ReadyPlanet.com


เสียงสะท้อนจากคุณครู ถึงการดูแลการเรียนลูกวัยอนุบาล
avatar
Admin


การเรียนรู้ที่แท้จริง

 

 

 

เรื่องที่พ่อแม่หรือแม้แต่ครูก็ยังเข้าใจไขว้เขว มาทำความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กๆ กันดีกว่าค่ะ

 

 

"การศึกษาในวัยอนุบาล เป็นเรื่องของพัฒนาการ"

 

ผู้ที่พูดประโยคนี้ คือ ดร.วรนาท รักสกุลไทย นักการศึกษาระดับอนุบาล ซึ่งใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญช่วยพัฒนาให้การศึกษาระดับอนุบาลบ้านเรารุดหน้าไป ในทิศทางที่ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเด็กมากที่สุด รวมทั้งในฐานะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเกษมพิทยา แผนกอนุบาล ทำให้อดีตข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการผู้นี้ มีมุมมองทางด้านอนุบาลศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างสมดุล
 
..ประโยคข้างต้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจารย์ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาเรียนรู้ของเด็กอนุบาล ซึ่งอาจารย์ได้พูดคุยกับ รักลูก และฝากแง่มุมที่น่าสนใจอื่นๆ ไว้อีกมากทีเดียว

 

 

* การศึกษาของเด็กวัยอนุบาลหมายความว่าอย่างไรคะ
 
สำหรับตัวเองคิดว่าการศึกษาสำหรับเด็ก คือการพัฒนาเด็กให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเขา ทำให้เด็กเจริญเติบโตและก้าวหน้า เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดี ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษาคือการพัฒนา "เต็มตามศักยภาพ" ของเด็ก เมื่อก่อนจะพูดแค่ว่าพัฒนา "ตามศักยภาพ" พอพูดแบบนี้ทุกคนก็จะเร่งเด็ก แต่พรบ.ใหม่นี้จะเน้นที่ "เต็มตามศักยภาพ" เพราะฉะนั้นเราต้องรู้วุฒิภาวะของเด็กแต่ละคนด้วยว่ามีแค่ไหน
 
คำว่า "การศึกษา" มันค่อนข้างกว้าง สำหรับเด็กอนุบาลแล้วที่จริงคือทำอย่างไรให้เด็กเติบโตเป็นคนดี เก่ง และมีความสุข ซึ่งพอมาถึงตรงนี้จะมีกระบวนการเรียนรู้เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

 

* แล้วกระบวนการเรียนรู้ล่ะคะคืออะไร
 
กระบวนการเรียนรู้ในแง่จิตวิทยาหมายถึง การที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น เราเอาของเล่นมาวางไว้ให้เด็กเล่นเฉยๆ บางคนอาจบอกว่าเด็กก็เรียนรู้เรื่องสี เรื่องจำนวน เรื่องรูปร่าง.. ใช่ ถ้าเด็กมีประสบการณ์เดิมมาก่อน แต่ในเล็กเล็กไม่ใช่ เขาต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับมัน สัมผัสมันด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผู้ใหญ่ก็ต้องสอน เชื่อมโยงความรู้เก่า ถ้าเขาไม่รู้เลยก็ต้องสอน.. นี่สีเหลือง สีแดง
 
เคยฟัง อ.สายสุรี จุติกุล ท่านอธิบายตอนสัมมนาครูว่า แม่ยื่นกล้วยให้ลูก คนที่หนึ่งไม่พูดเลย แม่คนที่สองก็พูดกับลูกว่า กินกล้วยแล้วเอากล้วยใส่ปาก แม่ที่สามบอก กินกล้วยมั้ยลูก เดี๋ยวแม่จะปอกให้ แล้วลูกลองชิมดูสิว่ารสมันเป็นอย่างไร หวานมั้ย หรือแม่คนที่สี่ บอกว่าแม่มีกล้วยเป็นผลไม้ให้ลูกทาน แต่ลูกจะเลือกทานกล้วยหรือส้ม นี่ขยายประสบการณ์เด็กออกไป..


