ReadyPlanet.com


วินัยเป็นเรื่องจำเป็นต้องสอน แต่ไม่ใช่การบังคับ
avatar
admin


 

วินัย อยู่ข้างใน


โดย: ดร.วัฒนา มัคคสมัน

วินัยไม่ใช่การบังคับ เพราะเด็กจะไม่มีความสุขและไม่มีการเรียนรู้

กิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วๆ ไป เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่ในโรงเรียนคอยบอกเด็กให้ทำโน่น ทำนี่ ซ้ายหัน ขวาหัน เดินให้เป็นแถวอย่าแตกแถว และเราก็จะเห็นว่าเด็กๆ ดูจะไม่ค่อยมีความสุขกับการที่ต้องอยู่ในแถว เราจะเห็นภาพของการแตกแถว แล้วจบลงที่เด็กโดนทำโทษเพราะไม่มีระเบียบวินัย

ที่โรงเรียนของเรา เราเชื่อในเรื่องที่เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากธรรมชาติรอบๆ ตัว ที่โรงเรียนจึงพยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้อบอุ่น มีต้นไม้ ดอกไม้เยอะๆ มีสัตว์เลี้ยงน่ารักไว้ให้เด็กป้อนอาหาร พวกเราจะพาเด็กไปเที่ยวเขาดินเพื่อให้รู้จักเมตตาต่อสัตว์

ก่อนที่จะพาไปสักเดือนหนึ่ง เราชวนเด็กๆ เดินชมธรรมชาติรอบๆ บริเวณโรงเรียนทุกวัน วันละ 10-15 นาที ค่อยๆ เดินกันไปไม่รีบร้อน เดินตามกันไป หยุดดูอะไร ก็หยุดดูด้วยกัน พูดกันเบาๆ ชี้ชวนกันดูการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เราไม่เอาจริงเอาจังกับแถวของเด็กๆ มากนัก แต่เราทำทุกวันเลย เด็กๆ ก็ผ่อนคลาย ได้เห็นสิ่งโน้นสิ่งนี้ในโรงเรียนทุกวัน ดังนั้นภาพที่เจนตาทุกเช้า หลังเคารพธงชาติที่โรงเรียน ก็จะเห็นเด็กๆ เดินกันเป็นแถว เป็นแนวเพื่อไปทักทายเจ้ากระต่าย สังเกตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว คุยกับเจ้าห่าน ส่งเสียงโต้ตอบกันขรมไปหมด

พอเราทำจนเป็นกลายเป็นกิจกรรมปกติ เด็กๆ ได้แสดงศักยภาพที่พวกเราต้องน้ำตาซึมออกมา เมื่อแกไปทัศนศึกษาที่สวนสัตว์ เด็กๆ ถือแผ่นไม้ที่มีกระดาษรองเขียน เพื่อวาดรูปสัตว์ที่แกชอบ แกจะค่อยๆ เดินตามกันไปเงียบๆ บันทึกภาพไป คุยกันไป แต่แถวแนวของแกก็ยังคงอยู่ เด็กๆ ควบคุมตัวเองได้ดีกว่าที่ผู้ใหญ่คิด

เราคอยควบคุมเด็กมากจนเกินไปจนไม่เปิดช่องว่างให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเอง เด็กๆ ขาดโอกาสที่จะพัฒนาวินัยในตนเอง ซึ่งมันควรจะเกิดมาจากตัวจากตนของเด็กๆ เอง ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่คอยถือไม้บังคับ

มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาพร้อมกับคณะครูด้วยกันประมาณ 60 คน จากจังหวัดขอนแก่นมาดูงานที่โรงเรียน อาจารย์ท่านนั้นเห็นเด็กๆ อนุบาล ประมาณ 100 คน แบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 20 คน กับคุณครู 2 คน เดินดูสิ่งต่างๆ รอบๆ บริเวณโรงเรียนด้วยกัน ด้วยอาการสงบ เดินตามกันไป เป็นแถวเป็นแนว เดินสบายๆ พูดคุยกันเบาๆ ในอากาศยามเช้า อาจารย์ท่านนั้นถามว่า ทำอย่างไร เด็กถึงเดินตามกันเป็นแถวเป็นแนวอย่างนั้นได้ ท่านอาจารย์ท่านนั้นบอกว่า "ถ้าเป็นที่โรงเรียนผม ถ้าผมหันหลังให้เด็กอย่างนี้แล้วพาเดินไป หันกลับมาดูอีกทีคงไม่เหลือเด็กสักคนเดินตามผมแน่ๆ"

จำได้ว่าผมตอบอาจารย์ท่านนั้นว่า "วินัย มันต้องอยู่ข้างใน เมื่อมันอยู่ข้างใน เราเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ และค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง เราก็จะมีเด็กที่มีวินัยที่อยู่ข้างใน เขาจะดูแลตนเองได้ ก็ต่อเมื่อเขาได้ฝึกที่จะดูแลตนเอง ไม่ต้องคอยให้ใครมาช่วยดูแลเขา เมื่อเป็นอย่างนี้ คุณครูก็จะมีความสุข เพราะไม่ต้องคอยตวาดเด็กๆ ให้มีวินัย ให้อยู่ในแถว ครูกับเด็ก ก็จะอยู่ร่วมกันได้ เรียนรู้ร่วมกันได้อย่างมีความสุข"

