ReadyPlanet.com


Mega Skills : 11 ทักษะนิสัยคู่ชีวิต เริ่มต้นปลูกเม็กก้าสกิลล์ในตัวลูกวันนี้
avatar
Admin


Mega Skills : 11 ทักษะนิสัยคู่ชีวิต

ในอดีตผู้ปกครองมีความเชื่อว่า เมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยเรียน เด็กแต่ละคนจะมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษา และประสบความสำเร็จในชีวิตได้เลย แต่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ไม่ควรคิดอย่างนี้อีกต่อไป เพราะสิ่งที่เด็กได้รับการสอนจากที่บ้าน ชุมชน และจากสื่อ ไม่สามารถที่จะเตรียมความพร้อมให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เท่าที่เขาควรจะเป็น

MegaSkills หรือทักษะนิสัยคู่ชีวิต มุ่งเน้นไปที่เด็ก นานะที่เด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ โดยความร่วมมือจากครู และครอบครัวของเด็ก ในฐานะผู้ส่งข่าว และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ นั่นทำให้เด็กทุกคนรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่จะนำพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ ในฐานะที่ดิฉันเป็นครู เชื่อเสมอว่าเราสามารถสร้างให้เด็กมีความสามารถ และประสบความสำเร็จในการเรียนรู้

MegaSkills หรือทักษะนิสัยคู่ชีวิตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่มันเติบโตจากการถามคำถามง่ายๆ กลับไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กอย่างต่อเนื่องว่า อะไรคือสูตรสำเร็จในการสร้างอัจฉริยะภาพให้กับผู้คนและเด็กๆ และอะไรที่ดึงอัจฉริยะภาพของพวกเขาเหล่านั้นให้ลดลง และกลับมีขึ้นใหม่ ล้มๆ ลุกๆ กลับไปกลับมา? และอะไรที่คนส่วนมากสามารถเรียนรู้ และประสบความสำเร็จ? MegaSkills คือคำตอบเหล่านี้

ดร.โดโรธี ริช


รู้จัก ดร.โดโรธี ริช

ดร.โดโรธี ริช เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานสถาบันอาสาสมัคร ผู้ไม่แสวงหากำไรจากบ้านและโรงเรียน "The nonprofit Home and School Institute" ที่วอชิงตัน ดีซี เป็นสถาบันที่สนับสนุนการศึกษาในครอบครัว รวมทั้ง ดร.ริชยังเป็นคนแรกที่เขียนและตีพิมพ์หนังสือเรื่องทักษะนิสัยคู่ชีวิต หรือ MegaSkills โดยพัฒนามาจากคิดหลักสูตรการฝึกทักษะชีวิตที่ใช้ลองใช้กับเด็กมากกว่า 30,000 โรงเรียน 40 รัฐ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและเพื่อนบ้าน

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินชีวิต ดร.ริช ทำงานบนลานกว้าง เธอตั้งเป้าหมายชัดเจน เพื่อช่วยเหลือครอบครัวพร้อมๆ กันกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในโรงเรียนและในที่อื่นๆ

ดร.ริช ได้รับรางวัลจากผลการทำงานในระดับ A+ จาก U.S.Department of Education และได้รับการยอมรับจากมูลนิธิ MacArthur และมูลนิธิอื่นๆ

ดร.ริช ทำงานวิจัยค้นคว้า ทดสอบ และพบผลสำเร็จของการแก้ปัญหาการเรียน การทำการบ้าน การฝึกฝนวินัยที่โรงเรียน และที่บ้าน และลดปัญหาการดูโทรทัศน์ในเด็กด้วย ผลงานของ ดร.ริช ได้ถูกตีพิมพ์ใน Washington New York, Los Angeles, NBC Today, Education Week, Good Morning American, Reader’s Digest รวมทั้งนิตยสารบันทึกคุณแม่

Confidence ความมั่นใจในความสามารถของตน

เด็กที่มีความมั่นใจในตนเอง จะเป็นคนที่ชอบทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายความสามารถของตัวเอง กล้าเข้าหาผู้คน คบคนใหม่ๆ มีระบบระเบียบในการทำงาน มีความมั่นใจสูง สู้งาน ไม่ปฏิเสธงานที่ต้องใช้ความบากบั่น มีความคิดอ่านที่กว้างไกลลึกซึ้ง อะไรที่ท้ายทายความสามารถ ก็จะเป็นที่ต้องใจ ยิ่งยากยิ่งดี จึงเป็นคนที่น่าคบหาและร่วมงานด้วย

พื้นฐานของความมั่นใจในตนเองอยู่ที่ความรู้สึกที่ว่า ตนเป็นผู้ที่ยอมรับนับถือของตนเองและผู้อื่นด้วย ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนทำได้ เพื่อที่จะ "มี" "เป็น" หรือ"อยู่" ได้ในสังคมของตนอย่างดี มีความสุข

ปัจจุบันความรักกำลังทำร้ายเด็ก การการทะนุถนอมลูกของคุณพ่อคุณแม่จนถึงขั้นขีดสุด ขนาดถึงกับไม่ให้แตะต้องงานบ้านอะไรเลย หรือแม้แต่ลูกจะเอื้อมมือไปหยิบของ คุณพ่อคุณแม่ก็เอื้อมมือไปหยิบให้ลูกแทน และส่งให้ตรงหน้า การทำเช่นนี้คุณพ่อคุณแม่จะรู้ไหมว่าเป็นการทำให้ความรักนั้นๆ ฆ่าเด็กทางอ้อม

ไม่ว่าจะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็กในฐานะที่เป็นคุณแม่ หรือในฐานะที่เป็นคุณครูนั้น ควรมีทั้งศาสตร์และศิลป์คือ เมื่อไรรู้ว่าควรให้ เมื่อไรรู้ว่าควรฝึก เมื่อไรควรเกาะติด เมื่อไรควรถอยห่าง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

