ReadyPlanet.com


เก็บมาฝากคะ "วินัยกับเด็กๆ"
avatar
ครูจอย




พบกันอีกครั้งค่ะ คราวนี้คุณพ่อคุณแม่คงจะได้หายสงสัยกันสักทีว่าคุณพ่อคุณแม่จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวินัย 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจุบันมีการให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูเด็กและมีเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้มากมาย แต่ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพียงเท่านั้นคงไม่เพียงพอ เพราะการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นต้องมีกระบวนการบ่มเพาะทักษะพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น คุณธรรม และจริยธรรม ที่เทคโนโลยีไม่สามารถปลูกฝังได้ การบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยพ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูเป็นผู้สร้างและบ่มเพาะควบคู่กับทักษะความรู้และความสามารถ

ปัจจุบันเด็กไทยส่วนใหญ่ถูกละเลยเรื่องความประพฤติ คุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรมีในภายในจิตใจ เพื่อเป็นวัคซีนป้องกันสิ่งไม่ดีรอบตัวเรา คุณธรรมและจริยธรรม ประกอบด้วยเรื่องของวินัย ความรับผิดชอบ และมารยาท  พวกเราสามารถช่วยกันส่งเสริมให้แก่ลูกหลานได้ตั้งแต่เล็กๆ นะคะ
 
ครูจุ๋มมองว่า คุณธรรม จริยธรรม หรือวินัยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติ หรือการมีพฤติกรรมที่ดีตามกฎเกณฑ์ของสังคม บนหลักของศีลธรรม รวมถึงการรู้จักหน้าที่ การมีจิตใจงดงาม ส่วนใหญ่คุณพ่อ คุณแม่มักมองข้ามและคิดว่าเด็กเล็กๆ ยังไม่รู้เรื่อง จึงไม่ต้องเข้มงวด หรือไม่สอนและเน้นย้ำเรื่องวินัย แต่แท้จริงแล้วคุณธรรม และจริยธรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ทุกกระดับในทุกสังคมพึงต้องมี

ดังนั้นการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับเด็กควรคำนึงถึงช่วงอายุของเด็ก เพราะกลยุทธ์ในการบ่มเพาะจะแตกต่างกันออกไปตามความพร้อมของเด็กแต่ละวัย  เพียงแต่พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเด็กวัยไหนมีความพร้อมด้านใด เพื่อจะค้นหาวิธีการที่จะปลูกฝังวินัยให้เด็กแต่ละช่วงวัย เรียนรู้และปฏิบัติกัน ฉะนั้นเรามาดูกันนะคะว่าเราจะพัฒนาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะการปลูกฝังวินัยให้กับเด็กเล็กๆ กันอย่างไรบ้าง แต่ก่อนไปดูกิจกรรม ครูจุ๋มขอแบ่งปันประสบการณ์จากหลายๆ บ้านที่สังเกตเห็นเรื่องการเลี้ยงดู

เท่าที่ครูจุ๋มมีประสบการณ์จะเห็นว่า หลายๆ บ้านดูแล และเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ซึ่งเป็นสิ่งดี แต่คำนี้เป็นคำอันตรายเหมือนกัน เพราะความรักต่อลูก หลาน ก็สามารถทำให้เรามองข้าม บางสิ่งบางอย่างที่สำคัญไป

บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติกับลูก โดยลืมนึกไปว่าผลลัพธ์ปลายทางที่อาจจะเกิดขึ้นคืออะไร หรือผลเสียที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของเด็ก โดยพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจ เรามักตอบสนองในสิ่งที่ลูกต้องการเสมอ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่มีเป้าหมายหลักคือ ลูกมีความสุข ลูกไม่งอแง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องสู้รบกับลูกถ้าทำตามความต้องการของลูก เท่านี้แหละที่คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดูพอใจ แต่เมื่อเด็กต้องออกไปเติบโตในสังคมที่ใหญ่ขึ้น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน หรือเข้าสังคมกับเด็กคนอื่น ลูกเราอาจจะไม่มีความสุข ไม่สามารถปรับตัวได้ เพราะในสังคมทั่วไปนั้นมีกติกาเบื้องต้น มีการฝึกด้านวินัย ความรับผิดชอบและมารยาทพื้นฐานให้แก่เด็กเล็ก

บ่อยครั้งที่เราเองก็ขาดสิ่งเหล่านี้เช่นกัน และทำให้เราไม่เห็นความสำคัญของเรื่องวินัยว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกวัยควรได้รับการฝึกฝนพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันเด็กไทยส่วนใหญ่ในสังคมเริ่มมีปัญหาพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องวินัย อันเนื่องจากการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติต่อเด็กนั่นเอง การไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ เผชิญกับสถานการณ์ และเรียนรู้ที่จะปรับตัว ซึ่งเด็กๆ ต้องได้เรียนรู้บนพื้นฐานของความเป็นจริง การปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมถูกมองข้ามไป เนื่องจากการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา และด้วยรูปแบบสังคมในปัจจุบันที่เร่งรีบ และเอาตัวรอด 
 