อาจารย์ท่านนั้น ท่านก็รับฟังโดยสงบ พยักหน้าหงึกหงัก พึมพำเบาๆ พอจับใจความได้ว่า

"ขนาดผมพูดดังจนเกือบตะโกน เด็กมันยังไม่ค่อยฟังเลย ผมเฝ้าดูอย่างไม่ให้เล็ดลอดสายตา เด็กมันยังแอบทำโน่นทำนี่ได้เลย นี่ถ้าพูดกันเบาๆ อย่างนี้ ปล่อยให้เด็กดูแลตัวเองอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างไรหนอ"

ผมก็ได้แต่เอาใจช่วยนะครับ ว่าท่านอาจารย์คงจะพบคำตอบด้วยตัวของท่านอาจารย์เอง ว่ามันจะเป็นอย่างไรหนอ ของอย่างนี้มันปัจจัตตังเวทิตตัพโพ รู้ได้เฉพาะตนครับ


จาก: นิตยสาร Kids & School


ผู้ตั้งกระทู้ admin :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-12 11:46:17 IP : 124.120.111.204


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1973189)
avatar
admin

ของขวัญจากใจพ่อแม่..สร้างวินัยให้ลูกรัก

โดย: ดาหลา

 

เคยหงุดหงิดบ้างไหมคะเวลาเจอคนไม่ยอมเข้าคิว แย่งกันซื้อของ แย่งกันขึ้นรถ ขับรถปาดซ้ายปาดขวา นัดแล้วมาสายเป็นประจำ..

เรื่องของขาด "วินัย" นับแต่เรื่องเล็กๆ อย่างไม่เข้าคิว ไม่ตรงต่อเวลา ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ข้ามสะพานลอย พูดโทรศัพท์เสียงดังในโรงภาพยนตร์ จนถึงเรื่อง ใหญ่ๆ อย่างฝ่าไฟแดง หนีภาษี ขาดประชุม(สภา) ฯลฯ จึงเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของคน บ้านเรา แถมเมื่อพูดถึงคำว่า"วินัย"แล้วส่วนใหญ่มักร้อง "ยี้" นึกถึงกฎเกณฑ์ที่เป็นกรอบ บังคับเต็มไปหมด แล้วเกิดการแอนตี้ด้วยการพูดล้อเลียนว่า "กฎมีไว้ให้แหก !"

แล้วน่าสงสัยไหมคะว่าทำไมคนในสังคมของเราถึงมีคนขาดวินัยเต็มไปหมด ทั้งๆ ที่ โรงเรียนของเราก็แสนจะมีกฎเกณฑ์เข้มงวดมากมาย แบบเดียวกับที่เรารู้ดีว่าต้องข้ามถนนตรง สัญญาณไฟหรือข้ามสะพานลอย แต่เราก็ไม่ปฏิบัติตามกฎถ้าไม่มีตำรวจคอยจับตาดู

เราเข้าใจเรื่องของคำว่า"วินัย"แค่ไหน และฝึกวินัยกันมาถูกวิธีหรือเปล่า?
ลองทบทวนความเข้าใจด้วยกันหน่อยดีไหมคะ


"วินัย" คืออะไรกันแน่?
ถ้าลองถามความคิดเห็นของคนหลายต่อหลายคนในบ้านเราว่าแท้จริงแล้ว "วินัย" คืออะไรกันแน่ และครอบคลุมถึงเรื่องอะไรกันบ้าง คนส่วนใหญ่อาจนึกภาพของกฎเหล็กต่างๆ ของโรงเรียนที่ห้ามโน้นห้ามนี่ ห้ามใส่กระโปรงสั้นเหนือเข่า ห้ามตัดผมเหนือ คิ้ว ห้ามผูกโบว์สีสด ห้ามดัดผม ห้ามแต่งหน้าทาปาก ฯลฯ ล้วนถูกตั้งขึ้นมา เพียงเพราะเชื่อว่าจะสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้สังคมโรงเรียน เป็นการหล่อ หลอมเด็กให้มีวินัย

กฎเข้มระเบียบข้นออกอย่างนั้น แต่ไปดูเถอะค่ะเมื่อใดที่ครูไม่อยู่คอยถือไม้เรียว ควบคุม เด็กก็จะเจี๊ยวจ๊าว วุ่นวาย หรือออกนอกโรงเรียน เด็กๆ ก็พร้อมจะแหกกฎ ได้เสมอ

จริงๆ แล้วการมีวินัยไม่ได้หมายถึงการที่เราทำตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้อย่างเคร่งครัด แต่เป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำของตัวเอง ความรับผิด ชอบต่อหน้าที่และการกระทำของตัวเอง การยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างเหมาะสม คนที่ มีวินัยแม้เมื่อไม่มีผู้ตั้งกฎหรือตัวกฎมาคอยบังคับ ก็ยังสามารถควบคุมตัวเองให้ประพฤติปฏิบัติ ตนได้อย่างเหมาะสม เคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย จึงไม่สร้างปัญหาเดือดร้อนให้คนข้างเคียง หรือสังคมโดยรวม และตัวของเขาเองก็มักจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำอยู่