การรู้ตัวรู้ตน เป็นแกนสำคัญแกนหนึ่งของการยอมรับในตัวตนของตนเองว่า ไม่ว่าตัวเองจะมีสิ่งดีหรือไม่ดี ความดีความชั่วนั้นก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนในตัวเรา ซึ่งคนที่จะยอมรับตนเองได้เช่นนี้เท่านั้น ที่จะมีความมั่นใจในตนเอง อยากลงมือทำอะไรก็จะกล้าก้าวลงไปทำ

เมื่อเด็กได้รู้จักอารมณ์ของตนเอง ก็จะรู้จักตัวตนของตนเองด้วย สิ่งนี้จะเป็นมูลฐานแรก ที่จะสอนให้เขาควบคุมจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ทำให้เขามีสติที่จะสงบ ระงับอารมณ์ที่เกิดอยู่ภายในได้ง่ายขึ้น รู้ข้อบกพร่องของตนเอง

เมื่อเด็กๆ ยอมรับความเป็นตัวตนของตัวเองได้ ก็จะยอมรับผู้อื่นได้ด้วย โดยคิดได้ว่าทุกคนมีโอกาสทำดีและชั่วเท่ากัน เมื่อเกิดความคิดเช่นนี้ ก็มีความมั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับทุกสิ่ง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจ มีเมตตา รู้จักให้อภัยผู้อื่นได้ คนที่รู้ดีรู้ชั่ว รู้จักรักษาวินัย มีสติอยู่ตลอดเวลา วิ่งตามความรู้สึกนึกคิด และการกระทำของตนได้ทันท่วงที อย่างใช้ปัญญา ย่อมทำให้เขาเป็นคนที่มีความมั่นใจ กล้าคิดกล้าทำ อย่างไม่กลัวพลาด ล้มแล้วลุกขึ้นได้อยู่เสมอ

Motivation แรงจูงใจ

เด็กที่มีแรงจูงใจ จะกระตือรือร้น ทำสิ่งที่ตนสนใจให้เห็นผล ไม่รู้อะไรก็จะซักถาม หากไม่พอใจคำตอบก็จะหาข้อมูลเพิ่มเติม ตื่นเต้นที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ชอบอยู่ใกล้ครู เลือกที่นั่งแถวหน้าชั้นเป็นประจำ ครูถามอะไรก็ยกมือตอบเป็นคนแรก และชอบถามครูแทบทุกเรื่อง รับผิดชอบการบ้าน หรืองานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มใจ ผู้ใหญ่จึงไม่ต้องเตือนปากเปียกปากแฉะ คำว่าไม่ ไม่เอา ไม่ทำ ไม่ได้ ไม่สนใจ ไม่รู้ ไม่ได้คิดมาก่อน จะไม่มีอยู่ในระบบความคิดของเด็กที่มีนิสัยเช่นนี้

เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับแรงจูงใจที่อยากรู้อยากเห็น เมื่อเด็กเรียนรู้ว่ามือและแขนของตนทำให้สิ่งของเคลื่อนได้ เขาก็จะขว้างลูกบอลซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ได้เพราะว่าซน แต่เพราะอยากรู้อยากเห็นว่าลูกบอลจะกลิ้งหมุนนานเท่าใด กระเด้งกระดอนอย่างไร แล้วสิ่งที่มีรูปทรงกลมแต่ไม่ใช่ลูกบอล มันกลิ้งหมุนได้อย่างลูกบอลไหม?

เด็กทุกคนเกิดมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ และยังเป็นนักอะไรอีกหลายอย่างด้วยการลงมือทดลองทำ แต่ทำไมกลับเติบโตมาเป็นคนเฉย และแตกต่างจากเมื่อตอนเป็นเด็กอย่างขาวเป็นดำ

ถ้าเราจะสร้างทักษะชีวิต และลักษณะนิสัยของเด็กให้มีแรงจูงใจ กระตือรือร้น ใคร่เรียนใคร่รู้ ก็สามารถที่จะแข่งขันกับตัวเองหรือผู้อื่น ให้เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ ไม่ท้อถอย ล้มแล้วลุกขึ้นสู้จนถึงที่สุด ซึ่งเด็กต้องมีพื้นฐานในทางวินัย รู้วิธีทำงานเป็นขั้นตอน รู้ค่าของการวางแผน เห็นความสำคัญของการฝึกฝนตั้งแต่เยาว์วัย ยิ่งเร็วเท่าไรได้ยิ่งดี

การแข่งขันต้องอาศัยแรงจูง ใจ ความมุ่งมั่น ล้มแล้วให้ลุกขึ้นใหม่ก็จริง แต่ต้องอาศัยการรู้จักจุดแข็งของตนเองด้วย เด็กต้องรู้ว่าตนเองมีอะไรดีที่น่าภูมิใจในตัวเอง จึงจะเข้มแข็งออกเวทีแข่งขัน ด้วยแรงจูงใจ ความมุ่งมั่นที่จะทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เขาจะเต็มใจฟันฝ่าอุปสรรค เผชิญกับความพ่ายแพ้ โดยปราศจากความรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ หรือบั่นทอนกำลังใจ



Effort ความพยายามทุ่มเท

เด็กสมัยนี้ควรพยายามเข้าใจและเห็นค่าของคำว่า "พยายามทำงานอย่างสุดความสามารถ" ซึ่งต้องใช้เวลาและความเพียรอย่างหนัก จึงจะเสริมสร้างคุณลักษณะตัวนี้ให้เกิดขึ้นในตนเองได้ เพราะเทคโนโลยีสูงในสมัยนี้ มีแต่บริการเร่งด่วน รวดเร็วทันใจ ง่ายดาย สิ่งของเครื่องกินเครื่องใช้สำเร็จรูปก็มีมากมาย คนจึงเป็นคนที่ใจเร็วด่วนได้ ไม่รอบคอบ ไม่ถี่ถ้วน พอใจอะไรง่ายๆ

