ReadyPlanet.com


ดนตรี...ดี..ดี๊..ดี..กับอนุบาล
avatar
Admin


ดนตรี..ดี..ดี๊..ดี..กับหนูอนุบาล

โดย กองบรรณาธิการนิตยสารรักลูก

ได้มีโอกาสแวะเวียนเข้าไปที่เว็บไซต์ของรักลูกค่ะ ไปสะดุดเอากับคำถามของคุณแม่ท่านหนึ่งที่โพสต์ไว้ว่า "อยากให้ลูกเรียนดนตรี ควรเริ่มเรียนตอนไหนดีคะ?" ตรงใจพอดีเลยค่ะเพราะกำลังจะนำข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีในเด็กวัยอนุบาลมาฝากกันอยู่แล้ว ก็ถือโอกาสหาคำตอบมาให้ด้วยเลยให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังสนใจอยากหากิจกรรมเสริมให้ลูกค่ะ

ดนตรี ดี กับพัฒนาการ

 
ดนตรีเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่ยุคใหม่ให้ความสนใจอย่างมาก บางคนอยากให้ลูกเป็นนักดนตรี อยากให้ลูกชอบดนตรี หรือให้เล่นดนตรีเพื่อเป็นกิจกรรมเสริมที่ช่วยให้ผ่อนคลายก็ว่ากันไปค่ะ แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามดนตรีมีประโยชน์ในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าลูกจะ ร้อง เล่น เต้นระบำ ก็เป็นผลดีกับพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยทั้งนั้น

จินตนาการกว้างไกล

เด็กที่ได้สัมผัสดนตรีจะเป็นคนที่ละเอียดอ่อน อ่อนโยน มีจินตนาการกว้างไกล เพราะเสียงดนตรี ช่วยให้เกิดจินตนาการได้โดยไม่จำกัด ยิ่งเป็นดนตรีบรรเลงด้วยแล้วจะช่วยให้เกิดจินตนาการได้ดีกว่าดนตรีที่มีคำร้องค่ะ อีกอย่างหนึ่งดนตรีมีผลต่อการพัฒนาอารมณ์ของเด็กด้วยนะคะ เด็กที่เล่นดนตรีจะใจเย็น ดนตรีจะช่วยให้เขามีสมาธิ มีความอดทนและช่วยฝึกความจำไปด้วยในตัว

คิดเก่งแบบมิติสัมพันธ์

การคิดเชิงมิติสัมพันธ์ เป็นยังไงน่ะเหรอ ก็คือการมองเห็นภาพความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนด้วยความคิด ความรู้สึก หรือใจของเรา แล้วก็ถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นได้รู้เป็นภาพ เป็นแผนผัง หรือเป็นคำอธิบาย พูดง่ายๆ ก็คือการคิดเป็นภาพแทนตัวอักษรน่ะค่ะ
ยังไม่เห็นภาพใช่มั้ยล่ะคะ งั้นจะยกตัวอย่างเพิ่มเติมนะคะ
อย่างเวลาเล่นหมากรุก เราจะต้องคิดวางแผนในใจ ว่าเราจะเอาชนะเกมนี้ได้อย่างไร ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เราเห็นภาพเกมการเดินหมากรุกในใจได้แจ่มแจ๋ว แล้วเมื่อเรานำแผนนั้นมาเล่นจริงๆ ก็ชนะจริงๆ ซะด้วย นั่นล่ะค่ะความสามารถด้านมิติสัมพันธ์
หรือการที่เราขับรถแล้วไม่หลงทาง แล้วยังจำได้ว่าถ้าเข้าซอยนั้นจะลัดออกซอยนี้ทะลุไปเส้นนั้นเส้นนี้ได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความสามารถของมิติสัมพันธ์เช่นกันค่ะ

ได้ยินชัดแจ๋ว

 
ดนตรีจะช่วยเรื่องการได้ยิน เพราะเวลาที่เด็กได้ยินเสียงดนตรีซึ่งมีลักษณะเสียงสูงๆ ต่ำๆ ก็จะรับความถี่ของคลื่นเสียงที่แตกต่างกันไปด้วย สมองซึ่งรับรู้เกี่ยวกับการได้ยินจึงถูกพัฒนาตาม การฟังดนตรีจึงเป็นการเตรียมการได้ยินในเด็กค่ะ และพ่อแม่คือบุคคลที่จะทำให้วงจรการพัฒนานี้สมบูรณ์ขึ้นได้โดยให้ลูกได้ฟังเสียง แต่ต้องเป็นเสียงที่มีคุณภาพหน่อยนะคะ ถ้าเสียงพูดก็พูดชัด เสียงเพลงก็เลือกเพลงที่ฟังสบายๆ คุณภาพเสียงดีๆ เพื่อจะได้ฝึกการออกเสียงตามและออกเสียงได้ถูกต้อง