ทำไมต้องฝึกวินัยให้ลูก
เรื่องของคำว่า"วินัย" หรือ"Discipline" เป็นเรื่องที่นักพัฒนาการเด็กกำลัง ให้ความสนใจกันมาก โดยเฉพาะ"การมีวินัยในตัวเอง" เพราะความวุ่นวาย ไม่สงบของ สังคมทุกวันนี้ถ้าวิเคราะห์เจาะลึกแล้วจะเห็นว่าเป็นผลพวงของการขาดวินัยของคนในสังคม ผู้ใหญ่ที่ขาดวินัยเป็นเพราะไม่ได้รับการฝึกวินัยมาตั้งแต่เป็นเด็ก การฝึกวินัยจึงเป็น เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีเฉพาะเมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่เท่า นั้น การฝึกวินัยยังช่วยเด็กๆ ในเรื่องเหล่านี้ด้วยค่ะ

* ช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นคงในจิตใจ เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถ้าเติบโตมาท่ามกลาง การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบระเบียบ กินอยู่เป็นเวลา(อย่างพอดีๆ ด้วย บรรยากาศไม่เคร่งเครียด)เด็กจะรู้สึกเป็นสุข สบายกายสบายใจ และเกิดความมั่นคงใน จิตใจ

 * ช่วยป้องกันลูกจากอันตราย ธรรมชาติของเด็กเล็กมักจะมีความซนแฝงอยู่ แล้ว เจ้าความซนนี้แหละค่ะที่จะกระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นให้เด็กเข้าไปสัมผัส จับต้อง และสำรวจตรวจตราสิ่งของนั้นๆให้ละเอียด ขณะที่เขากำลังเรียนรู้โลกภายนอกอยู่นั้นเด็ก เล็กๆ ยังไม่รู้ว่าสิ่งของบางอย่าง หรือสถานที่บางแห่งเป็นสิ่งอันตรายที่พวกเขาไม่ควรจะ เข้าใกล้ การฝึกลูกให้มีวินัยหรือออกกฎบางอย่างให้ลูกปฏิบัติตามก็เพื่อความปลอดภัยของลูก น้อยเอง เช่น ไม่จุดไม้ขีดไฟเล่น ไม่เอานิ้วแหย่เข้าไปในปลั๊กไฟ ไม่วิ่งขณะเท้าเปียก ฯลฯ ล้วนเป็นวินัยขั้นพื้นฐานที่เขาควรจะเรียนรู้ในช่วงต้นๆ ของชีวิตค่ะ

* ช่วยลูกรู้จักวางแผน คิดเป็นระบบ เมื่อได้ฝึกพื้นฐานในเรื่องของขอบเขตว่า อะไรทำได้หรือไม่ได้ให้ลูกเล็กๆ รู้แล้ว พอโตขึ้นมาอีกสักปีสอง ปีเขาจะค่อยๆ เรียนรู้วินัย อย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น อย่างถ้าเขาต้องล้างมือ นั่นแสดงว่าเขากำลังจะกิน ข้าว หรือเขาต้องแปรงฟันตอนดึก เพราะเขากำลังจะเข้านอน ระบบวินัยในบ้านแบบนี้จะ ช่วยฝึกลูกให้เป็นคนรู้จักวางแผนชีวิต คิดเป็นระบบ และรู้อะไรควรไม่ควรค่ะ

* ช่วยให้ลูกรู้จักรับผิดชอบ พอถึงวัยประมาณ 3-4 ขวบเด็กเริ่มจะเรียนรู้ แล้วค่ะว่าการกระทำทุกๆ อย่างของเขาจะมีผลลัพธ์ทั้งบวกและลบเกิดขึ้น แต่ถึงแม้จะพูดกัน รู้เรื่องและฟังคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น เด็กก็ยังเป็นเด็กที่ยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางและอยากทำ อะไรตามใจตัวเอง การฝึกวินัยจะช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมความต้องการของตัวเองจนเกิด ความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้คอยดูแลให้เด็กหัดควบคุมตัวเอง โดยอาศัยการตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ออกกฎว่าต้องอาบน้ำ กินข้าวก่อนถึงจะดูทีวีได้ หรือทำการบ้านก่อนแล้วค่อยไปเล่นได้ เมื่อลูกโตอีกนิดก็อาจมอบหมายงานบ้านบางอย่างให้ลูกทำเป็นประจำ เป็นต้น วินัย ในเรื่องเหล่านี้พ่อแม่อาจจะคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อลูกยังเล็ก และจะค่อยๆ ปล่อยให้ลูกได้ควบคุมด้วยตัวเองทีละน้อย ในที่สุดลูกจะสามารถรับผิดชอบได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องบ่นว่าเป็น ปัญหากันเมื่อโตขึ้น

* ช่วยลูกประสบความสำเร็จ นักกีฬาที่มีชื่อเสียงหรือคนที่ประสบ ความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่มักจะมีวินัยในตัวเองอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าเราไม่มุ่งหวังถึงขนาดนั้น แต่อย่างน้อยการดูแลให้ลูกมีวินัยในตัวเองมุ่งมั่นทำสิ่งต่างๆ ให้ลุล่วง ทำงานให้เสร็จเป็นชิ้นๆ ไป ก็จะทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจในตัวเองและเป็นแรงจูงใจให้อยากทำอะไรอื่นๆ อีก