ถ้าต้องการปูพื้นฐานเรื่องคุณธรรม จริยธรรม โดยพัฒนาเรื่องการปลูกฝังวินัยให้แก่เด็กวัยเตาะแตะ หรือวัยอนุบาล จะใช้วิธีใดได้บ้าง หลักง่ายๆ ที่คุณพ่อ คุณแม่สามารถปลูกฝังวินัยให้ลูกโดยการสอดแทรกวินัยเข้าไปในกิจวัตรประจำวันของลูกในแต่ละวัน และฝึกผ่านการกระทำจริงในวิถีชีวิตของเด็กไปพร้อมๆ กับพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูที่ปฏิบัติให้เด็กเห็น

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องระลึกเสมอคือ เราจะเริ่มฝึกวินัยง่ายๆ สำหรับวัยของลูกคุณ โดยไม่เป็นผู้ตัดสินว่าลูกของคุณมีความสามารถ หรือไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ เพราะคุณพ่อคุณแม่ อาจจะทึ่งและประหลาดใจกับความสามารถของลูกในการกระทำสิ่งดีๆ ได้หลายอย่าง ถ้าคุณเปิดใจที่จะปรับความคิด และลองฝึกปฏิบัติกับลูกของคุณ ตอนนี้ลองหันกลับมาดูวินัยที่ใกล้ตัวมากที่สุดคือ เรื่องการกินข้าวของลูก ว่าเป็นอย่างไร พ่อ แม่ และผู้เลี้ยงดูสอนอะไรลูกบ้าง หรือเรายึดความสุขของลูกเป็นสำคัญโดยไม่คำนึงถึง เรื่องวินัยในการกิน

ถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูลูกๆ โดยให้กินข้าวไป เล่นไป เพราะพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูมองแค่เรื่องการให้เด็กกินข้าวเพื่อให้เด็กเติบโตเพียงประเด็นเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงพฤติกรรม วินัยหรือมารยาทที่พึงฝึกผ่านกิจวัตรการกิน เด็กจะเรียนรู้เรื่องการกินไปเล่นไปเป็นเรื่องที่ทำได้  หรือถ้าไม่กินข้าวก็ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวก็มีคนมาป้อน โดยผู้ใหญ่นี่แหละที่ปลูกฝังวินัยในการกินข้าวแบบผิดๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นการเลี้ยงดู และการบ่มเพาะเด็กนั้น ผู้ใหญ่ต้องมองรอบทิศและลงรายละเอียดของการกระทำ เพราะมันอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ จากการกระทำเพื่อจุดประสงค์เดียว โดยทำให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม และเรียนรู้สิ่งไม่เหมาะสมอันเกิดจากความรักของผู้เลี้ยงดูโดยไม่ได้ตั้งใจ

คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยความรักแบบนี้หรือเปล่าคะ เพราะการเลี้ยงดูด้วยความรักเป็นที่ตั้งทั้งหมดอาจเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น กินเสร็จแล้วลุกจากที่นั่ง โดยไม่ฝึกให้ลูกเรียนรู้กระบวนการเก็บโต๊ะ เก็บเก้าอี้เมื่อทานเสร็จ สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็กเล็กอายุ 4-5 ปี เช่น ให้เด็กเก็บจานข้าวของตนเองไว้ที่อ่างล้างจาน ให้เด็กได้มีส่วนช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆพอให้รู้ว่าทุกกิจกรรมมีจุดเริ่มต้นและจุดจบ (กิจกรรมตรงนี้อาจเริ่มได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 ปี) การฝึกวินัย เช่นการกิน สามารถเริ่มได้แต่ทารกโดยการให้นมเป็นเวลา และเมื่อเด็กเริ่มโตสามารถนั่งและหยิบจับอาหารได้ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ กินข้าวบริเวณโต๊ะอาหาร และนั่งเก้าอี้สำหรับเด็กมีที่ล๊อคเพื่อความปลอดภัย เด็กอาจกินหกเลอะเทอะบ้าง นี่แหละคือการพัฒนาทักษะต่างๆ ของลูก

วินัยในการกิน และมารยาทต่างๆ ในการกินก็เริ่มซึมซับเข้าไปในตัวเด็กทีละเล็กทีละน้อย รายละเอียดของวินัยก็ต้องดูความเหมาะสมตามพัฒนาการของเด็กควบคู่ จะเห็นว่าสิ่งที่กล่าวข้างต้นนั้นเริ่มฝึกวินัยเรื่องมารยาทในการกิน การกินต้องนั่งในที่ที่เหมาะสม และตามตารางเวลาที่กำหนด ซึ่งกระบวนการนี้เด็กจะเรียนรู้ทุกๆ วัน เมื่อเด็กโตขึ้นและพร้อมใช้กล้ามเนื้อในการจับช้อน หรือถือแก้ว เด็กควรได้เรียนรู้เรื่องของการใช้อุปกรณ์การกินอย่างเหมาะสม

