ReadyPlanet.com


ใจเขาใจเรา ทักษะเก่าจับมาเล่าใหม่
avatar
Admin


   วันนี้คุณครูเก็บเรื่องราวหัวใจของการเข้าสังคมมาฝากคะ 

  เราทุกคนต่างอยากมี อยากได้  ต้องการเป็นผู้รับกันทุกคน 

  "เด็ก ๆ อยากได้รับการใส่ใจ  ผู้ใหญ่ก็ต้องการ"
  "เด็ก ๆ ก็อยากเป็นที่รัก  ผู้ใหญ่ก็ต้องการ"
  "เด็ก ๆ ก็อยากได้รับการดูแล ผู้ใหญ่ก็ต้องการ"  

   หัวใจของเรื่องนี้ คือ เรียนรู้การให้และรับอย่างเหมาะสม  

    ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่จะให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกมาก จนบางครั้งลูกๆ ก็ทำอะไรตามใจตนเองและลืมทำตัวให้น่ารัก  เช่น  อยากทานขนม  คุณแม่ก็ซื้อให้กล่องเบ่อเริ่ม กินก็ไม่หมดแต่หนูก็หวงไว้กินคนเดียว  กินไม่หมดค่อยแบ่งของคุณพ่อคุณแม่ทานต่อ  อย่าลืมนะคะว่าคุณพ่อคุณแม่ก็อยากทานขนมที่หน้าตาสวยงาม ไม่ใช่ขนมที่ลูกเลือกทานสิ่งที่ถูกใจหมดแล้ว  ทักษะง่าย ๆ สอนเด็กให้รู้จักใจเขาใจเรา  เริ่มต้นได้ที่บ้าน เพื่อทักษะการเริ่มต้นเข้าสู่สังคมของหนู  ให้ลูก ๆ เป็นเด็กที่น่ารักและเป็นที่รักคะ

 

ใจเขาใจเรา...ต้องปลูกฝังให้อยู่ในใจลูก

 

 

โดย: กุมภการ

    การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับการเข้าสังคม และยังเชื่อมโยงไปสู่เรื่องการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การใช้สติปัญญาด้วยค่ะ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราควรปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ 


ทำไมต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น (empathy) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของคุณธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับผู้คนรอบข้างค่ะ อีกทั้งเป็นหนึ่งในหลายๆ ทักษะของการใช้ชีวิตในสังคม เช่น การอ่านใจคนอื่นจากท่าทาง สีหน้า อุปนิสัย จะทำให้เราได้เปรียบในการเจรจาต่อรองธุรกิจ คิดแก้ปัญหา ช่วยลดความขัดแย้ง รวมไปถึงการมีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องถึงเรื่อง IQ และ EQ ด้วยค่ะ เด็กๆ ที่ฉลาดหรือมีสติปัญญาดี จะเข้าใจวิธีการคิด การใช้เหตุผล การตัดสินใจ รู้สึกเห็นอกเห็นใจ และคุณธรรมอื่นๆ ได้ดี ดังนั้นการสอนให้ลูกมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จึงต้องควบคู่ไปกับพัฒนาการด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวันด้วย

เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
โดยทั่วไปการสอนให้เด็กใส่ใจคนอื่น มักจะเริ่มสอนก่อนในวัยอนุบาล แต่ นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล แนะนำว่า จริงๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกให้เรียนรู้เรื่องนี้ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่วัยประมาณ 18 เดือนหรือช่วงวัยเตาะแตะเลยล่ะค่ะ
โดยลองสังเกตความพร้อมจากพฤติกรรมลูก เช่น หากลูกทำอะไรผิดหรือทำอะไรให้คนอื่นเสียใจ แล้วเขาตอบสนองด้วยความรู้สึกว่าเขาเสียใจ แสดงว่าลูกมีความพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มแนะนำและสอนเรื่องนี้ให้กับลูก และไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวัยอนุบาลค่ะ