การฟังจำเป็นอย่างมากนะคะ เพราะเป็นการเตรียมเรื่องภาษาและการสื่อสารในอนาคต ยิ่งเด็กวัย 3-6 ขวบเริ่มที่จะพูดได้เป็นประโยคแล้วด้วย ถ้าศักยภาพการได้ยินและฟังสูง เขาก็จะเก็บคำศัพท์จากเสียงที่จะเปล่งออกมา ทำให้เด็กได้เลียนเสียงพูด และพัฒนาการทางด้านการพูดจะดีขึ้นด้วย

เรียนดนตรี..เมื่อไหร่ดีล่ะ

ใครที่ชักจะเริ่มสนใจให้ลูกเรียนดนตรีก็สามารถให้ลูกเริ่มเล่นดนตรีได้เมื่ออายุ 3 ขวบขึ้นไปนะคะ แต่ขั้นแรกคุณต้องคอยสังเกตก่อนว่าลูกชอบเล่นดนตรีแบบไหน แต่ถ้ายังไม่ชัดว่าตัวน้อยของเราชอบอะไรแน่ ก็ลองเริ่มจากเครื่องดนตรีที่เป็นประเภทเครื่องเคาะ เพราะง่ายและไม่ซับซ้อน แต่จะให้ดีควรให้ลูกได้เลือกด้วยตัวเองดีกว่า และต้องไม่ลืมถามความสมัครใจด้วยนะคะว่าเขาอยากจะเรียนดนตรีหรือเปล่า ไม่ใช่เขาไม่อยากเรียนแต่คุณแม่อยากให้เรียนก็จับเขาไปเรียน แบบนี้ขอบอกเลยว่าอะไรที่ทำแล้วไม่มีความสุขลูกเราเขาทำได้ไม่นานหรอกค่ะ
และเมื่อลูกยินยอมพร้อมใจจะเรียนแล้วสิ่งที่สำคัญก็คือ เวลาที่เรียนไปแล้วต้องไม่ให้ลูกเกิดความเบื่อหน่าย ต้องให้เขารู้สึกรัก โดยเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่จะสอนเองที่บ้านก็ได้ หรือว่าถ้าไม่มั่นใจก็ส่งลูกเข้าโรงเรียนก็ได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องให้ลูกเกิดความรู้สึกสนุก มีความสุขกับการเรียนรู้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นแรงจูงใจ เป็นรางวัลสำหรับการเรียนรู้ ถ้าเด็กเกิดความซาบซึ้งใจ ประทับใจแล้วก็จะเดินต่อไปได้ดีเองล่ะค่ะ

ฟัง ร้อง เต้น ก็ช่วยพัฒนา

แต่ถ้าคุณดูๆ แล้ว ยังงั้ย..ยังไงเจ้าตัวเล็กของเราก็ยังไม่พร้อมจะเล่นดนตรี เราก็มีทางเลือกอย่างอื่นเกี่ยวกับดนตรีที่สามารถช่วยพัฒนาลูกของเราได้เช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วทักษะดนตรีมีด้วยกัน 6 อย่างแน่ะค่ะ คือ ฟัง , ร้อง , เคลื่อนไหวประกอบจังหวะ , เล่นดนตรี , การอ่านโน้ต การสื่อสารโน้ต และการเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งทั้ง 6 อย่างก็เป็นทักษะที่ซับซ้อนและต้องการความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การฟัง การร้อง การเต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถพัฒนาลูกเราได้แล้วค่ะ แต่ว่าการได้เล่นดนตรีจะมีข้อดีเพิ่มขึ้น เพราะเวลาคนเล่นดนตรีจะเกิดการทำงานของสมองหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นความจำ การอ่าน การมองเห็นตัวโน้ต การเคลื่อนไหว และถ้าจะเล่นดนตรีได้ดีขึ้นไปอีกก็ต้องมีเรื่องของอารมณ์ การจินตนาการไปตามเพลง ซึ่งส่วนนี้จะช่วยในเรื่องการฝึกวิธีคิดได้อีกด้วย
ทั้งหลายที่พูดมานี้จะเกิดจากการเล่นดนตรีทั้งนั้นเลยค่ะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทักษะอย่างอื่นที่ไม่ใช่การเล่นดนตรีจะไม่ช่วยก่อให้เกิดอะไรในสมองเด็กเลยนะคะ ได้พัฒนาเหมือนกัน แต่อาจจะไม่เท่ากับการเล่นดนตรีเท่านั้นเองค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสาร    



ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2007-11-22 19:24:34 IP : 124.120.109.101


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1967017)
avatar
อนาคตครู

เสียดายที่บ่งคนอื่นดูไม่ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น อนาคตครู วันที่ตอบ 2009-07-23 14:04:22 IP : 202.29.83.65



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.