เด็กๆ จึงควรมีทักษะในการพยายามทำงานอย่างสุดความสามารถ เริ่มจากการทำการบ้าน และงานบ้านอย่างทัดเทียมกัน เพราะหากผู้ใหญ่ให้ความสำคัญแต่การบ้านของเด็ก เด็กก็จะกลายเป็นคนที่หยิบโหย่ง ทำอะไรไม่เป็น ผู้ใหญ่ที่เน้นแต่ให้เด็กช่วยงานบ้าน ไม่เอาใจใส่ดูแลให้เด็กทำการบ้านควบคู่ไปด้วย ก็เท่ากับสร้างเสริมลักษณะนิสัยเอาดีไม่ได้ให้กับเด็ก เด็กจะมีอนาคตที่ลางเลือน

เด็ก 2-3 ขวบ เริ่มแบกสมุดคัดลายมือกลับบ้าน กิจกรรมหลักของโรงเรียนอนุบาลก็มีแต่การทำแบบฝึกหัด จับคู่โยง ทั้งวิชาคณิตศาสตร์และวิชาทางภาษา แล้วก็ระบายสีภาพจากเส้นต่างๆ แล้วก็สอนเด็กร้องเพลง จับมาสอนระบำเต้น แล้วก็ฟังนิทาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวประโยชน์ทางวิชาการจากทฤษฎีสากลว่าด้วยการพัฒนาเด็ก และเรื่องความมหัศจรรย์ของสมองเด็กมาใช้ เพราะไม่มีกิจกรรมใดกระตุ้น หรือประเทืองปัญญาของเด็กให้ล้ำเลิศ แต่เริ่มมาพัฒนาเด็กจริงๆ เอาเมื่อวัยประถมหรือมัธยมก็สายเสียแล้ว เพราะช่วงที่สมองของเด็กพัฒนาถึงขีดสุดความสามารถได้ผ่านพ้นไปแล้ว

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มจับมือให้เด็ก 2 ขวบนั่งจับดินสอเขียน พยายามปั้นเส้นให้เป็นตัวหนังสือหรือตัวเลข ครั้นเมื่อเด็กอายุ 8 ขวบ เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 3 ก็สมควรแก่เวลาที่เด็กต้องคัดลายมือจริงๆ สักที แต่เด็กไม่ยอมคัดแล้ว เพราะถูกบังคับให้เริ่มเร็วไป เด็กจะเบื่อหน่าย

แต่ถ้าเราปรับให้การคัดลายมือ เป็นกิจกรรมการที่สนุกสนาน การเรียนก็จะเป็นเรื่องจำได้ง่าย เขียนได้ง่าย และเขียนได้สวยงามตามเวลาอันควรต่อมาในภายหลัง เช่นนี้การบ้านก็จะทำได้ง่าย ช่วยให้เด็กมีวินัยในการทำงาน เมื่อเด็กกลับบ้าน ก่อนจะไปเล่น หรือดูทีวี เขาก็จะทำการบ้านก่อน หากเราเตรียมตัวให้เด็กได้สนุกกับการบ้าน เมื่อโตขึ้นเด็กก็พร้อมที่จะทำการบ้านทำอย่างรู้หน้าที่ ทำด้วยความเบิกบานและเต็มใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องบ่นปากเปียกปากแฉะ เคี่ยวเข็ญให้ทำ ในเมื่อลักษณะนิสัยในการทำการบ้านได้รับการฝึกสอนให้ทำตั้งแต่เล็ก

การสร้างให้เด็กพยายามอย่างสุดความสามารถ เป็นสิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ปกครอง ครู และตัวเด็กเอง คุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่าไม่เพียงเด็กจะได้นิสัยรักและขยันทำการบ้าน และอดทนอดกลั้น แต่เด็กจะเข้าใจว่า การเรียนให้ได้ดีต้องทำงานหนัก ไม่มีอะไรที่จะมาแทนที่การทำงานหนักได้ แม้สมองของเด็กจะดี ฐานะจะดี แต่ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ จริงๆ หากไม่รู้จักพยายาม

Responsibility ความรับผิดชอบ

ความรับผิดชอบในความหมายของ MagaSkills คือ การทำสิ่งที่ถูกที่ควร ถูกเวลา หรือถูกกาลเทศะ ทำงานได้ทันเวลา ตรงต่อเวลา เน้นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม เท่ากับเป็นการสร้างเสริมวินัย ค่านิยมให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก ซึ่งควรได้รับการฝึกให้รู้ว่า อะไรที่ทำแล้วจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเชื่อถือ ไว้เนื้อเชื่อใจกัน

ความสำเร็จในการทำงานของลูกหลายครั้งขึ้นอยู่กับความใส่ใจในตัวเด็กของผู้ใหญ่ เช่น การหัดให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใส่ถุงเท้า เอาเสื้อผ้าใส่ไม้แขวนหรือล้างเท้า เหล่านี้ดูแล้วมันไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเรียนเลย แต่การที่เด็กได้ฝึกดูแลรับผิดชอบตัวเอง จะสร้างนิสัยสืบเนื่องไปถึงการเรียนในห้องเรียนได้อย่างดี