* ช่วยลูกเข้าสังคม ถึงวัยที่ลูกจะออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น พ่อแม่จะ ต้องค่อยๆ สอนลูกและฝึกวินัยลูกให้รู้ว่าอะไรที่เขาทำได้ ไม่ได้ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น เช่นห้ามกัด ห้ามตี ห้ามตะโกนใส่หน้าคนอื่น ควรแบ่งปันของเล่นให้คนอื่นบ้าง ฯลฯ กฎเกณฑ์เล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้ลูกเรียนรู้กฎกติกามารยาทของสังคม พอเริ่มโตขึ้นอีกหน่อยก็สอนลูกให้รู้จัก

"ขอบคุณ" "ขอโทษ" จนติดปาก สอนให้เข้าคิว สอนให้เล่น ของเล่นแล้วเก็บเข้าที่ สอนให้รู้จักรักษาคำพูด ระมัดระวังคำพูดและกิริยาไม่ให้ไปทำร้าย ความรู้สึกของผู้อื่น รวมถึงการเคารพข้าวของของผู้อื่น ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้ลูกเข้าสังคม สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข

ฝึก "วินัย" อย่างไรดี...
เมื่อพูดถึงการฝึกวินัย หลายคนที่ยังคงมีมุมมองเดิมๆ เรื่องการควบคุมให้เด็กปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเข้มงวด แต่ในความคิดเห็นของนักวิชาการการควบคุม ความประพฤติของเด็กอย่างเข้มงวดนอกจากไม่ได้ช่วยในเรื่องของการฝึกวินัยอย่างแท้จริงแล้ว ยังอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกต่อต้านลึกๆ ในใจด้วยค่ะ การตั้งกฎระเบียบ เพื่อสร้างวินัยในตัวลูกน้อยจึงควรมีที่มาที่ไป มีเหตุผล และยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม และควรจะต้องขอความเห็นชอบของคนในบ้านด้วย ทั้งคุณพ่อและคุณแม่คงต้องหันหน้ามา ปรึกษากันก่อนกระมังคะว่า ในบ้านของเราควรมีระเบียบวินัยอะไรกันบ้าง บางบ้านอาจให้ ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง แต่บางบ้านอาจนึกถึงเรื่องของสุขภาพกาย และใจก่อน ซึ่งเราพอจะมีข้อแนะนำคร่าวๆ ว่าควรจะตั้งกฎเกณฑ์และฝึกวินัยลูกในเรื่องอะไรบ้าง ดังนี้ค่ะ

* วินัยเกี่ยวกับความปลอดภัย อย่างเด็กเล็กๆ ควรนั่งในเก้าอี้สำหรับเด็กพร้อมคาด เข็มขัดนิรภัยขณะนั่งในรถกับคุณพ่อคุณแม่ * วินัยเกี่ยวกับสุขภาพ อย่างการรับประทานอาหารให้เป็นเวลา หรืออาบน้ำตอน 6 โมง(เพราะถ้ามืดกว่านี้อากาศจะเย็น อาจทำให้ไม่สบายได้) หรือควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง
* วินัยเกี่ยวกับความรับผิดชอบ อย่างการดูแลรับผิดชอบกิจวัตรประจำวัน ของตัวเองให้เป็นเวลา การช่วยเหลือทำงานบ้าน
* วินัยเกี่ยวกับการเข้าสังคม อย่างการรู้จักพูดคำ "ขอโทษ" หรือ "ขอบคุณ " การเข้าคิว
* วินัยเกี่ยวกับการเคารพสิทธิผู้อื่น อย่างเคาะประตูก่อนจะเข้าห้องผู้อื่น หรือขอ อนุญาตเจ้าของสิ่งของนั้นๆ ก่อนหยิบเอาไปใช้และเอามาคืน
* วินัยเกี่ยวกับการมีจริยธรรม เรื่องนี้อาจเป็นนามธรรมอยู่สักหน่อย แต่ก็สอนเด็กได้ เช่น การไม่เอาเปรียบผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ เอื้ออาทรต่อผู้อื่น ไม่พูดให้ร้ายผู้อื่น ถนอมน้ำใจผู้อื่น ไม่พูดปด ฯลฯ

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-08-12 11:51:28 IP : 124.120.111.204


ความคิดเห็นที่ 2 (1973190)
avatar
admin

ฝึกวินัยให้ได้ผล

* ทำเป็นประจำ บางครั้งการที่พ่อแม่รู้สึกสงสารและเห็นใจลูก หรือรู้สึกผิด ต่อลูกหลังจากเพิ่งว่ากล่าวตักเตือนไป ทำให้ตามใจลูกและหย่อนยานระเบียบวินัยไป หรือ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของพ่อแม่ วันไหนอารมณ์ดีก็อาจจะยอมให้ลูกละเมิดกฎโดยไม่ว่ากล่าว วัน ไหนอารมณ์ไม่ดีก็ดุว่ารุนแรง ทำให้ลูกรู้สึกสับสน การฝึกวินัยจึงไม่สำเร็จ