นี่แหละคือสิ่งที่เราควรจะทำกับเด็ก แต่บางคนไม่รู้ บอกว่าไปพูดจาเรื่อยเปื่อยทำไมกับเด็ก ไม่ใช่อย่างนั้น แล้วคิดว่าลูกคนไหนได้การเรียนรู้ที่ดีที่สุดจากแม่ ..แม่คนที่สี่ เพราะเปิดโอกาสให้เด็กคิด มีตัวเลือก มีการตอบสนองจากลูก ไม่ได้เป็นการออกจากแม่ทางเดียว
 
กระบวนการเรียนรู้ของเด็กเล็กนั้น เราต้องดูว่าเราสอนให้เขาใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เต็มที่หรือเปล่า หรืออาจารย์ยกตัวอย่างว่าเวลาเราไปร้านผ้า เวลาซื้อผ้าเราจะจับดูเนื้อก่อน เพื่อจะดูว่ามันยับง่ายหรือเปล่า ซึ่งเราก็เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส แล้วไฉนเลยครูยังสอนโดยการยกภาพขึ้นมาแล้วพูดจากภาพ ซึ่งมันก็จริง ต้องพยายามเปรียบเทียบกับตัวเราเองว่าอะไรที่เราทำ และอะไรคือทักษะที่เราต้องใช้ในการดำรงชีวิต แล้วเราก็ฝึกเด็กแบบนั้น
ฝึกให้เขามีมีปฏิสัมพันธ์กับคน สิ่งแวดล้อมมั้ย ฝึกให้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 การเรียนรู้ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เด็กวัยนี้ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เดิมอยู่แล้ว เราจึงต้องให้ทุกอย่างเพื่อเป็นฐานของประสบการณ์ เป็นทักษะพื้นฐานในตอนโต ขณะที่เราโตขึ้นมา เราใช้ชีวิตจากประสบการณ์เดิมทั้งนั้น

 


* ลักษณะของกระบวนการเรียนรู้ที่ดีเป็นอย่างไรคะ
 
เราต้องเชื่อก่อนว่า การเรียนรู้นั้นเกิดได้กับทุกคน ทุกสถานที่ ทุกเวลา และกระบวนการเรียนรู้ที่ดีนั้น ต้องเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายหลากหลาย คือมีความหมายต่อชีวิต
 
มีคนเคยยกประเด็น ความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้นมาว่า ในเมื่อเด็กในเมืองมีคอมพิวเตอร์ มีภาษาอังกฤษ เด็กชนบทก็ควรจะได้สิ่งนี้ เพื่อพิสูจน์ความเสมอภาคทางการศึกษา แต่มานั่งนึกดูทั้งในเมืองและชนบท เด็กเล็ก 5-6 ขวบ ต้องใช้ภาษาอังกฤษมั้ย คอมพิวเตอร์มั้ย คำตอบเท่ากันหมดเลยว่าไม่จำเป็น ยิ่งในต่างจังหวัด ไม่ต้องเรียนก็ได้ เราเอาตัวนี้เป็นตัววัดความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่ามันมีความหมายต่อชีวิตเด็กหรือเปล่า ตรงนี้สำคัญ แล้วให้ลูกท่องไปปาวๆ ท่องไปเถอะ ก-ฮ แต่เขาไม่รู้ว่ามันมีความหมายอย่างไร ไม่เคยซาบซึ้งเลยว่านี่มันคือภาษา ก็ป่วยการ บางโรงเรียนให้เด็กนั่งท่อง a b c.. zebra ม้าลาย ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยเห็นเลยว่าม้าลายจริงๆ มันเป็นอย่างไร ท่องไปเถอะ มันจะไปเกิดประโยชน์อะไรกับตัวเขา
 