ผู้ใหญ่ด้วยกันมักเน้นความสำคัญของหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อผู้อื่นในสังคม แต่ความรักลูก และความเป็นห่วงผลักดันให้คุณพ่อคุณแม่สอนเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีนิสัยตรงกันข้าม ทั้งที่คุณพ่อคุณแม่มักพร่ำบ่นกับตัวเองว่า ลูกของเราต้องเรียนรู้ที่จะเป็นคนรับผิดชอบ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรระมัดระวังที่จะไม่ทำลายความตั้งใจดีของเราเอง เพราะสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันทำก็คือ การโอบอุ้มป้องกันลูก คุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้นำหนังสือที่เขายืนมาจากห้องสมุดไปคืนให้ เป็นผู้ให้อาหารสัตว์เลี้ยงของลูก บางครั้งบางคราวคุณพ่อคุณแม่ก็ทำการบ้านให้ลูกอีกด้วย เหล่านี้ล้วนช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้เลย

ในชีวิตเด็กทุกคนต่างก็มีเหตุการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทุกวี่ทุกวันด้วยกันทั้งนั้น เช่น เด็กจะทำอย่างไรดีเมื่อเห็นคนโกงข้อสอบ เวลาสอบ? ลูกพบเงินตกอยู่? ลูกรู้ความลับว่าเพื่อนได้ทำอะไรบางอย่างผิด? คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ยากที่จะตอบ เป็นคำถามที่ทดสอบเด็กว่าอะไรผิดอะไรถูก และเป็นการทดสอบคุณพ่อคุณแม่ด้วยว่า จะช่วยเด็กแก้ไขปัญหาในลักษณะที่เขาเองจะรู้สึกสบายใจ กับคำแนะนำที่กินเวลาอยู่มาก

การมองข้ามการโกงข้อสอบในโรงเรียน ทำให้เรายังพบผู้ใหญ่ที่ใช้กลโกงและฉ้อฉล จึงยังคงสภาพเป็นปัญหาต่อไปตราบที่ยังมีเด็กโกงข้อสอบ หรือเราจะเลือกที่จะทำโทษเด็ก หรือเพียงแนะแนวกับเด็กๆ ดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตัดสินใจไม่ได้สำหรับครูอยู่ต่อไป เอาเข้าจริงแล้วมันก็เป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ต้องรับผิดชอบ เพื่อว่าเด็กจะได้เป็นเด็กที่รู้จักรับผิดชอบตามไปด้วย ทักษะสู่ความสำเร็จ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องสำหรับเด็กเท่านั้น เป็นเรื่องของพ่อแม่เช่นกัน

Initiative การพร้อมในการลงมือกระทำ

เด็กที่มีความคิดริเริ่มจะรู้ว่าตัวเองต้องการสิ่งใดและก็หาทางทำในสิ่งนั้น เด็กส่วนใหญ่มักจะมีความริเริ่มอยู่ในตัวอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ชมเชยความคิดริเริ่มนั้น ลูกก็จะเรียนรู้คุณค่าทักษะที่ยิ่งใหญ่นี้ และลงมือทกให้ความคิดนั้นให้เป็นจริงขึ้นมา

เด็กที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ต้องสามารถที่จะทำให้ความคิดนั้นเป็นรูปธรรมคือ คิดเป็น ทำเป็น คนที่ชอบเอาแต่คิดฝัน แม้จะวางแผนได้ ก็อาจไม่ใช่คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คนที่สามารถทำความฝันให้เป็นจริงต่างหาก จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนสร้างสรรค์สังคม โดยจะต้องมีทั้งความสามารถ มีคุณธรรม ความมุ่งมั่น กล้าเสี่ยง มีมานะ สมาธิ มีความอดทน และความรู้ความสามารถ จึงจะประสบความสำเร็จได้ ที่สำคัญต้องมีหัวใจในทางวิทยาศาสตร์ เริ่มต้นด้วยความสามารถ การตั้งคำถาม การตั้งข้อสงสัย การเดา การตั้งสมมุติฐาน การทดลอง หาข้อสรุป เมื่อใดเด็กเริ่มสงสัยและตั้งคำถามว่ากลไกต่างๆ ทำงานอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ต้องเลี่ยงการตั้งตัวเป็นผู้รู้ทุกอย่าง เพราะการให้ลูกเป็นผู้หาคำตอบเอง ด้วยการฝึกสังเกต จะฝึกให้เขาใฝ่หาความรู้อย่างนักวิทยาศาสตร์ การพาไปหาคำตอบในห้องสมุด หลังจากเด็กได้ลองทำ และหาคำตอบเอง เป็นการปลุกความสนใจให้เด็กอยากรู้เพิ่มขึ้นไปอีก

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มุ่งแต่จะฝึกให้ลูกเป็นสัตว์สังคม โดยให้เล่นหรือทำงานกับเพื่อนโดยไม่ทะเลาะกัน ให้รู้จักเสียสละ เอื้ออารี แบ่งปัน รู้จักรอคอยให้คราวของตนเอง แต่คุณพ่อคุณแม่มองข้ามความสำคัญที่จะทำให้อย่างไรให้เด็กสามารถอยู่คนเดียวได้โดยไม่รู้สึกเหงา มีความสุขที่ได้อยู่กับตัวเอง โดยหางานฝีมือ งานศิลปะ อ่าหนังสือ งานสะสม ทำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้สึกอิสระ ไม่คิดพึ่งพิงคนอื่น

สิ่งที่จะกระตุ้นความคิดให้เป็นการทำงานอย่างมีผลสัมฤทธิ์ ต้องอาศัยวัสดุในมือที่หลากหลาย ต้องอาศัยคำสั่งที่เป็นเงื่อนไข เป็นโจทย์ที่ท้าทายให้หาคำตอบ กระตุ้นให้คิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งใหม่แปลกตา นี่คือหัวใจของการสร้างงานใหม่ให้เป็นรูปธรรมที่สร้างสรรค์

