ReadyPlanet.com


เทคนิควิธีรับมือกับเจ้าตัวเล็ก ... แสนหวง
avatar
Admin


ลูกจ๋า...แบ่ง บ้างสิ

โดย: คุณนายไฮโซ

 

พร้อมรับมือกับเจ้าตัวเล็กแสนหวง

 

ลูกสุดเลิฟของดิฉัน ทั้งของเล่น ขนมก็ไม่ยอมแบ่งใคร อะไรๆ ในบ้านก็ดูจะเป็นของหนูไปเสียโม๊ต ฮึ...อย่างนี้...คุณแม่อย่างเราต้องรีบเผด็จศึกเป็นการด่วน ! คิดดูนะคะคุณขา ขนาดดิฉันเป็นแม่ทูนหัวของเจ้าหล่อน แต่คุณลูกก็หวงของชนิดไม่ยอมให้แตะ หรือบางทีแค่

ดิฉันแอบหม่ำขนมของเขาไปนิดๆ หน่อยๆ แค่นั้น ก็ร้องโวยวายบ้านแทบแตกเชียว

ฮึ...ขอเมาท์ลูกหน่อยนะคะ เมาท์เสร็จก็ต้องรีบหาคำตอบว่า ทำไม้ทำไมลูกสาวถึงเป็นอย่างนี้ไปได้ !

"เด็กวัยประมาณ 2 ขวบจะมีพฤติกรรมหวงของซึ่งถือว่ามีพัฒนาการปกติ แต่ถ้าพ่อแม่รู้เท่าทัน และสนับสนุนให้ลูกรู้จักแบ่งปันเสียแล้ว เมื่อเขาอายุ 3 ขวบขึ้นไปเด็กจะค่อยๆเรียนรู้ที่จะให้ หรือแบ่งปันสิ่งที่เขามีกับคนอื่นๆ" ตำราต่างๆเขาเกริ่นไว้อย่างนั้น

แต่เอ...ดิฉันสงสัยค่ะว่า แล้วคุณลูกของดิฉันก็อายุปาเข้าไป 3 ขวบกว่าจะ 4 ขวบอยู่เนี่ย ทำไม๊..ทำไมยังหวงของอยู่ล่ะ ?

"เด็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เขาแบ่งปัน หรือไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก พัฒนาการเรื่องการแบ่งปันจะเกิดขึ้นล่าช้ากว่าเด็กที่บ้านเต็มไปด้วยมิตรจิตมิตรใจ และการแบ่งปันที่ดี " อ้าว...ตกลงว่านี่ดิฉันไม่ค่อยเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคุณลูกเลยล่ะสิเนี่ย

อือม์...แต่ไม่เป็นไรหรอกค่ะ ในเมื่อรู้อย่างนี้แล้วดิฉันจะได้เริ่มปรับปรุงตัวเอง โดยเริ่มต้นตามตัวอย่างตำราว่าไว้...

แม่ปูสอนลูกปู เดี๋ยวนี้ดิฉันพยายามบอกคุณลูกอยู่บ่อยๆ แล้วนะคะว่า "คุณลูกขา...ม่ามี้อนุญาตให้หนูกินขนมม่ามี้ได้น้า" "นี่ๆ คุณลูกจ๋า...ม่ามี้ซื้อยาสระผมมาใหม่ แต่ม่ามี้ให้หนูใช้ก่อนดีกว่านะ" ฯลฯ ประโยคเอื้ออาทรแบบนี้ช่วยให้คุณลูกรู้ว่า การแบ่งของให้คนอี่นนอกจากจะทำให้ตัวเขามีความสุขแล้ว คุณแม่อย่างดิฉันก็สุข..สุขขขข...สุขด้วยเหมือนกัน

มีโอกาสเป็นต้องชม ตั้งแต่คุณลูกอนุญาตให้ดิฉันแตะตุ๊กตาตัวโปรดของเขา หรือแค่ยื่นของเล่นชิ้นที่เขากำลังเล่นอยู่ให้ แค่นี้ดิฉันจะรีบเอ่ยปากชมให้คุณลูกรู้ว่า ดิฉันปลื้มแสนปลื้มกับความมีน้ำใจของเขา และเมื่อได้ยินคำชมอยู่บ่อยๆ เจ้าหญิงน้อยของดิฉันจะแปลงร่างจากเด็กสุดหวงเป็นเด็กหญิงใจกว้างไปในบัดดลค่ะ