* เอาจริง บ่อยครั้งนะคะที่คุณพ่อคุณแม่เตือนลูกให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือฝึกวินัยลูก พร้อมกับทำงานอย่างอื่นไปด้วย เช่นทำงานบ้าน หรืออ่านหนังสือพิมพ์ เด็กจะไม่รู้สึกว่า กำลังได้รับการฝึกฝนอยู่ แต่จะตีความไปว่าคำพูดลอยลมเช่นนั้นเป็นคำพูดที่คุณพ่อคุณแม่อาจ เปรยขึ้นมาเฉยๆ ไม่จริงจังอะไร การจะฝึกวินัยหรือสอนลูกอะไรสักอย่างพ่อแม่ควรต้อง ใกล้ชิดติดตาม แต่ด้วยท่าทีที่อบอุ่น อ่อนโยน เขาจะได้ไม่ตีความผิดๆ ว่าคุณกำลังหาเรื่อง และลงโทษเขาอยู่ค่ะ

* หมั่นชมลูก ในการฝึกวินัยให้ลูกรัก คุณพ่อคุณแม่อาจเผลอใช้คำพูดเสียดสี รุนแรง ไม่ให้กำลังใจ คำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา แทนที่จะทำให้ลูกทำตัวดีขึ้นอาจกลาย เป็นสิ่งเร้าให้ลูกละเมิดกฎเกณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาจะรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย ด้อย ค่า ไม่มีใครรักใครสนใจเขาค่ะ การพูดชม ให้กำลังใจเป็นวิธีที่เข้าถึงใจลูกได้มากกว่า แต่ต้องเป็นการชมที่จริงใจ และชัดเจนว่าพฤติกรรมอย่างไรที่ทำให้เขาได้รับคำชมเชย เขาจะรู้สึกดี และภาคภูมิใจที่จะทำตามระเบียบวินัยนี้ต่อไปเรื่อยๆค่ะ

* ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เด็กส่วนใหญ่หรือแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ มักชอบฟัง คำพูดที่อธิบายเหตุและผลมากเสียกว่าเสียงตะโกนหรือเสียงตะคอกที่ไม่ได้บ่งบอกอะไรเลย นอกเสียจากอารมณ์โกรธเกรี้ยวใช่ไหมคะ ถ้าทุกครั้งคุณพ่อคุณแม่ใช้เหตุผลในการสอนวินัย ลูกรัก เด็กจะเรียนรู้ที่จะใช้เหตุผลในการคิดตัดสินใจที่จะทำอะไรเช่นกันค่ะ ในทางกลับกัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่อาศัยเสียงตะโกน การตี การหยิก หรือการกระแทกหรือทำลายสิ่งของที่อยู่ ตรงหน้า เด็กจะเรียนรู้พฤติกรรมความก้าวร้าวแทนการฝึกวินัยอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจไว้ค่ะ

* เป็นตัวอย่างที่ดี มีความรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตัวเอง เด็กยิ่งเล็ก เท่าไหร่ยิ่งจะยึดเอาพ่อแม่เป็นแบบอย่างมากเท่านั้น และถ้าเขาเห็นตัวอย่างของคุณพ่อคุณ แม่ที่รับผิดชอบ เขาจะเรียนรู้และเลียนแบบที่จะทำตามนั้นเช่นกันค่ะ การฝึกวินัยลูกในเรื่อง นี้ที่เห็นเด่นชัดคงจะเป็นเรื่องของการรักษาเวลา ถ้าเขาทำอะไรช้าๆ เขาจะเรียนรู้เอง ค่ะว่าเขาต้องทำอะไรที่เหลืออยู่ด้วยเวลาที่จำกัดมากขึ้นกว่าเดิม คราวหน้าเขาจะเริ่มทำ อะไรเร็วๆ ขึ้นเพื่อรักษาเวลา ซึ่งเป็นการฝึกทั้งวินัย และความรับผิดชอบต่อตัวเองไปด้วย ในตัว และอีกเรื่องหนึ่งคือการรักษาคำพูด คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่สำคัญมากๆ เลยค่ะ

* อย่าจู้จี้ ยกความผิดเดิมๆ ที่ลูกเคยทำไว้เมื่ออาทิตย์ที่แล้วหรือเดือนก่อนมาว่า กล่าวกันอีก เพราะเท่ากับไปตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าลูกเป็นคนผิด เป็นคนไม่ดี ไม่ควรค่ากับ ความรักความปรารถนาดีของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ พ่อแม่บางคู่มักชอบเอาความผิดของลูกไปบอกกับเพื่อนๆ ของลูกหรือคุณครูที่โรงเรียน นอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกมีปมด้อยแล้ว ลูกอาจ รู้สึกโกรธเกลียดคุณ และต่อต้านระเบียบวินัยทุกข้อที่คุณตั้งไว้ค่ะ