ผู้ใหญ่สามารถสนับสนุนได้ด้วยการจัดที่สำหรับเก็บเศษวัสดุสำหรับปะติดงานแบบ 3 มิติ ปกติเศษวัสดุเป็นของรกบ้าน ชวนให้ทิ้งลงถังขยะ แต่ขยะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ที่ฝึกให้เด็กเรียนรู้ รับรู้คุณสมบัติจากากรสัมผัสด้วยกาย เพราะสิ่งเหล่านี้มีผิวสัมผัสหลากชนิด เช่น มีผิวขรุขระ สาก เนียน นุ่ม ลื่น มัน มีลวดลายตามธรรมชาติ ปกติเราคุ้นเคยแต่ให้เด็กๆ เรียนรู้คุณสมบัติของสิ่งต่างๆ รอบตัวแต่ชื่อ แต่การให้รับรู้ขนาด รูปทรง สี กลิ่น ส่วนสัมผัส และเสียง จริงๆ นั้นน้อยมาก ถึงแม้ห้องของเด็กจะรกไปซักหน่อย แต่คุณค่าทางการเรียนรู้กลับมีมาก ซึ่งจะช่วยให้ลูกเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มได้อย่างแน่นอน

Perseverance ความพากเพียรอุตสาหะ

ความอุตสาหะเป็นทักษะที่จะช่วยเด็กมีกิจนิสัยไม่ทอดทิ้งอะไรกลางคัน ไม่รามืออะไรง่ายๆ ทำอะไรแล้วต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์ ความอุตสาหะหมายถึงอะไรซึ่งมากกว่าปกติ นั่นก็คือความแตกต่างระหว่างผู้ที่เพียร พยายามกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ

บางคนอาจจะประสบความสำเร็จชั่วข้ามคืน แต่ทว่ากว่าจะประสบความสำเร็จที่เรียกกันว่าชั่วข้ามคืนนั่นก็ต้องใช้เวลาอันเนิ่นนาน และการฝึกปรืออันล้ำลึก เราจึงน่าจะช่วยเด็กของเราให้เป็นผู้มีความอุตสาหะไม่ท้อถอยง่ายๆ แต่เด็กในวันนี้ได้พบว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันอกทันใจ แต่ความอุตสาหะไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยฉับพลัน เพราะมันต้องการรายละเอียด และระยะเวลาในหารฝึกฝน

ไม่ว่าเราจะตั้งต้นทำอะไรไว้ ก็ใช่ว่าจะทำให้เสร็จตลอดรอดฝั่งในชีวิตทุกครั้งไป แต่กระนั้นเราก็มีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่เราต้องทำให้ลุล่วงไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์หลายอย่าง เช่น เด็กๆ ควรรู้ว่าการเล่นเปียโนเป็นสิ่งจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่การทำการบ้านควรเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จทันเวลา ครอบครัวทุกครอบครัวจำเป็นต้องตัดสินใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่ก็ต้องมีอะไรสักสองสามอย่างที่เด็กรู้ว่าเขาต้องทำให้ลุล่วง เป็นต้นว่า ถ้าเด็กลงทะเบียนที่จะเรียนตีเทนนิส หลังจากเรียนไปได้สักชั่วโมงแล้วก็จะคิดเลิกเรียนไม่ได้

คนที่กล้าตัดสินใจแล้วลงมือทำ เพียรพยายามและตั้งใจ ไม่เหมือนกับคนที่อุตสาหะ มุ่งมั่นทำจนสำเร็จ เพราะคนที่อุตสาหะจะไม่ทอดทิ้งสิ่งที่ลงมือทำไป จนกว่าจะได้ดีดังหวัง คนที่มีความอุตสาหะ จึงเป็นอะไรที่มากกว่ากล้าคิด กล้าทำ และเพียรพยายาม

Caring ความใส่ใจ เอื้ออาทรผู้อื่น

คุณพ่อคุณแม่กังวลใจหรือไม่ว่าลูกจะแสดงความรักต่อผู้อื่นได้ มีความเอื้ออารี คิดถึงหัวอกคนอื่นอยู่เสมอ ซึ่งหมายถึงสนใจใยดีต่อผู้อื่น รู้จักที่จะฟังคนอื่นแสดงความเห็น เพราะนั่นหมายถึงการเรียนรู้จากผู้อื่นอีกด้วย

ความใส่ใจใยดีผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งของทักษะสู่ความสำเร็จได้ เพราะช่วยให้เราเรียนรู้จากกันและกัน มนุษย์ทั่วไปหากอยู่โดดเดี่ยวก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก ความใส่ใจ รักใคร่ใยดีกัน จะผูกพันคนไว้ด้วยกัน มันทำให้เราและเด็กมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

การรู้จักแสดงและมอบความรักให้กันเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับคนทุกวันนี้ เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวเล็กแยกออกไปจากคุณพ่อคุณแม่ อาจต้องเรียนรู้วิธีใส่ใจคนอื่นมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวใหญ่ ซึ่งรู้ดีมาตั้งแต่เกิดว่า เขาไม่ใช่เป็นคนเดียวที่อยู่ในครอบครัวนั้น เพราะเด็กที่กำลังเจริญวัยโดยธรรมชาติจะสำนึกรู้แต่ความต้องการของตนเองเท่านั้น แต่คุณพ่อคุณแม่และครู สามารถฝึกให้เด็กรู้จักใส่ใจผู้คนอย่างที่มีความหมาย

เมื่อไบรอันอายุได้เก้าขวบ อาการป่วยทำให้เขาต้องล้มหมอนนอนเสื่อกว่า 6เดือนทุกๆ วันหลังเลิกเรียน อีฟน้องสาวอายุ 7ขวบของเขาจะเข้ามาพร้อมที่จะถลาออกไปเล่นข้างนอกบ้าน แต่ก่อนอื่นเธอจะเข้ามาหาไบรอันแล้วถามว่า "อยากให้น้องเล่าไหมว่าวันนี้น้องทำอะไรมา"