ยืมหน่อยนะจ๊ะ เดี๋ยวเดียวก็คืน เราต้องพูดอย่างนี้ค่ะ แม้เจ้าตัวเล็กจะทำหน้างอ หรือกระฟัดกระเฟียดก็ตาม เพราะเรื่องหวงของในเด็กวัยนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาจริงๆ ดังนั้นเมื่อคิดจะปลูกฝังเขาเรื่องแบ่งปัน ต้องใจเย็นๆ และเข้าใจเขาหน่อย ในเมื่อเขายังหวงของอยู่ เราก็ต้องเคารพสิทธิของเขาตรงนี้ คือบอกคุณลูกว่าขอยืมแปล๊บหนึ่งน้า แล้วจะคืนให้จ้ะ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเขาจะเรียนรู้เองว่า ของใช้ หรือของเล่นของเขาสามารถแบ่งให้คนอื่นเล่นได้เหมือนกัน

เก็บของเล่นสุดหวงไว้ โดยเฉพาะเวลาเพื่อนเลิฟของลูกเสด็จมาเยือนบ้าน เพราะไม่อย่างนั้นคุณลูกอาจเกิดอาการวีน หน้าเบ้ หน้างอ หรือกรี๊ดเสียงลั่น

แต่ถ้าบังเอิญเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้น เราอย่าเพิ่งลมบ่จอยไปนะคะ เพราะอาการแบบนี้เป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ที่ยังคงตัดอกตัดใจไม่ได้กับของรักของหวง ฉะนั้นเราต้องเห็นใจ และเข้าใจเขา โดยบอกเขาไปว่า "ไม่เป็นไรหรอกคุณลูกจ๋า ถ้าของเล่นชิ้นนี้หนูไม่อยากแบ่งให้เพื่อนเล่น ก็ยังไม่ต้องแบ่งก็ได้ แต่เอ...แล้วมีของเล่นชิ้นไหนที่หนูพอจะแบ่งให้เพื่อนเล่นได้บ้างล่ะจ๊ะ "

ประโยคแค่นี้ ช่วยให้คุณลูกอบอุ่นใจ และไว้ใจเรามากขึ้นว่า อย่างน้อยเราเคารพสิทธิเขา และแคร์ความรู้สึกเขามากพอที่จะไม่ทำร้ายจิตใจเขาด้วยการให้คนอื่นเล่นในของเล่นที่เขาไม่อยากให้เล่น เอาไว้รอให้เขาพร้อมกว่านี้ โตกว่านี้เขาจะค่อยๆ แบ่งของเล่นแสนรักให้คนอื่นเล่นได้อย่างสบายๆค่ะ

เล่นด้วยกันดีกว่านะ เมื่อเชื้อเชิญคุณเพื่อนมาเยี่ยมบ้านบ่อยๆ ต่อไปคุณลูกจะเริ่มพัฒนาเล่นกับคนอื่นเป็น และถ้าคุณลูกเกิดไม่อยากแบ่งของเล่นขึ้นมา เขาจะถูกปฏิกิริยาต่อว่าจากเพื่อนๆ เองล่ะค่ะ หรือไม่เขาทั้งคู่อาจทะเลาะกันตามประสาเด็กๆ แต่เราอย่าเพิ่งเข้าไปห้ามนะคะ เพราะการมีปากเสียงกันอย่างนี้จะสอนคุณลูกเองว่า ถ้าเขามีอาการหวงของแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เขาจะได้รับการตอบสนองจากเพื่อนในรูปแบบใด และจะค่อยๆ เรียนรู้ปรับพฤติกรรมด้านนี้ของตัวเองในที่สุด เพราะลูกเองก็อยากได้การยอมรับจากเพื่อนเช่นกัน

พี่น้องรักกันๆ ส่วนใหญ่บ้านไหนมีพี่น้องมักจะทะเลาะกัน และแค้นเคืองกัน เรื่องจะแบ่งของเล่นให้กันเล่นนี่ยากอยู่สักหน่อย เพราะเด็กๆ มักจะจดจำว่า "คราวที่แล้วพี่ยังไม่แบ่งหนูเล่นเลย" หรือ "ทีน้องยังไม่ให้หนูกอดตุ๊กตาเขาเลย แล้วตอนนี้ทำไมหนูต้องแบ่งของเล่นของหนูให้น้องด้วย " ฯลฯ ถ้าประโยคเหล่านี้หลุดออกมา ดิฉันพอมีไอเดียแล้วว่า ก็แค่แนะๆ คุณลูกไปว่า "เอ...คราวก่อนเห็นพี่เขาแบ่งหนูเล่นแล้วนี่จ๊ะ หนูจำไม่ได้เหรอ" หรือ "แม่ดีใจนะ ที่ลูกๆ รักกัน และแบ่งของเล่นกันเล่น " ประโยคแค่นี้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องขึ้นมาได้มากโขเชียวนะคะ