* เสนอทางเลือก ส่วนใหญ่เวลาเราต้องการตักเตือนใคร หรือสอนให้ใครทำ อะไร เรามักใช้ประโยคบอกเล่าหรือคำสั่งเพียงประโยคเดียวเพื่อบอกกล่าวใช่ไหมคะ โดยเราอาจลืมนึกถึงไปว่ามันอาจมีทางเลือกอื่นๆ อีก บางครั้งเราอาจให้ลูกได้มีส่วนร่วม ในการตั้งกฎด้วย เช่น ให้เลือกประเภทงานบ้านที่ต้องทำเป็นประจำ หรือเวลาที่จะต้องทำ สิ่งนั้นสิ่งนี้ การปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสคิดหรือเลือกปฏิบัตินอกจากจะทำให้ลูกเต็มใจปฏิบัติ ตามกฎยิ่งขึ้น(เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกัน)แล้ว ยังสอนลูกให้รู้จักยืดหยุ่นและตัดสินใจได้ด้วย ตัวเองด้วยค่ะ

* ยืดหยุ่นบ้าง ควรตั้งกฎให้เหมาะกับอายุของลูก ค่ะ อย่างเด็กเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่อาจฝึกวินัยเขาด้วยการดึงความสนใจของเขาออกจากสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ห้ามให้เขาทำ มากกว่าการ ดุว่าด้วยเสียงอันดังหรือตีลูก เพราะเด็กจะตกใจ หวาดผวามากกว่าจะเข้าใจว่าเขากำลังได้รับการฝึกวินัยอยู่ และ เมื่อเด็กโตขึ้นมาอีกสักนิด วินัยบางกฎบางข้ออาจยืดหยุ่นขึ้นได้ เพื่อให้เหมาะกับความรับผิด ชอบที่เติบโตขึ้นตามวัยค่ะ

ฝึกวินัยลูกชาย-หญิงต่างกันไหม?
แม้ธรรมชาติเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงอาจแตกต่างกันบ้างตามพื้นฐานนิสัย แต่ เรื่องของการฝึกวินัยขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย สุขภาพ มารยาททาง สังคม และจริยธรรมอันดีโดยรวมๆ แล้วไม่แตกต่างกันค่ะ อาจมีบ้างบางครั้งที่ดูเหมือนฝึก วินัยลูกชายได้ยากกว่าลูกสาว เพราะเด็กผู้ชายแทนที่จะพูดจะคุยถึงความรู้สึกนึกของตัวเอง หรือความโกรธของตัวเองเหมือนเด็กผู้หญิง กลับเลือกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาแทน หรือบางครั้งอาจถูกคุณพ่อคุณแม่หรือคนรอบข้างคาดหวังว่าลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง จึงถูกฝึกวิ นัยเข้มกว่าลูกสาว ก็อาจจะเกิดการต่อต้านได้มากกว่าลูกสาว เมื่อรู้ธรรมชาติที่แตกต่างนี้ คุณควรเปิดโอกาสให้ลูกชายได้พูดคุยแสดงความรู้สึกระบายความคับข้องใจออกมาบ้าง มีการ ยืดหยุ่นบ้าง ก็จะทำให้ฝึกวินัยได้อย่างราบรื่นค่ะ

ฝึก "วินัย" ลูกต่างวัยอย่างไรดี
ดร.บราเซลตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กที่มีชื่อเสียงกล่าวไว้ว่า"นอกเหนือ จากความรักแล้ว ของขวัญที่ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่งที่พ่อแม่จะมอบให้ลูกได้คือการฝึกวินัย" เพราะวินัยเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตในหลายๆ ด้านอย่างที่กล่าวมาแล้ว

โดยพ่อแม่สามารถปูพื้นฐานเรื่องวินัยให้ลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด การที่พ่อแม่ ดูแลกิจวัตรประจำวันของลูกให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอแม้ไม่ได้เป็นการฝึกลูกโดยตรงแต่ก็ เป็นการเตรียมให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งที่คนเราต้องทำในแต่ละวัน พอในขวบปีที่สองจึงค่อยปูพื้นฐานในเรื่องของขอบเขต อะไรที่ทำได้ไม่ได้ เพราะลูกวัยนี้เริ่มไม่อยู่นิ่ง เที่ยวแสวงหา เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวตลอดเวลา การกำหนดขอบเขตช่วยให้ลูกปลอดภัยและเรียนรู้โลก ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ลูกเรียนรู้ว่าอะไรเหมาะอะไรควรและรู้จักควบคุมตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกวินัยในปีถัดมา เด็กที่ได้รับการปูพื้นฐานเรื่องวินัยเป็นลำดับขั้น ตอนอย่างนี้ พอราวๆ 6 ขวบซึ่งเป็นวัยที่เริ่มรู้เรื่องเหตุผลแล้วก็จะเข้าใจเรื่องของวินัยได้ อย่างดี และพร้อมที่จะยอมรับกฎระเบียบของโรงเรียนได้อย่างมีความสุข

แต่การฝึกวินัยลูกมักจะไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะธรรมชาติพัฒนาการของ เด็กแต่ละวัยจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง หรือดื้อได้เสมอ ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่เมื่อลูก เข้าสู่ขวบที่สอง หากพ่อแม่ไม่รับมือกับอาการเหล่านี้อย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะปล่อยปละหรือเข้ม งวดเกินไปก็อาจจะทำให้ลูกกลายเป็นคนต่อต้านสังคมเมื่อโตขึ้น