แล้วเธอก็จะเล่าเรื่องขำขันต่างๆ เกี่ยวกับเพื่อนๆ ในห้องเดียวกันเกี่ยวกับครูและเหตุการณ์พิเศษต่างๆ ทั้งสองจะหัวเราะคิกคักกันเป็นที่สนุกสนาน ช่างเป็นช่วงเวลาที่งดงามสำหรับเขาทั้งสองอย่างยิ่ง สำหรับทั้งผู้ให้และผู้รับ

อีฟเรียนรู้ความลับที่จะแบ่งปันวันเวลาให้พี่ของเขามาจากไหน? ก็จากภาพที่เขาเห็นที่บ้านนะซิ คุณพ่อคุณแม่ของทั้งคู่ต่างทำงานนอกบ้าน แต่พอกลับบ้านต่างก็มีเรื่องเล่าให้กันฟังมิเว้นแต่ละวัน ซึ่งมักจะเป็นเรื่องขำขันต่างๆ อีฟจึงได้เรียนรู้ตลอดมา

คุณนึกถึงคนที่เข้ากับผู้คนได้ยากสักคนหนึ่งไหม? จะเป็นไปได้ไหมว่าคนผู้นี้อาจจะมีเหตุผลที่ไม่มีใครระแคะระคายซ่อนเร้นอยู่? มีอะไรที่เราจะช่วยคนผู้นี้ได้บ้างไหม? ลองพูดคุยถึงอุปสรรคที่กางกั้น และพูดถึงคนที่มีอุปสรรคดังกล่าว ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมจิตใจของเด็กให้มีความรู้สึกเห็นอกเห็นในผู้อื่น และเข้าใจว่า หากเด็กตกอยู่ในสภาพการณ์เช่นนั้นแล้วจะเป็นเช่นไร

Teamwork ความสามารถในการทำงานเป็นกลุ่ม

การทำงานเป็นหมู่คณะ เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ใช่แต่เพียงในสนามกีฬาเท่านั้น แต่จำเป็นสำหรับธุรกิจการงานและในการสร้างสรรค์ครอบครัว เด็กๆ ควรรู้จักวิธีให้ความร่วมมือ และรู้จักที่จะทำตนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะในโรงเรียน เนื่องจากความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องการให้ลูกเรียนในโรงเรียนที่วัดผลสอบเป็นรายบุคคล ทำให้เกิดการแข่งกัน ชิงดีชิงเด่นกัน มากกว่าที่จะให้ร่วมมือช่วยเหลือกัน แต่นอกรั้วโรงเรียนแล้ว เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต่างออกไป

ในสนามฟุตบอลนักเตะไม่ว่าจะเก่งอย่างไร ก็ไม่สามารถเล่นกีฬานี้คนเดียวได้ วงดุริยางค์ต้องมีนักดนตรีหลายคนร่วมมือกัน การประเมินการงานก็เช่นกัน นายจ้างจะให้คะแนนดีแก่ลูกจ้างผู้ที่รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้งานลุล่วงไปด้วยดี

บรรดาครูเน้นความสำคัญของสภาวะของการจัดกลุ่มว่า เป็นที่พึงปรารถนาของผู้คนมากขึ้นทุกที แต่เผอิญโรงเรียนในฐานะที่เป็นสถาบันแห่งหนึ่ง ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็ไม่ได้เป็นสถานที่ที่จะสร้างความเป็นกลุ่มเท่าใดนักดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความสนใจต่อการเรียนรู้สภาวะกลุ่มของลูกเป็นพิเศษ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อครอบครัวช่วยกันอบคุกกี้ อ่านหนังสือดังๆ ให้แก่กันฟัง หรือช่วยกันล้างรถ ฯลฯ เด็กๆ ไม่ชอบงานบ้าน แต่จะรู้สึกดี ที่เพื่อนๆ พร้อมใจกันทำเวร หรือการกวาดใบไม้กลางแจ้ง แต่ต้องไม่ใช่ทำคนเดียว เด็กๆ ชอบทำต่อเมื่อทุกคนได้ทำร่วมกัน เขาไม่ได้ชอบที่ต้องกวาดใบไม้ แต่สิ่งที่เขาชอบคือ การที่ได้อยู่ด้วยกันต่างหาก

วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่จะสอนลูกให้ยอมรับและปฏิบัติงานบ้านด้วยความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นสมาชิกของกลุ่มหรือครอบครัว โดยทุกคนเลือกงานย่อยส่วนใดส่วนหนึ่งจากรายการ ที่ต้องมีการประสานงานกัน ประหนึ่งว่าครอบครัวเป็นทีมฟุตบอลที่กำลังเลี้ยงลูกเพื่อเตะเข้าประตู จิตวิญญาณของกลุ่มจะเกิดขึ้นถ้าแต่ละคนทำส่วนของตน แล้วประกอบกันเป็นงานชิ้นใหญ่ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมชมเชยลูกด้วย

Common Sense สามัญสำนึก

คุณพ่อคุณแม่ต่างต้องการให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับเหตุและผล รวมทั้งรู้ว่าคำพูดที่ออกมาจากปากเขา มีผลกระทบต่อผู้อื่นทั้งสิ้น และยังต้องการให้ลูกรู้จักใช้เวลา เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแล้วจะไม่มีวันหวนคืนมาอีก รวมทั้งการใช้จ่ายเงินทอง ซึ่งเป็นของหายาก นอกจากความคิดดังกล่าวแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องการให้ลูกคาดเข็มขัดป้องกันภัย และรู้จักต่อต้านความเย้ายวนใจให้นั่งอยู่หน้าโทรทัศน์ทั้งวัน