กฎทองของครอบครัว แม้ของในบ้านจะมีเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ถ้าคุณลูกบอกว่า นี่ของเล่นของเขา เราก็ต้องเคารพความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของของเขานะคะ ส่วนของชิ้นอื่นๆ เราสามารถสอนคุณลูกด้วยว่า สิ่งนี้เป็นของคุณแม่ สิ่งนั้นเป็นของคุณพ่อ สิ่งโน้นเป็นของคุณพี่ เรียกว่าแยกแยะของๆ ใครของๆ มันให้ชัดเจนไปเลย เพื่อให้คุณลูกรู้ขอบเขตสิ่งของของเขา และเคารพสิ่งของของคนอื่นไปในตัวค่ะ

หลังจากอ่านตำราเล่มนี้จบ พร้อมกับปฏิบัติตามเป็นระยะๆ ดิฉันก็พบว่าคุณลูกสุดแสนขี้หวงเริ่มกลายเป็นเจ้าหญิงน้อยผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารีเป็นที่สุดค่ะ..อื้อ..น่ารักซะไม่มีเลย

เผอิญช่วงนี้มีฟรีไทม์เยอะ คุณนายไฮโซเลยมีเวลาแอบฟังคนรอบข้างเขาเม้าท์กันว่า ถ้าเกิดคุณลูกมีนิสัยขี้ห้วงขี้หวง พวกเขาจัดการกันอย่างไร...

"ดิฉันจะซื้อของขวัญชิ้นเล็กๆ มาไว้ในบ้าน อย่างเมื่อวานเพิ่งซื้อกำไรอันเล็กๆ มา แล้วบอกกับลูกว่า กำไลนี้เป็นของขวัญสำหรับเด็กดีนะ และถ้าคนไหนทำดีอย่างแบ่งของเล่นให้พี่เล่น หรือน้องเล่นจะได้กำไลอันนี้ แล้วเขาจะเริ่มแบ่งของเล่นให้คนอื่นเล่นเองแหละค่ะ" คุณสิริรัตน์ ธัญพิทยากุล-กทม.

" ต้องสอนค่ะ แม้เขาจะยังไม่ทำตามในตอนนี้ แต่ตัวเองจะคอยบอกว่าเล่นคนเดียวไม่สนุกนะ ถ้ามีเพื่อนเล่นด้วยถึงจะสนุก ตอนนี้ก็ดีขึ้นค่ะ แม้เขาจะยังไม่ทำตามที่เราบอกในตอนนี้ แต่เขาจะจำได้ในอนาคตว่าอะไรถูกอะไรผิด" คุณมนสิการ ราโอ - กทม.

" ลูกเป็นค่ะ ชอบหวงของ แล้วเวลาเราบอกว่าทำไมไม่แบ่งเพื่อนเล่นมั้ง เขาจะย้อนกลับมาว่า แล้วทีเพื่อนยังไม่แบ่งเขาเล่นเลย ตรงนี้เราจะต้องพูด ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าลูกลองแบ่งของเล่นให้เพื่อนเล่นก่อนสิจ๊ะคราวหน้าเขาจะแบ่งของเล่นให้หนูเล่นบ้างเองแหละ " คุณวนิดา แฉล้มวารี-กทม.

" เอาของเล่นอีกชิ้นให้ลูกเล่น เพื่อแลกกับของเล่นชิ้นที่เขาหวง แต่ถ้าเขายังไม่ยอมให้ ดิฉันจะพยายามอธิบายสรรพคุณถึงของเล่นชิ้นที่ดิฉันยื่นให้ใหม่ เผื่อเขาจะสนใจ และแบ่งของเล่นให้ดิฉันและพี่ๆ น้องๆ เขาเล่นบ้าง" คุณสุนีย์ สิริรัตนศักดิ์กุล-กทม.


จาก: นิตยสารรักลูก



ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-29 23:40:19 IP : 124.120.111.25


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2106808)
avatar
aero

monofilament human hair wigs remi lace wigs but are more natural looking wigs just another way that wigs short hair wigs removing hair extensions.

ผู้แสดงความคิดเห็น aero (adelia-at-aol-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-10 18:59:50 IP : 125.126.157.28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.