ลองดูว่าเรามีวิธีจัดการหรือรับมือกับธรรมชาติพัฒนาการของลูกในแต่ละวัยที่ส่ง ผลถึงเรื่องของวินัยอย่างไรบ้าง

วัย 4-5 เดือน วัยนี้กำลังชอบกัด ชอบเคี้ยว บางคนอาจมันเขี้ยวถึงขนาดชอบ กัดหัวนมแม่ทุกครั้งที่ดูดนม วิธีจัดการ คุณแม่อุ้มเขาออกห่างจากหัวนมหรือเอานิ้วสอดใส่ให้เขากัดแทน เพื่อ บอกเขาเป็นนัยๆ ว่าการกระทำอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องที่เขาควรทำ ไม่ควรร้องหรือทำเสียงดุ จะทำให้ลูกตกใจกลัวมากกว่าจะเรียนรู้ค่ะ

วัย 8-10 เดือน วัยนี้เริ่มชอบที่จะเล่นผม ดึงผม ข่วนหน้า ดึงหน้าดึงตาของผู้
อุ้ม วิธีจัดการ คุณพ่อคุณแม่ควรจับมือเขาให้หยุดทำกิริยาต่างๆ เหล่านั้น พร้อมพูดว่า เจ็บ หมั่นพูดพร้อมจับมือให้เขาหยุดทำอยู่บ่อยๆ ลูกจะเริ่มเรียนรู้ว่าไม่ควรทำแบบนี้ แต่ถ้า เขายังทำไม่หยุด คุณควรรีบอุ้มเขาวางไว้บนเบาะหรือในเปลโดยทันที พร้อมพูดประโยค เดิม รอสักพักค่อยอุ้มเขาขึ้นมาใหม่ พร้อมพูดประโยคเดิมและเสริมความมั่นใจให้ลูกรู้ด้วย นะคะว่าคุณยังรักเขาอยู่เหมือนเดิม

วัย 1-2 ขวบ วัยนี้เริ่มรู้จักเข้าไปทักทายกับเด็กวัยเดียวกันแล้ว แต่ยังไม่รู้จัก การเล่น หรือการเข้าสังคมที่ดีพอ บางครั้งอาจอาศัยการกัด หรือการดึงผม ข่วนหน้าเพื่อ ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ วิธีจัดการ ถ้าบังเอิญคุณพ่อคุณแม่อยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ด้วย อย่าเพิ่งตีโพยตีพาย หรือตีลูกของตัวเองเลยนะคะ เพราะเขาไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายใคร ลูกของคุณเพียง อยากทำความรู้จัก และสำรวจตรวจตราเพื่อนใหม่เท่านั้นเอง ทางที่ดีที่สุดคุณควรอุ้มลูกขึ้น มาพร้อมบอกเขาว่าไม่ควรทำอย่างนั้นเพราะคนอื่นเจ็บ ไม่มีใครชอบถูกกัดหรือดึงผมหรอก
ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-08-12 11:52:29 IP : 124.120.111.204


ความคิดเห็นที่ 3 (1973191)
avatar
Admin

วัย 2 ขวบครึ่ง วัยนี้เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเอง สูงขึ้น บ่อยครั้งที่ชอบทำอะไรตามความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเอง แต่ก็มีบางครั้งอีก เช่นกันค่ะที่ลูกรู้สึกตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ หงุดหงิด รำคาญใจ และอาละวาด วิธีจัดการ ทุกครั้งที่ลูกเริ่มอาละวาดไม่ว่าจะเป็นการกรีดร้อง ดิ้นพรวดพราด ขว้างปาข้าวของ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้กำลังหรือใช้เสียงดังเข้าตัดสินปัญหา เด็กยิ่งรู้สึกหงุด หงิดขัดใจเข้าไปกันใหญ่ค่ะ ทางที่ดีควรปล่อยให้เขาอยู่ บางครั้งคนเราก็โมโห หงุดหงิดได้ แต่ควรบอกความ รู้สึกกันดีๆ ไม่ควรขว้างปาข้าวของหรืออาละวาดแบบนี้

วัย 3-6 ขวบ เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้อย่างดีพอค่ะ เมื่อรู้สึกโกรธ หรือไม่พอใจอะไรขึ้นมา เขาพร้อมจะขว้างปาสิ่งของ หรือด่าทอใครต่อใคร ที่ขวางหน้าได้ทุกเมื่อ

วิธีจัดการ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกกลายเป็นคนเงียบๆ คนเดียวสักพัก ปล่อยให้ เขาจัดการกับปัญหาด้วยตัวเองสักพัก พออารมณ์เริ่มสงบลงแล้วค่อยกอดเขา และพูดกับเขา อย่างอ่อนโยนและเข้าอกเข้าใจว่าก้าวร้าวหรือควบคุมอารมณ์ตัว เองไม่ได้ต่อไปในอนาคต ทางที่ดีที่สุดไม่ควรจะตีเขาหรือด่าทอเขากลับค่ะ เพราะยิ่งเป็น การสุมฟืนเข้ากองไฟโดยเปล่าประโยชน์ เด็กกำลังอยู่ในอารมณ์โกรธ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจ เย็น เข้าไปยุติการกระทำนั้นและบอกลูกว่าเขาไม่ควรทำอย่างนั้น หากลูกไม่ฟังให้กอดเขา แน่นๆ จะช่วยสยบความโกรธและทำให้ลูกควบคุมตัวเองได้ เมื่อลูกควบคุมตัวเองได้แล้วจึง ค่อยพูดจากันว่าทำไมเขาไม่ควรทำเช่นนั้น และปลอบโยนให้เขาเห็นว่าคุณเข้าใจความรู้สึก ของเขาเป็นอย่างดี ที่สำคัญพ่อแม่ต้องควบคุมตัวเองให้ได้ ไม่แสดงอาการโกรธตอบลูก หากรู้ตัวว่าไม่ไหวจริงๆ ก็เลี่ยงออกไปสงบสติอารมณ์เสียก่อน