ในระยะแรกๆ กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กอาจยังไม่แข็งแรงพอ แต่ถ้าได้ฝึกหยิบจับทุกวัน เด็กก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ พ่อแม่อาจเริ่มฝึกเด็กให้รู้จักการรวบช้อนส้อม การช่วยเก็บจาน เก็บแก้ว และเรียนรู้กระบวนการทำความสะอาดบริเวณปาก และโต๊ะกินข้าวได้ 

จะเห็นว่าเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นทักษะที่เด็กต้องเรียนรู้ก็จะมีเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าบ้านไหนที่ให้คนเลี้ยงดูแลแล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่ต้องแยกแยะอย่างมีสตินะคะ เพราะคนเลี้ยงบางคนทำทุกอย่างให้เด็ก และคุณพ่อ คุณแม่ก็พอใจ โดยไม่เข้มงวดเรื่องวินัยของลูก แน่นอนลูกมีความสุข คุณพ่อคุณแม่ ก็มีความสุข จุดนี้คือจุดอันตรายนะคะ 

ในกรณีตรงกันข้าม คนเลี้ยงดูบางคนเข้มงวด ฝึกวินัยกับลูก และเด็ก ซึ่งแน่นอนเด็กอาจไม่ชอบ ทำให้เด็กงอแง และอาละวาด คุณพ่อคุณแม่อาจประเมินว่าคนเลี้ยงนั้นเลี้ยงลูกไม่ดี แม้ว่าคนเลี้ยงพยายามสร้างลักษณะนิสัยที่ดีแก่เด็ก ดังนั้นเราควรจะต้องแยกแยะระหว่างความสุข ความพอใจของลูกและพ่อแม่กับวินัยนะคะ ที่สำคัญทุกคนที่อยู่ใกล้ชิดของลูก ควรจะมีการตกลงกันเรื่องข้อปฏิบัติและวินัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การฝึกวินัยเป็นเรื่องลำดับต้นๆของการส่งเสริมเรื่องคุณธรรม และจริยธรรม การสร้างวินัยกับเด็กเล็กๆ นั้นมีหลายกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มทำได้จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น
     
- เรื่องการกิน การนอนเป็นเวลา สามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด และเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นอายุ 8 เดือน ควรฝึกการนั่งโต๊ะกินอาหารและมารยาทบนโต๊ะอาหาร การฝึกการขับถ่าย การทำกิจวัตรต่างๆในวัยเด็ก ต้องดำเนินเป็นเวลาเดิมอย่างสม่ำเสมอทุกวัน 
    
- เรื่องการให้ความเคารพผู้ใหญ่ การมีสัมมาคารวะ (9 เดือนขึ้นไป)  (โดยผู้ใหญ่ทำให้เด็กๆ เห็น จับมือเด็กไหว้ และกระตุ้นเตือนให้เด็กรู้จักการเคารพ และมีสัมมาคารวะ)

- เรื่องการเก็บที่นอน การเก็บเสื้อผ้าใช้แล้วลงตะกร้า (16 เดือนขึ้นไป) 

- เรื่องการเก็บของเล่นเข้าที่เมื่อเล่นเสร็จ (16 เดือนขึ้นไป)

- เรื่องการทิ้งขยะให้ถูกที่ (16 เดือนขึ้นไป)

การฝึกวินัยโดยการสอดแทรกลงในกิจกรรมพัฒนาทักษะภาษาและทักษะต่างๆที่สำคัญสำหรับเด็กๆ เช่น

- การจัดเวลา สถานที่อ่านนิทาน ทั้งการอ่านให้ลูกฟัง หรืออ่านด้วยกัน

- การจัดเวลาเล่นเกมและกิจกรรมที่ครอบครัวทำร่วมกันเป็นประจำ อาทิ การเล่นเกมกระดาน การเดินและเล่นในสวน การขี่จักรยาน เป็นต้น (สามารถนำทารกนั่งรถเข็นเดินในสวนได้ เล่นเกมมือสัมผัส ตั้งแต่แรกเกิด) 

- การฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำอาหาร
  

- การทำกิจกรรมขีดเขียน ด้วยสี finger paint สีเทียนแท่งโต (16 เดือนขึ้นไป) (สอนให้เด็กรู้จักการเก็บรักษาอุปกรณ์ และทำความสะอาดพื้นที่ที่เลอะเทอะ)
 