พ่อแม่บางคนชอบมากเลยให้ลูกท่อง a ant มด b bat ค้างคาว แต่ลองหยุดติวสัก 1 เดือนจะลืมหมดเลย เพราะนั่นคือความจำระยะสั้น มันยังไม่มีความหมายกับตัวเขา มันท่องไปปาวๆ มันยังไม่เกิดองค์ความรู้กับตัวเขา มันท่องจำอย่างเดียว ไม่มีความสุขในการท่องด้วยซ้ำ ยิ่งไม่มีความสุข ยิ่งลืมเร็ว ถ้าถูกตีอยู่เรื่อยๆ หรือพูดตอกย้ำอยู่เรื่อยๆ .. โง่จังเลย สอนอยู่ 4-5 หนทำไมไม่ได้ มันจะเป็นผลลบกับลูกเลย
 
ในทฤษฎีการเรียนรู้แล้ว การเรียนรู้ทุกอย่างควรเป็นความจำระยะยาว ไม่ใช่ความจำระยะสั้นอย่างที่เป็นอยู่ เราต้องเข้าใจหลักการเรียนรู้ว่าถ้าสิ่งไหน เราทำอยู่บ่อยๆ มีความหมายกับตัวเรา และเรามีความสุข เราจะไม่ลืมมัน อย่างเพลงที่เราไม่ได้ฟังมาเป็น 10-20 ปี แต่ถ้ามีบรรยากาศสงบๆ แล้วได้ยินเพลงนั้นอีก มันจะระลึกแล้วกลับ มาได้ เพราะมันเป็นความจำระยะยาวที่ซ่อนอยู่ข้างในแล้วมันดึงออกมาได้ แต่เพลงนั้นเราต้องชอบจริงๆ มันต้องมีความผูกพันกับเราแล้ว เราจะเอาออกมาใช้ได้ สิ่งที่พ่อแม่สอนให้ลูกท่องจำมันได้แต่ความจำระยะสั้น ไม่ได้มีประโยชน์อะไร
 
 
เรียนรู้ต้องเป็นไปอย่างสมดุล สมดุลในที่นี้ตีความได้หลายอย่าง เพราะมันหมายถึงสมดุลทั้งในแง่พัฒนาการทุกด้าน ได้ทั้งคุณธรรมและวิชาการ และสามารถทำให้เด็ก ไม่เครียด มีความสุขกับการเรียนรู้ของเขาได้

 

 

* การเรียนรู้อย่างมีความสุขเป็นอย่างไรคะ
 
การเรียนรู้อย่างมีความสุข เราต้องให้เด็กได้เรียนอย่างตื่นเต้น แปลกใหม่ ท้าทายความสามารถ แต่ครูไม่ค่อยได้คิดถึง เคยถามครูตอนไปอบรมว่า "คุณเคยคิดมั่งมั้ยว่า ทำไมเราต้องมานั่งสอนแบบนี้".. พยักหน้ากัน "คุณเคยรู้สึกมั้ยว่าในแต่ละวันพอจะสอนเรื่องกล้วย ฉันก็ต้องไปหารูปกล้วยมาติดเอาไว้ แล้วก็สอนร้องเพลงกล้วย เคยรู้สึกกับตัวเองมั้ยว่าเบื่อ" "เคยมองแววตาเด็กมั้ยว่าเขาไม่ได้สดชื่นอะไรกับเราเลย".. พวกครูก็ผงกหัวกันใหญ่ ก็ขนาดเรายังห่อเหี่ยว เด็กก็ต้องห่อเหี่ยว แล้วไม่เกิดความคิดเลยหรือว่า เอ๊ะ ..เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปวันๆ หรือ"

