 17,855 ราย เสียชีวิต 44 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.25 (ป่วย 400 ราย เสียชีวิต 1 ราย) ที่สำคัญผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีความต้านทานโรคต่ำเช่นเป็นเด็กแรกเกิด เป็นเบาหวาน เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นผู้สูงอายุ เป็นต้น เด็กนักเรียนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงดีและไม่มีโรคประจำตัวแทบไม่มีโอกาสป่วยหนักจนเสียชีวิตด้วยโรคนี้เลย สถานการณ์ของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยต่อการติดเชื้อ AH1N1 2009 เป็นอย่างไร ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนของโรงเรียนบางคน มีพี่หรือน้องที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนต่างๆ ที่มีการปิดเรียนไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 หรือมีพี่น้องที่ติดเชื้อดังกล่าวโดยได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลแล้ว แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีนักเรียนคนใดป่วยหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ AH1N1 2009 ทั้งนี้เด็กทุกคนที่เข้าข่ายข้างต้น ผู้ปกครองได้ให้เด็กหยุดเรียนเพื่อเฝ้าดูอาการที่บ้าน (ทั้งที่ยังไม่มีอาการใดๆ ของโรค) ร่วมกับการกินยา oseltamivir เพื่อป้องกันการติดเชื้อตามคำแนะนำของแพทย์แล้วทุกราย ถ้าป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์เชื้อหรือไม่ คำแนะนำล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจแยกเชื้ออีกต่อไป เนื่องจาก ก.ค่าตรวจมีราคาแพงมาก (3000-4000 บาทที่โรงพยาบาลเอกชน) ข.ไม่มีผลต่อการรักษา เนื่องจากการให้ยาจะได้ผลก็ต่อเมื่อให้อย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มป่วย แต่การตรวจหาเชื้อใช้เวลาหลายวันกว่าจะรู้ผล หมายความว่าหากผู้ป่วยมีอาการหนักแพทย์จำเป็นต้องให้ยา oseltamivir หรือ zanamivir หรือ amantadine ในทันทีโดยไม่รอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือหากมีอาการน้อย (ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 จะมีอาการน้อย) จะไม่ให้ยาดังกล่าว แต่ให้การรักษาตามอาการเช่นให้ยาลดไข้ (อย่าใช้ยาปฏิชีวนะเป็นอันขาด เพราะไม่ช่วยรักษาโรคไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัด และจะส่งผลให้ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ที่ก่อโรครุนแรงได้ โปรดอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือ ฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะ ที่ได้แจกจ่ายแก่ผู้ปกครองที่แสดงความจำนงไว้จำนวน 936 ท่าน) ค.หากมีการตรวจเชื้อ ในวันที่ผลกลับมา การให้ยาก็ไม่เกิดประโยชน์แล้วเพราะเลยเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มป่วย และโรคอาจใกล้หายแล้ว ดังนั้นการตรวจพิสูจน์เชื้อที่ใช้เวลาตรวจหลายวันจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในการรักษา แต่เป็นประโยชน์ในการบันทึกสถิติทางระบาดวิทยาเท่านั้น ในระยะต่อไปนี้เมื่อผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าติดเชื้อสายพันธุ์ใด เพราะกระทรวงสาธารณสุขจะไม่ติดตามตรวจอีกต่อไป เนื่องจากโรคเริ่มแพร่กระจายในชุมชน และแพร่กระจายไปหลายจังหวัด เชื้อสายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 มีการดื้อยามากน้อยเพียงใด จากการติดตามของ CDC (Center of Disease Control) แห่งสหรัฐอเมริกา พบว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่มีความไวต่อยา oseltamivir 100% (ไม่พบการดื้อยาเลย) ในขณะที่เชื้อ AH1N1 ที่พบตามฤดูกาลมีอัตราการดื้อยา oseltamivir สูงถึงร้อยละ 99.5 (แต่ยังไวต่อ zanamivir 100%) ไวรัสสายพันธุ์ใหม่จึงรักษาให้หายได้ง่ายด้วยยากิน แต่ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมรักษาไม่ได้อีกต่อไปด้วย oseltamivir และจำเป็นต้องใช้ยาอื่นในการรักษา หากมีญาติพี่น้องติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ควรกินยาป้องกันไว้หรือไม่ ควรกินยา oseltamivir เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปยังบุคคลอื่น