การพัฒนาสามัญสำนึกดังกล่าว เป็นกระบวนการที่ยืดเยื้อ เป็นลักษณะวิวัฒนาการ เพราะมันไม่สามารถเก็บตกได้ที่ไหน เหตุผลที่ว่าทำไมเด็กอาจจะไม่ได้ใช้สามัญสำนึก ก็เพราะเด็กไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความรู้สึกทางนี้ แต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ด้วยประสบการณ์และการฝึกปรือ การทำเช่นนั้นได้ เด็กๆ ต้องรู้ "วิธีการเก็บข้อมูล" ที่ไม่ได้มาจากหนังสือเรียนเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถตัดสินใจและหลีกเลี่ยงการสรุปที่รีบด่วน ไม่ว่าจะเป็นข้อสรุปจะเย้ายวนใจให้ทำผิดคิดมิชอบสักเพียงใดก็ตาม

การตรวจสอบว่าอะไรผิดหรือถูก เป็นการฝึกตนให้มีสามัญสำนึก ซึ่งเป็นการฝึกให้มีขึ้นได้โดยใช้วิธีง่ายๆ ตรงไปตรงมาคือ ตอบคำถามต่างๆ นั่นเอง เราได้ตรวจสอบสิ่งต่อไปนี้แล้วหรือยัง เป็นต้นว่า "มีรอยแตกในฟองไข่ไก่ที่เราพึ่งซื้อมาจากตลาดหรือเปล่า?" "ตะเข็บเสื้อผ้าที่เรากำลังจะซื้อนั้นเย็บแน่นหนาดีทุกจุดแล้วหรือ?"

บางทีผู้คนชอบถกเถียงกันด้วยเงินมากกว่าเรื่องอื่นใด แม้เนื้อความของการถกเถียงนั้นจะเกี่ยวข้องกับเงินโดยตรงก็จริง แต่มีเรื่องอื่นอีกมากมายแฝงเร้นอยู่ เป็นต้นว่า การเคารพนับถือตนเอง การมีอำนาจหรือการนับหน้าถือตาจากบุคคลอื่น การได้รับการยอมรับ ความรักใครใยดีเอื้ออาทร และความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางกายและใจ อาจเพราะการโต้เถียงกันด้วยเรื่องเงิน อาจจะให้ผลดีบ้างไม่มากก็น้อย มันให้โอกาสเรารู้จักกันและกันมากขึ้น และรู้จักตัวเราเองดีขึ้นด้วย

เมื่อลูกสาวของดร.ริช อายุห้าขวบ เธอมีเพื่อนอายุเท่ากันอยู่บ้านคนละฟากถนน เธอต้องซื้อไอศกรีมให้เพื่อนทุกครั้ง เพื่อนของเธอก็จะพูดเสมอว่า เขาจะคืนเงินให้ แต่ก็ไม่เคยทำได้อย่างนั้นเลย แม้ครอบครัวจะย้ายบ้านห่างไปจากที่เก่าไม่กี่ซอย แต่เธอก็ไม่เคยลืมเรื่องนี้ จนอายุได้ 10ขวบ เธอก็เดินไปหาเพื่อนคนนั้นที่บ้านแล้วพูดว่า เขาเป็นหนี้เธออยู่ เพื่อนก็ใช้หนี้ให้ แต่เธอก็แน่ใจตั้งแต่นั้นว่า ความสัมพันธ์ฉันมิตรที่เคยมี ได้ขาดสะบั้นลง มันเหมือนกับว่าทั้งสองเติบโตมาอย่างคนที่ไม่รู้จักกัน มันอาจจะไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องเงิน แต่ปกติแล้วการโต้เถียงกันเรื่องเงิน มักลงเอยกันอย่างแปลกๆ เป็นอะไรที่ลึกล้ำมากกว่านั้น กรณีนี้ลูกสาวของ ดร.ริช ได้บทเรียนเกี่ยวกับสามัญสำนึกตั้งแต่เยาว์วัยทีเดียวแหละ

Problem Soling การแก้ปัญหาอย่างสรรค์

แล้วเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินลูกพูดหรือเปล่าว่า "หนูทำไม่ได้" แทนที่จะพูดว่า "หนูทำได้" ทักษะชีวิตในข้อนี้จะสนับสนุนให้เด็กแก้ปัญหาได้ โดยนำสิ่งที่เขาเรียนรู้มาประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปธรรมคือ ปฏิบัติได้จริง ก็ได้พิสูจน์ตนเอง ว่าพวกเขาเป็นคนที่ช่วยพ่อแม่ได้อย่างดีเลิศ

การที่เด็กจะแก้ไขปัญหาของตนเองได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความไม่จนความคิด เด็กจึงต้องการทักษะ การคิด แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ ด้วยตัวของมันเอง แต่เกิดจากหัวข้อที่เราหยิบยกมาพูดคุย การตั้งคำถามและการตอบคำถามนั้นต้องการเวลาฝึกค่อนข้างยาวนาน ที่โรงเรียนเด็กๆ ก็ไม่ได้รับการฝึกฝนเท่าใดเลย เพราะไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับคำถามคำตอบชนิดที่กระตุ้นความฉลาดอย่างลึกซึ้ง แต่เป็นคำตอบแบบหาตัวเลือก หรือเป็นคำถามประเภทที่มีคำตอบเพียงคำตอบเดียว เช่น "แม่น้ำอะไรที่ยาวที่สุดในโลก" แต่สิ่งที่เด็กต้องการยิ่งกว่าคือคำถามปลายเปิด เช่น "เธอมีความเห็นว่าอย่างไรเกี่ยวกับ..." หรือ "เธอจะจัดระบบเรื่องนี้ให้ผิดแผกแตกต่างไปกว่านี้ได้หรือไม่?" แม้ว่าครูหลายคนปรารถนาจะตั้งคำถามแบบนี้กับเด็ก แต่จะต้องมีเวลาให้เด็กได้คิดนานๆ บางครั้งคำตอบก็ไม่ได้มีที่ถูกเพียงคำตอบเดียว และเด็กๆ ก็มักจะตอบว่า "ไม่ทราบ ไม่รู้" หรือไม่ก็ปั้นคำตอบชนิดที่ครูรับไม่ได้