เตือนใจคุณพ่อคุณแม่
ดร.บราเซลตันกล่าวว่า"การฝึกวินัยเป็นการสอนลูก ไม่ใช่การลงโทษลูก" เพราะฉะนั้นวินัยจึงไม่ใช่กฎเหล็กที่ต้องควบคุมให้ลูกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ธรรมชาติคนเรา ถ้าต้องอยู่ในกรอบที่หนาแน่นมากเกินไป ยิ่งเรียกร้องหาอิสรภาพมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การฝึกวินัยจึงต้องคำนึงถึงวัยและธรรมชาติพัฒนาการตามวัยของลูก ธรรมชาติความแตก ต่างของเด็กแต่ละคนด้วย เช่นเด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหว เด็กที่ค่อนข้างเก็บกด เงียบขรึม ไม่ แสดงความรู้สึก พ่อแม่ต้องยืดหยุ่น ปรับวิธีการฝึกวินัยให้เหมาะกับลูก
และสำคัญที่สุดต้องฝึกวินัยลูกด้วยท่าทีที่อ่อนโยน แต่หนักแน่น สม่ำเสมอคงเส้นคง วา พร้อมเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความรู้สึกนึกคิด ให้ลูกรู้อยู่เสมอว่าเราฝึกวินัยเขาด้วย ความรัก ไม่ใช่เป็นการลงโทษ กักขังอิสรภาพ

เมื่อไหร่ควรพูดว่า "อย่า"
คำพูดติดปากที่คุณพ่อคุณแม่อาจห้ามปรามลูกไม่ให้ทำอะไรก็คือคำว่า "อย่า" แต่ รู้ไหมคะว่าเด็กยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งมีคำว่า "อย่า" มากเท่าไหร่ ยิ่งมีการฝ่าฝืนกฎ ระเบียบวินัยมากขึ้นเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการห้ามปรามไม่ให้ลูกทำอะไรที่ ไม่ควรทำ การส่ายหน้า ขมวดคิ้ว พูดเสียงเข้มขึ้น หรือดึงเขาออกมาจากสิ่งของที่อยู่ตรง หน้า ล้วนเป็นการพูดคำว่า "อย่า" ให้ลูกรู้ตัวแบบนุ่มนวล ส่วนคำว่า"อย่า" ที่หลุดออกมา จากปากจริงๆ ควรเป็นการห้ามปรามกับสถานการณ์ที่ร้ายแรงหรือเป็นอันตรายต่อลูกจริงๆค่ะ

ฟังใครดีล่ะเนี่ย...
บ่อยครั้งนะคะที่การฝึกวินัยลูกรักอาจมีมือที่สามหรือสี่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่คุณย่าคุณป้าน้าอาหรือคุณพี่เลี้ยงก็ตาม กฎระเบียบวินัยของคนต่างคนอาจ แตกต่างกันไปบ้างจากของคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ควรควรบอกกล่าวหรือขอร้องคนในบ้าน ให้ดูแลลูกไปในทิศทางเดียวกันค่ะ บอกให้ทุกคนทราบว่าเรื่องไหนบ้างที่เราให้ลูกทำได้หรือ ไม่ได้ พร้อมกับขอความร่วมมือจากปู่ย่าตายายและพี่ป้าน้าอาอย่าพากันตามใจหลานนัก เพราะจะทำให้การฝึกวินัยของคุณไม่ได้ผล แต่บางทีก็พูดยากนะคะเพราะเขารักลูกของเรา นั่นเอง จะบอกให้เขาเลิกตามใจหลานโดยสิ้นเชิงก็จะเสียน้ำใจกันเปล่าๆ คงต้องแก้ปัญหา แบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ด้วยการเดินทางสายกลาง ยืดหยุ่นบ้าง หรือหาทางออกอื่นๆ เช่น ให้ลูกบ้วนปากทุกครั้งที่กินลูกอม หรือขอร้องว่าให้ลูกกินข้าวก่อนแล้วค่อยกินขนมที่พี่ป้า น้าอาซื้อมาฝาก

จาก: นิตยสารรักลูก
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2009-08-12 11:53:19 IP : 124.120.111.204


ความคิดเห็นที่ 4 (2106827)
avatar
isaiah

chanel bags gucci bags coming on their own way and it is louis vuitton models of Ferragamo Handbags that replica louis vuitton bags lv mens wallet fake.

ผู้แสดงความคิดเห็น isaiah (iwc-at-google-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-10 19:02:26 IP : 125.126.157.28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.