* ปัญหาที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น มีอะไรบ้าง
 
ผู้ปกครองบางคนยังเข้าใจผิดว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้เฉพาะในโรงเรียน อยู่ที่บ้านก็เล่นไปเรื่อยๆ บางคนรู้ว่าลูกเรียนรู้ผ่านการเล่น ก็ให้เล่นใหญ่ แต่เข้าใจผิด พวกเราพอจัดให้เด็กเล่นก็ปล่อยให้เด็กเล่นอิสระเสียจนไร้ความหมาย เด็กก็เล่นไปโดยไม่มีการคุมบริบทของสถานการณ์ ไม่มีการคุมตัวสื่อ ไม่คุมอะไรเลย แล้วเด็กก็เล่นไปโดยไม่มีการเรียนรู้ คือมีแต่สนุกอย่างเดียว ไม่ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นเลย นอกจากเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน
 
เท่าที่ได้สัมผัส พ่อแม่ที่เข้าใจเรื่องการเรียนรู้จริงๆ มีน้อย ยังคิดแบบเดิม แม้ว่าจะมีการศึกษากันสูงๆ ก็ตาม มีหลายคนที่ลูกจะเข้าโรงเรียน แล้วลูกเกิดช้าไปสักเดือน สองเดือน คือเกิดหลัง 16 พฤษภาคมไปแล้ว ก็โวยวาย แทนที่ลูกจะเข้าโรงเรียนตอน 3 ขวบ ก็ต้องเข้าตอน 3 ขวบ 11 เดือนนะสิ แล้วลูกจะไม่เรียนช้าไปหรือ ไม่จริงเลย
 
ขอบอกเลยว่าการศึกษาของอนุบาลมันเป็นเรื่องของพัฒนาการ ไม่ใช่เนื้อหาความรู้
 
กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก คนมักไปมองว่ามันคือเรื่องของการเรียนรู้เชิงเนื้อหา abc บวกลบเลข พ่อแม่คิดประมาณเลยนะ นี่ถ้าอนุบาล 1 ได้แค่นี้ อนุบาล 2 ได้แค่นี้ อนุบาล 3 ได้แค่นี้ ลูกผมเข้ามาเรียนได้ 7 เดือน แต่เรียนรู้เท่าเด็กเรียน 10 เดือนทำไมไม่ต่อยอดให้เขาไปอนุบาล 2 เลยล่ะ.. นี่แสดงว่าเขาไม่เข้าใจ ซึ่งยังมีอีกเยอะ
 
ครูเองก็เถอะ ถามพวกครูว่าคุณยังสอนด้วยแบบฝึกหัดใช่มั้ย คุณยังติดผลงานเฉพาะที่สวยใช่มั้ย ยังให้ดาวอยู่ใช่มั้ย คุณยังระบายสีในกรอบใช่มั้ย ฯลฯ ยกมือหมด.. อีกอย่างครูเราไม่แม่นทฤษฎี บางโรงเรียน ห้องเรียนก็ดีๆ อยู่แล้ว เอาโต๊ะเก้าอี้ออกจากห้องเรียนหมดเลย ถามว่าทำไม ก็บอกว่า เตรียมความพร้อมนี่คะ ไม่ได้ต้องอ่านเขียน แต่ไม่คิดหรือว่า เด็กต้องนั่งทำกิจกรรม ปั้นดินน้ำมัน ทำโน่นทำนี่ ทำไมเราไม่ใช้โต๊ะให้เป็นประโยชน์ เขาก็ตอบไม่ได้ ตรงนี้เพราะครูไม่แม่น

 

 

* พ่อแม่ต้องเข้าไปมีบทบาทกับการเรียนรู้ของลูกมากแค่ไหนคะ
 
มากพอกับครูเลยแหละ เพราะเป้าหมายของการปฏิรูปการเรียนรู้นั้น พ่อแม่ต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาของลูก เช่น ตัดสินหลักสูตรว่าลูกสมควรได้เรียนเรื่อง นั้นๆ หรือไม่ ไม่ใช่ปล่อยให้ครูยำลูก ลูกอยากเรียนเรื่องผี ครูก็ปล่อยให้เรียน พ่อแม่ต้องเข้ามาบอกเลยว่าลูกเรียนไปแล้วฉี่รดที่นอน มีอาการหวาดผวา ต้องให้ข้อมูล ครูจะได้ฉุกคิดว่า อ้อ..เรื่องนี้มีอันตราย อย่าสอนเลย
พ่อแม่ต้องแบ่งเวลาศึกษาหลักสูตรลูก ดูว่าลูกเรียนรู้แบบไหน ทำอะไรที่โรงเรียน ติดตามว่าเป็นอย่างที่เราหวังมั้ย แล้วสื่อสารกับโรงเรียน
 
เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่าพ่อแม่ต้องมี 4 c คือ...
 
1.consideration การคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ การคิดในลักษณะที่มองโลกของเด็กเป็นตัวตั้ง และต้องมองแบบว่าเห็นว่าการศึกษาของเด็กอนุบาลมีค่าด้วยนะ ไม่ใช่มองการศึกษาอนุบาลว่าไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ พ่อแม่หลายคนยังคิดแบบนี้ว่าเป็นการสิ้นเปลืองเงินเปล่าๆ แต่พ่อแม่ต้องเข้าใจตรงนี้ใหม่ ต้องแคร์ในเรื่องนี้
 
 
2. committment คือมีความมุ่งมั่น แคร์ ต้องแสวงหา และต้องมุ่งมั่นที่จะทำโรงเรียนที่ดีให้ลูก ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหา หรือไปทำโรงเรียนนั้นให้ดีให้ได้ เคยคุยกับผู้ปกครองคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาเองเสนอตัวกับทางโรงเรียนเลยว่าจะพาเด็กไปนอกสถานที่มั้ยจะช่วยติดต่อกับสถานที่ให้ จะสอนวิธีแบ่งกลุ่มเด็ก เด็กได้เรียนรู้จริงๆ ยังนึกชื่นชมเลยว่า เออ..ถ้ามีผู้ปกครองแบบนี้เยอะๆ จะดีมากเลย
 
3. consultation ให้คำปรึกษาหรือขอคำปรึกษา คือบทบาทของพ่อแม่ต้องมองว่าตัวเองต้องหาความรู้ในเรื่องการเรียนหรือพัฒนาการของลูกให้มาก
 
4. co-partner เป็นหุ้นส่วนแห่งการเรียนรู้ พ่อแม่ต้องเป็น learning partner กับครูเลย พ่อแม่ต้องถือว่าเราต้องทำงานกับครูในการที่จะทำให้ลูกเราพัฒนาให้ได้ เราต้องเข้ามามีส่วนช่วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูฝ่ายเดียว แต่หุ้นส่วนตรงนี้ต้องแคร์ว่าลูกได้รับอะไร กิจกรรมที่โรงเรียนเป็นอย่างไร ใส่ใจ พูดคุยกับลูก บอกข้อมูลลูกให้ครูรู้อย่างเป็นจริง หากพ่อแม่ไม่ให้ ครูก็ต้องกระตุ้น เพื่อให้เกิดการเป็น co-partner จริงๆ

 

ก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปได้แค่ไหน
 
ใช่ ความจริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายต้องทำงานแบบให้เกียรติซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาการสื่อสารระหว่าง 2 ฝ่ายยังมีน้อย จึงไม่รู้ความต้องการของกันและกัน จริงๆ แล้วต้องทำให้เป็นไปโดยอัตโนมัติเลย พ่อแม่ต้องการอะไรก็บอก สื่อสารกันให้รู้ ทางโรงเรียนจะปรับให้ถูกต้องได้ และเมื่อทางโรงเรียนต้องการความร่วมมือก็พร้อมร่วมมือ


* แต่บางครั้งพ่อแม่เขา


อีกอย่างถ้าคุณครูเชิญไปพบที่โรงเรียนก็อย่าคิดว่าลูกมีปัญหา แบบครูเชิญไปต่อว่า เพราะในคอนเซปต์การศึกษาแบบใหม่ ไม่ใช่แล้วค่ะ เขาเชิญไปรับทราบความก้าวหน้า ความดีที่ลูกทำต่างหาก