ผู้ปกครองจึงควรฝึกกระตุ้นให้เด็ก "รู้คิด" หรือ "คิดเป็น" ที่บ้าน โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝน โดยบีบให้พวกเขาไตร่ตรองอย่างดีด้วยจึงค่อยตอบ โดยอาจใช้คำถามเกี่ยวกับเรื่องราวที่อ่านมาด้วยกัน เช่น "ลูกลองคิดดูซิว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?" "ลูกคิดว่าเรื่องนี้มันจะจบอย่างไร?" "อะไรทำให้ลูกคิดเช่นนั้น?" คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้เด็กเอาตัวรอดไปโดยตอบว่า "หนูไม่รู้" เป็นอันขาด เพราะความจริงแล้ว เด็กนั้นฉลาด รู้มากกว่าที่ตัวเขาเองคิดมากนัก
ขณะที่เด็กๆ กำลังเติบโต เขาจำเป็นต้องตัดสินใจแก้ปัญหาในวันหนึ่งๆ หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสื้อ ผ้า เพื่อนฝูง งาน ฯลฯ เด็กต้องการสมองที่ช่างคิด คุณพ่อคุณแม่ควรเล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญที่คุณพ่อคุณ แม่เคยได้ทำมาแล้วในอดีต เพื่อสอนเขาว่า ก่อนจะตัดสินใจ คุณต้องคิดถึงอะไรบ้าง และเกิดผลร้ายหรือผลดีหลังจากนั้นอย่างไร และหากต้องตัดสินใจอีกครั้ง คุณจะตัดสินใจอย่างเดียวกันนั้นอีกหรือไม่? พยายามเปิดโอกาสให้ลูกรับผลกระทบที่จะตามมาจากการตัดสินใจของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นผลดีหรือผลร้าย แล้วปรึกษากันว่า จะทำอะไรต่อไปจากนั้น หรือในโอกาสต่อไปด้วย

Focus ความมีจุดมุ่งหมายในการทำงาน

จะดีแค่ไหนหากลูกของคุณได้รู้วิธีตั้งเป้าหมายในการทำงาน เพื่อให้เขาทำงานที่ครูมอบหมายสำเร็จนั้น โดยพยายามอย่างมากที่จะบริหารจัดการกับเวลาของเขาให้ราบรื่นที่สุด ผู้ใหญ่เองก็คงรู้สึกดีที่สามารถตั้งเป้าหมายในการทำงาน เพื่อทำให้มันประสบผลสำเร็จได้ตามต้องการ โดยสิ่งที่ต้องทำคือ จะต้องบริหารเป้าหมายตามสถานการณ์ว่า งานอะไรควรทำก่อน และงานอะไรควรทำหลัง และพยายามทำให้ได้ตามจุดมุ่งหมายนั้น ความชัดเจนกับเป้าหมายนี้เกี่ยวโยงกับสมุดงานของเด็ก แต่ไม่เคยมีใครหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันเลย สมุดงานของเด็ก เป็นสิ่งที่เด็กมักต้องจัดการเหมือนไม่เคยจบสิ้น

ความชัดเจนกับเป้าหมายจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับเด็ก ที่เราจะพูดถึงกันให้มากขึ้นและมากขึ้น ความชัดเจนกับเป้าหมายเกือบเป็นแค่สมมุติฐานว่า ควรมีมันเพื่อพัฒนาตัวของเราเองหรือไม่? แต่จากสถานการณ์ที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ และปัญหาต่างๆ ที่เกิดแต่ละกรณี จนในวันที่ผู้ใหญ่หลายคนและเด็กถูกครอบงำด้วยอารมณ์รุนแรงถึงขั้นทำลายล้าง ทำให้คนเริ่มมองหาทางเลือกที่จะจัดการกับอารมณ์อันนี้ สิ่งหนึ่งในหลายๆ ทางเลือกนั้นก็คือการมีความชัดเจนกับเป้าหมาย ซึ่งเริ่มมีการพูดถึงทั้งในโรงเรียนและที่ทำงานอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

เมื่อเราต้องการชีวิตที่สมบูรณ์แบบและชีวิตกำลังจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราต้องมีแนวทางในกับตัวเอง วามชัดเจนของเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้จึงจำเป็น และมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

 



ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2007-11-22 19:33:32 IP : 124.120.109.101


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1998715)
avatar
ppi

กำลังหาข้อมูลพอดีคะ  ขอบคุณคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ppi (ppi123-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-10-25 23:16:41 IP : 124.120.103.232


ความคิดเห็นที่ 2 (2016600)
avatar
um

อืม

ผู้แสดงความคิดเห็น um (um-at-UM-dot-COM)วันที่ตอบ 2009-12-16 19:37:10 IP : 124.120.111.210


ความคิดเห็นที่ 3 (2121254)
avatar
Lekchote
ถ้าเด็กมีทักษะนิสัยคู่ชีวิต เด็กจะประสบความสำเร็จในการเรียน และมีความสุขสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมปัจจุบันได้ดี
ผู้แสดงความคิดเห็น Lekchote (chotelek-at-yahoo-dot-co-dot-th)วันที่ตอบ 2010-10-21 15:12:05 IP : 192.168.2.3, 61



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.