ต่อยอดให้วัยอนุบาล
เมื่อเริ่มต้นปูพื้นฐานดีแล้ว ก็ต้องต่อยอดกันหน่อยค่ะ ความเข้าใจในเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเราของเด็กแต่ละวัยนั้นมีความแตกต่างกัน


วัยเตาะแตะ ศาสตราจารย์ แนนซี่ ไอเซนเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรัฐอริโซน่า บอกว่า ช่วง 2-3 ขวบเด็กสามารถแยกแยะสีหน้าแสดงอารมณ์ต่างๆ ได้แล้ว
การบอกเหตุผลสั้นๆ จะช่วยให้ลูกเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นมากขึ้นค่ะ เช่น หนูทำดีจังเลยแม่ชอบ พอโตขึ้นก็บอกเหตุผลได้มากขึ้น เช่น หนูทำดีจังเลย เห็นมั้ยว่า พอหนูทำดีแล้วเพื่อนก็ชม เพื่อนอยากเล่นกับหนู ฯลฯ


วัยคิดส์ ส่วนใหญ่จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจและอยากช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้ว เช่น เวลาเห็นเพื่อนร้องไห้เด็กหลายคนจะนั่งเศร้าไปด้วย บางคนเข้าไปกอดและปลอบ เพื่อนว่าอย่าร้องไห้เลย หรือแม้แต่เวลาที่ผู้ใหญ่คุยกันด้วยอารมณ์เศร้า โกรธ เขาก็สามารถรับรู้ได้แม้ว่าจะไม่เข้าใจทั้งหมด
ช่วงวัยนี้จึงเหมาะที่จะสอนเรื่องคุณธรรมต่างๆ รวมทั้งเรื่องการเห็นอกเห็นใจคนอื่น การต่อยอดเพื่อปลูกฝังเรื่องนี้ จึงต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของลูกด้วยค่ะ เช่น วัยนี้เขายังเลียนแบบคนใกล้ตัว การสอนเรื่องนี้ก็ยังต้องอาศัยคำชมจากคนรอบข้างอยู่ เช่น ทำแล้วคุณพ่อคุณแม่ชมเขาจึงจะทำ ทำแล้วเพื่อนชม ทำแล้วเพื่อนเล่นด้วย ทำแล้วครูชอบ ซึ่งจะทำให้เราสามารถสอนเรื่องนี้ให้เขาได้มากขึ้นด้วยค่ะ การส่งเสริมให้เด็กทำความดี จึงต้องชื่นชมเขาบ่อยๆ ต้องมีแรงกระตุ้นอยู่เรื่อยๆ ค่ะ

เริ่มต้นจากที่บ้าน
การสอนให้ลูกรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้น สามารถเริ่มจากที่บ้านได้เลยค่ะ ส่วนวิธีการสอนนั้นสามารถใช้วิธีเดียวกันไม่ว่าจะเป็นวัยไหน คือ
แรงเสริมช่วยชี้ทางหนู เมื่อลูกทำดีคุณพ่อคุณแม่ต้องบอกหรือทำให้เขารู้ค่ะ เช่น ชมลูก บอกลูกว่าหนูเป็นเด็กดีจังเลย กอด หอม ยิ้มให้ รวมทั้งให้รางวัล ซึ่งเป็นการบอกว่าสิ่งที่ลูกทำอยู่เป็นสิ่งดี
แต่การให้รางวัลก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของเสมอไปนะคะ อาจให้เขามีโอกาสได้รับสิทธิพิเศษ เช่น วันนี้หนูทำดีจังเลย แม่จะเล่านิทานให้ฟังเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่องจากที่เคยเล่าให้ฟัง หรืออาจจะบอกว่าวันนี้หนูน่ารักมากเลยแม่ให้สิทธิหนูเลือกกับข้าวเมนูพิเศษ หนูอยากกินอะไรให้หนูเลือกก่อนคนอื่นจะเลือก หรือแทนที่คุณแม่จะเลือกให้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นค่ะ