- การปลูกต้นไม้และการดูแลธรรมชาติ (16 เดือนขึ้นไป) (สอนให้เด็กรู้จักขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์ การเก็บอุปกรณ์ และการทำความสะอาดอุปกรณ์ และร่างกายของเด็ก)

- การฝึกการแยกวัสดุประเภทต่างๆ เช่น กระดาษ พลาสติก โลหะ และอื่นๆ ก่อนทิ้งเพื่อส่งเสริมการ
ดูแลสิ่งแวดล้อม (16 เดือนขึ้นไป)

กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ยกเป็นตัวอย่าง เพราะในการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมเด็กๆ จะได้เห็นกระบวนการจัดเตรียม การลงมือ การทำความสะอาดและเก็บอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมทั้งดูแลสถานที่ที่ใช้ผ่านการพูดคุย ผ่านการลงมือทำ ผ่านวิถีชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นภายในบ้านและโรงเรียน และผ่านการมองเห็นการเปลี่ยนแปลง ระหว่างการสนทนาผู้เลี้ยงดูควรคควรสอน และอธิบายการกระทำไปพร้อมๆ กับ การปฏิบัติเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ และซึมซับสิ่งที่พึงกระทำ ซึ่งจะเป็นการสร้างวินัยพื้นฐานให้แก่เด็กๆได้ดี ทั้งพ่อแม่ยังได้เรียนรู้จักตัวตนของเด็กมากขึ้นและยังส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัว  

การฝึกฝนวินัยกับเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้เด็กรู้สึกเป็นเรื่องสนุก และเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติสม่ำเสมอและอย่าลืมว่าผู้ใหญ่ก็ต้องปฏิบัติไปพร้อมๆ กันกับเด็กเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเด็กด้วยนะคะ เนื่องจากการเรียนรู้ของเด็กนั้นเรียนรู้จากพฤติกรรมการเลียนแบบ และเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงพฤติกรรมบางอย่างที่คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ดูแลสามารถฝึกฝนปฏิบัติกับเด็กๆได้นะคะ หลายครั้งที่ผู้ใหญ่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กๆลงมือทำ เพราะเหตุผลของความรัก ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ปิดกั้นโอกาสของเด็กในการเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ เพราะความรักที่เป็นพลังสำคัญที่ทำให้ผู้ใหญ่ไม่ได้ตระหนักและคำนึงถึงผลเสียที่เด็กอาจได้รับ ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ลองปรับมุมมองในการให้ความรักแก่ลูกๆของคุณใหม่ พยายามสอดแทรก คุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะเรื่องวินัยในชีวิตประจำวันให้แก่เด็ก เพื่อการพัฒนา และการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ 

สนุกกับการปลูกฝังเรื่อง วินัยกับลูกๆของคุณพ่อ คุณแม่นะคะ



ผู้ตั้งกระทู้ ครูจอย :: วันที่ลงประกาศ 2009-02-07 18:28:19 IP : 124.120.107.73


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1898742)
avatar
ครูจอย

" บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติกับลูก โดยลืมนึกไปว่าผลลัพธ์ปลายทางที่อาจจะเกิดขึ้นคืออะไร หรือผลเสียที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของเด็ก โดยพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจ เรามักตอบสนองในสิ่งที่ลูกต้องการเสมอ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่มีเป้าหมายหลักคือ ลูกมีความสุข ลูกไม่งอแง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องสู้รบกับลูกถ้าทำตามความต้องการของลูก เท่านี้แหละที่คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดูพอใจ แต่เมื่อเด็กต้องออกไปเติบโตในสังคมที่ใหญ่ขึ้น ลูกเราอาจจะไม่มีความสุข ไม่สามารถปรับตัวได้ เพราะในสังคมทั่วไปนั้นมีกติกาเบื้องต้น มีการฝึกด้านวินัย ความรับผิดชอบและมารยาทพื้นฐานให้แก่เด็กเล็ก "

  วินัยควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กคะ  โตแล้วจะดัดยาก  แต่ถ้าท่านเริ่มต้นแล้วควรต่อเนื่อง  แล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีตลอดไปด้วยคะ  อย่ายอมแพ้ต่อปฏิกิริยาต่อต้านระยะแรกของลูกนะคะ   หากเด็ก ๆ มีวินัยแล้วพัฒนาการต่าง ๆ อยากให้ลูกเก่ง   อยากให้ลูกไม่ดื้อ ไม่ซน   อยากให้ลูกเป็นที่รักของเพื่อนฝูง  อยากให้ลูกมีความสุข  สิ่งต่าง ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เตรียมไว้ให้ลูกก็ไม่เสียเปล่าคะ  

   จุดเล็ก ๆ ที่จะสร้างประเทศไทยให้เข้มแข็งคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ครูจอย วันที่ตอบ 2009-02-07 18:46:47 IP : 124.120.107.73



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.