แต่ต้องกินยาภายใน 2 วันหลังการสัมผัสกับผู้ป่วย โดยกินยาวันละ 1 เม็ดติดต่อกัน 7-10 วัน หากสัมผัสกับผู้ป่วย แต่มารู้ภายหลัง เช่น 5 วันหลังจากนั้น การกินยาจะไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ จึงควรใช้การสังเกตอาการ เมื่อป่วยให้รีบกินยาทันทีก็จะช่วยลดระยะเวลาการเป็นโรคลง และลดโอกาสการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หากสัมผัสกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ทราบสายพันธุ์ และตนเองแข็งแรงดี ไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกัน เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หลายคนในปัจจุบันติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่แต่ไม่รู้ว่าติด เป็นไปได้ แต่ไม่จำเป็นต้องตกใจ เพราะเชื้อสายพันธุ์ใหม่มีอาการไม่รุนแรง การรักษามีขั้นตอนเหมือนไข้หวัดใหญ่ปกติ กล่าวคือ หากมีอาการน้อยไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส กินพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียวหากมีไข้ ปวดศีรษะหรือปวดเมื่อย ไม่ต้องใช้ยาอื่นใดอีก พักผ่อน หลีกเลี่ยงความเย็น อย่าตากฝน หากเป็นผู้มีความต้านทานโรคต่ำหรือมีอาการรุนแรงจึงใช้ยาต้านไวรัสหรือเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ข้อควรระวัง ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ปกติ AH1N1 ในประเทศไทยมีอัตราการดื้อยา oseltamivir 100% เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลก การเลือกยาให้เหมาะสมจึงมีความยากลำบากกล่าวคือ หากเป็นสายพันธุ์ใหม่และได้รับยา oseltamivir จะได้ผล หากเป็นสายพันธุ์ปกติจะไม่ได้ผล ต้องใช้ zanamivir หรือ amantadine แต่ในวันที่ให้ยาแพทย์จะยังไม่ทราบว่าผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ใด การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับนักเรียนโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เนื่องจากนักเรียนโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยเกือบทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีแล้ว ดังนั้นหากป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ น่าจะเกิดจากไวรัสสายพันธุ์อื่นซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ AH1N1 2009 หรือสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในวัคซีน การรักษาด้วย oseltamivir น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่อย่าลืมว่าการรักษาจะได้ผลก็ต่อเมื่อให้ยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มป่วย และจำเป็นต้องใช้ยาต่อเมื่อเป็นผู้มีความต้านทานโรคต่ำหรือมีอาการรุนแรงมากเท่านั้น มาตรการช่วยเหลือการเรียนกรณีที่เด็กต้องหยุดเรียน คุณครูประจำชั้นจะให้ความสะดวกแก่ผู้ปกครองในการให้คำแนะนำแก่นักเรียนในการอ่านทบทวนบทเรียนด้วยตนเองที่บ้าน ทำการบ้าน หรือทำรายงานที่จำเป็นขณะพักรักษาตัวที่บ้าน หากต้องพักนานหลายวัน หากโรงเรียนจำเป็นต้องปิดในกรณีที่มีนักเรียนและครูป่วยจำนวนมาก โรงเรียนจะมีแผนรองรับเพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาที่บ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด หมายเหตุ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาวของนักเรียนโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ผู้ปกครองและคุณครูทุกท่านโปรดอ่านเอกสารฉบับนี้ควบคู่ไปกับหนังสือ ฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะ และแผ่นพับของโครงการ Antibiotics Smart Use โดยผู้ปกครองและคุณครูควรปฏิเสธยาปฏิชีวนะ ในกรณีต่อไปนี้
หมายเหตุ หากโรครุนแรง เช่นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดบวม หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในทันที โดยใช้ในปริมาณที่ถูกต้องและนานเพียงพอ *** ขอบคุณข้อมูล จากโรงเรียนมาแตร์เดอี | |
ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-13 22:18:02 IP : 124.120.107.60 |
Copyright © 2010 All Rights Reserved. |
![]() |
Visitors : 685318 |