สอนด้วยแบบอย่างได้ผลมากกว่า การสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องที่เป็นนามธรรมนั้นเป็นเรื่องยากค่ะ แต่ก็สามารถทำได้ โดยต้องพยายามให้เด็กสามารถจับต้องได้และเรียนรู้ได้ง่ายๆ คือ เด็กต้องมองเห็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งมีความสำคัญมากกับการฝึกฝนให้เด็กมีคุณธรรมจริยธรรม เพราะนอกจากเด็กเรียนรู้ผ่านแรงเสริมแล้ว เขายังเรียนรู้จากแบบอย่างในสังคมอีกด้วยค่ะ เช่น เรียนรู้จากคนใกล้ชิดอย่างคุณพ่อคุณแม่ คนในครอบครัว ไปถึงคนที่ไกลตัวออกไปเรื่อยๆ เช่น เพื่อนที่โรงเรียน คุณครู รวมถึงสังคมอื่นๆ ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้ทั้งสิ้นค่ะ

บอกให้รู้และลงโทษเมื่อทำผิด เวลาที่ลูกประพฤติไม่ดี ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ต้องบอกให้ลูกรู้เช่นกันค่ะ และอาจต้องมีการลงโทษกันบ้าง แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงทั้งกายและใจค่ะ เช่น ลูกทำอะไรไม่ดี ไม่น่ารักที่ไม่มีอันตรายมากนัก คุณพ่อคุณแม่ก็เพิกเฉยไม่สนใจ ซึ่งจะทำให้ลูกรับรู้ได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ชอบ หรืออาจแยกเด็กออกไปทางอื่น ที่เรียกว่า time out ให้เด็กออกไปอยู่อีกที่หนึ่ง หรือคุณพ่อคุณแม่เดินแยกไปทางอื่นเสียเองก็เป็นวิธีการหนึ่งค่ะ
ถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อาจจะไม่ให้ของที่เคยให้ เคยให้ลูกมีสิทธิพิเศษอะไรคุณพ่อคุณแม่ก็ยกเลิก เช่น เคยให้เล่น เคยให้ดูโทรทัศน์ เคยให้เงินไปซื้อขนมเป็นพิเศษก็ไม่ให้ เคยเล่านิทาน ก็งดเล่า โดยบอกเหตุผลกับลูกด้วยว่าเพราะหนูทำอย่างนี้ไม่ดี ไม่น่ารัก ก็เป็นการลงโทษอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งได้ผลดีกว่าและไม่ต้องใช้ความรุนแรงค่ะ

สิ่งที่จะช่วยให้การเรียนรู้ของลูกเป็นเรื่องง่าย และได้ผลดี คือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก เพราะลูกสามารถเลียนแบบบทบาทที่คุณพ่อคุณแม่ทำและสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ประพฤติ แล้วนำมาใช้ด้วยตัวเองได้ค่ะ
เพราะฉะนั้นเวลาคุณภาพมีความสำคัญมากๆ สำหรับลูกค่ะ การที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากๆ ก็จะมีความเข้าใจลูกมากขึ้น ลูกเองก็จะเข้าใจคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นเช่นกัน เมื่อความสัมพันธ์ดีแล้วการสอนเรื่องต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปค่ะ


ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องอยู่ร่วมกันในสังคม แม้จะมีผู้คนมากมายหลายประเภท แต่สำหรับหัวอกของพ่อแม่แล้ว ย่อมอยากให้ลูกเป็นคนดีของสังคม และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น เชื่อค่ะว่าเมื่อลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแล้ว เขาย่อมไม่เป็นปัญหาและมีความสุขกับการใช้ชีวิตในอนาคตอย่างแน่นอน

 

 Credit : รักลูก

จาก: นิตยสารรักลูก


ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2012-01-26 09:11:35 IP : 110.169.230.7


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.