 

 


* เด็กระดับอนุบาลนี่ เรียนวิชาการได้มากน้อยแค่ไหนคะ
 
ที่เป็นอยู่เขาก็เรียนอยู่นะ อย่างเขาต่อจิ๊กซอว์ เขาก็ต้องคิดแล้วสังเกตภาพต้นแบบ อ้อ..ตุ๊กตาใส่เสื้อสีแดง ที่ขาดไปนี่ส่วนหัว ลำตัวไม่มี เขาต้องคิดแล้วว่าคนเราต้องประกอบด้วยหัว ลำตัว แขน ขา พอต่อหัว ลำตัวเสร็จ แขนขาอยู่ไหนล่ะ นี่ก็คือคิด นี่คือการเรียน นี่คือวิชาการ
แต่พ่อแม่ไทยหรือที่จริงก็พ่อแม่ทั่วโลกแหละมองว่าไม่ใช่ ไปมองว่ามันต้องเรียน ก-ฮ a-z ไปโน่น พ่อแม่บางคนตื่นเต้นที่ลูกอนุบาล 3 อ่านหนังสือได้คล่องแล้ว แต่หากคนไหนลูกยังอ่านไม่ได้ไม่ต้องตกใจค่ะ
 
จริงๆ วิชาการในความหมายของพ่อแม่ก็สอนได้นะในวัยนี้ เพียงแต่ไม่ใช่ให้ลูกท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง พ่อแม่ต้องบอก นี่ไงชื่อลูก "กัน" ขึ้นต้นด้วย ก ไก่ หน้าตาแบบนี้ ชื่อพ่อ "วีระ" ตัวนี้ไงลูก ถ้าเล่นกันแบบนี้ ดีนะ

 

 

* เด็กที่ถูกเร่งเรียนวิชาการมาก ที่อาจารย์เคยพบเป็นอย่างไรคะ


ไม่มั่นใจในตัวเอง ติดจะลนๆ ไม่รู้จักเล่น เล่นไม่เป็น พอเห็นของเล่นก็รื้อเลย มีไม้บล็อกมาแทนที่จะต่อให้เป็นเรื่องเป็นราว ความที่ไม่เคยเล่นก็จะต่อขึ้นไปเรื่อยๆ หรือ ไม่ก็เดินไปเดินมา ไม่รู้จะทำอะไร เล่นเสร็จก็เก็บของเล่นไม่เป็น ทักษะการฟังไม่ดี คือทำตามคำสั่งนะ แต่พอให้ทำโจทย์ที่ต้องคิด 2-3 ชั้น จะไม่ได้ และผลงานศิลปะออกมาจะ ไม่สร้างสรรค์เลย อีกอย่างเวลาแต่งนิทานจะพูดไม่ออก
 
เวลาครูให้ทำอะไร ก็จะนั่งกอดอก ตาแป๋ว ฟังว่าครูสั่งให้ทำอะไร ซึ่งมันผิดธรรมชาติของเด็ก ก็ไม่ได้เป็นทุกคนนะ แต่หากมาเข้าตอนอนุบาล 3 จะหนักหน่อย
 
ทีนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ได้รับรู้แล้วนะคะว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงของลูกควรจะเป็นอย่างไร ลองสำรวจดูสิคะลูกเรามีการเรียนรู้ที่ดีอย่างนี้หรือเปล่า ..ถ้าไม่ใช่ เป็นหน้าที่ของคุณ แล้วล่ะคะที่จะต้องจัดการดูแล..จุดเริ่มต้นนี้ให้เป็นรากฐานที่ดีพร้อมสำหรับชีวิตการเรียนรู้ในวันข้างหน้าของลูก

 

 

จาก: นิตยสาร Kids & School


ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-29 23:43:36 IP : 124.120.111.25


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.